ผบ.ทบ.ลงใต้ตามสั่ง “ปู” เผย ผบ.ตร.แจงจับมือบึ้มหน้ารามฯ ไม่เกี่ยวไฟใต้ ยันไม่มีชื่อในบัญชีดำ รับไม่อยากโยงมากหวั่นวุ่น แนะอย่าถามชี้ช่องโจร รอดูรอมฎอนบีอาร์เอ็นลดเหตุได้หรือไม่ ไล่เลขาฯ สมช.ไปแจงปิดล้อมตามกฎหมาย ด้าน “ยุทธศักดิ์” ระบุนายกฯ เรียกคุยพรุ่งนี้
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) เมื่อเวลา 08.00. น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวก่อนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ได้สั่งการให้ตน และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. รวมถึง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.จชต.) ให้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในกลุ่มงานต่างๆ ที่ได้สั่งการไป และปัญหาติดขัดในการดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องระเบียบ งบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า สิ่งใดที่สั่งการให้มีความรวดเร็วขึ้นท่านจะดำเนินการให้ กลุ่มงานที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รองลงมาคืองานด้านการพัฒนา แต่จะไปเน้นเพิ่มในเรื่องการสร้างความเข้าใจ โดยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าประสานกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาหรือข้อสงสัยที่ประชาชนยังติดใจอยู่ ซึ่งทุกภาคส่วนพยายามแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด
เมื่อถามถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดหน้าซอยรามคำแหง 43/1 ได้ในพื้นที่ จ.นราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ใครเป็นคนทำ ต้องดูจากวัตถุพยาน และกล้องซีซีทีวีเบื้องต้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแจ้งว่า ไม่มีความเกี่ยวพันกับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ อยากให้แยกกันให้ออกว่า เรื่องของคนทำว่าเป็นคนภาคไหน กับการเกี่ยวพันกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งคนที่จะก่อเหตุเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมาจากชายแดนภาคใต้ มาจากจังหวัดอื่นก็สามารถก่อเหตุได้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนต่อไป ตนไม่สามารถไปพูดล่วงหน้าได้ ส่วนจากