ผ่าประเด็นร้อน
จะเรียกว่า "ถอยสุดซอย"ก็อาจพูดแบบนั้นได้ สำหรับกรณีที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยอมปรับวงเงินรับจำนำข้าวจากเดิมตันละ 15,000 บาท เหลือ ตัวเลขกลมๆแค่ 12,000 บาท สำหรับค่าความชื้นร้อยละ 15 โดยเริ่มดำเนินการในฤดูกาลปีข้าวนาปี 2556/57 นั่นคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
แต่น่าสังเกตก็คือคราวนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจำกัดโควตาไม่เกินรายละ 5 แสนบาท ความหมายก็คือ"ไม่ใช่เป็นการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด"เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี่แหละจะสร้างปัญหาให้กับทั้งรัฐบาลและชาวนา ถ้าเริ่มจากปัญหาชาวนาเป็นตัวตั้งก็ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายรับจำนำข้าวคราวนี้ หัวใจสำคัญก็คือเป็นการ "ลดผลประโยชน์ของชาวนาลง" นั่นคือจะทำให้รายได้ของชาวนาลดลงพรวดเดียวหลายพันบาท และคาดว่าจะมีปัญหาความวุ่นวายตามมาภายหลังแน่นอน
ก่อนอื่นต้องรับรู้ข้อเท็จจริงว่า ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆย่อมมีความชื้นสูงราวๆ 25-29 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อรัฐบาลกำหนดความชื้นไว้ที่ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ มันก็ทำให้ชาวนาไม่ได้เงินเต็มจำนวนตันละ 12,000 บาท ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งวงเงินที่ 15,000 บาทก็มีลักษณะเดียวกัน เพราะเมื่อหักค่าความชื้น ค่าปนเปื้อน ค่าหัวคิวสารพัดก็อาจได้เงินจริงๆไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทหรืออย่างมากก็เกินหมื่นมาไม่มาก นี่คือสภาพความเป็นจริงก่อนหน้านี้ แต่ที่ชาวนายังไม่โวยก็ยังพอกัดฟันยอมรับได้ คิดเสียว่าขาดทุนไม่มาก หรือกำไรนิดหน่อยยังพอทน นี่ยังไม่นับปัญหาเรื่องการ"จ่ายเงินล่าช้า"อีก แต่ถ้ามีการปรับลดราคารับจำนำลงมาเหลือแค่ตันละ 12,000 บาท เมื่อหักค่าความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ค่าสิ่งปลอมปน ค่าหัวคิว ลองคิดดูว่าจะมีเงินถึงชาวนาสักกี่พันบาท นั่นไม่ร้ายเท่ามีการจำกัดโควตาไม่เกินรายละ 5 แสนบาท รวมไปถึงจะมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว อายุการปลูกเพิ่มเติมเข้ามาอีก ถึงตอนนั้นก็จะเกิดความวุ่นวายอันเนื่องจากความไม่พอใจจากชาวนา เพราะการลดราคารับจำนำลงมามองแบบตรงไปตรงมาก็คือทำให้ชาวนาสูญเสียรายได้ลงไป ซึ่งคราวนี้จะเข้าข่ายขาดทุน อันเนื่องจากต้นทุนในการทำนายุคปัจจุบันมันเพิ่มสูงขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ฯลฯ
ล่าสุดจากการเปิดเผยของ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ก็เริ่มส่งสัญญาณมาแล้วทันควันว่าตัวเลขการรับจำนำข้าวในฤดูกาลใหม่ที่ลดลงมาดังกล่าว "ชาวนารับไม่ได้" เพราะขาดทุน เพราะในความเป็นจริงไม่มีชาวนารายย่อยคนไหนจำนำข้าวได้ในราคาตันละ 12,000 บาทเต็มวงเงินตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
ขณะเดียวกันจะมีปัญหาในเรื่องการประท้วงให้ขยายโควตาเพิ่มเติมจากชาวนารายใหญ่ที่มีอิทธิพลในพื้นที่ตามมาอีก เพราะถือว่าตัวเองสูญเสียรายได้ลง แต่นั่นไม่ร้ายเท่ากับจะมีปัญหากระทบกระทั่งกับชาวนาทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของ "ครอบครัวทักษิณ" ผ่านทางรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงวงเงินจำนำข้าวลงมาถือว่าเป็นการ "ผิดคำพูด" ไม่เป็นไปตามที่ได้หาเสียงโม้เอาไว้ตั้งแต่ต้น นอกเหนือไปจากการถูกร้องเรียนในเรื่องการทำผิดกฎหมายเรื่องไม่ทำปฏิบัติตามนโยบายเข้าข่ายการหลอกลวงอีก
อย่างไรก็ดีปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังเกิดขึ้นและบานปลายอยู่ในเวลานี้สาเหตุสำคัญก็คือรัฐบาลทนแบกภาระการขาดทุนมหาศาลต่อไปไม่ไหว และไม่สามารถปกปิดตัวเลขการขาดทุนได้อีกต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ตัวเลขการขาดทุนที่กระทรวงการคลังโดยฝ่ายตรวจสอบการปิดบัญชีสินค้าเกษตรสรุปตัวเลขเอาไว้ที่ 2.6 แสนล้านบาทนั้น แม้จะมีการปฏิเสธคอเป็นเอ็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ว่าไม่จริง แต่ก็ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลข และเมื่อมีการแต่งตั้ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯวราเทพ รัตนากร ที่อ้างว่าเป็นคนกลางมารวบรวมตัวเลขแล้วแถลงใหม่ก็กลายเป็นว่าเป็นแค่เทคนิกคำพูดให้ดูดี แต่ตัวเลขการขาดทุนก็ยังมหาศาลเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าเดิมเสียซ้ำ เพราะบอกว่าตัวเลขขาดทุนแค่ 1.36 แสนล้านบาท แต่เป็นแค่ฤดูกาลเดียวคือ 54/55 ยังไม่ได้รวมฤดูกาล 55/56 ในปัจจุบันที่ยัฃปิดบัญชีไม่ลง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเคาะกันจริงๆก็น่าจะมากกว่า 2.6 แสนล้านบาทด้วยซ้ำไป
ด้วยตัวเลขขาดทุนมหาศาลและบานปลายออกไปเรื่อยๆ และหากยังดึงดันต่อไปก็จะยิ่งหายนะเป็นลูกโซ่เห็นได้ชัดที่สุดก็อาจจะส่งผลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(กธส.)ที่รับหน้าเสื่อจ่ายเงินให้ชาวนาเริ่มออกอาการขาดสภาพคล่อง และอาจพังคามือก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติอีก หากวถาบันจัดอันดับอย่าง มูดี้ส์ อินเวสเม้นต์ ปรับลดเครดิตของไทยลงมาจากโครงการดังกล่าวในชวงปลายปีนี้ หลังจากได้เคยส่งสัญญาณให้เห็นมาแล้วก่อนหน้านี้
ดังนั้นถ้าให้สรุปอีกทีว่าสาเหตุที่ต้องลดราคาจำนำข้าวลงมา และไม่รับทุกเมล็ดดังกล่าวก็เป็นเพราะรัฐบาลถังแตก ถึงทางตันแล้ว แต่ก็นั่นแหละเมื่อเปลี่ยนแปลงแบบนี้มันก็ย่อมมีปัญหากับชาวนา ที่ทำให้ขาดรายได้ลงจำนวนมาก ทำให้เกิดเสียงโวยวายตามมาว่า "ไม่ทำตามคำพูด" กระทบกับฐานเสียงหลัก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ"ของแพง"กับคนในเมืองแล้ว คราวนี้เริ่มขยายออกต่างจังหวัด ปะทะกับชาวนา เตรียมรับมือม็อบให้ดีแล้วกันว่าจะยกขบวนมาสมทบวันไหน !!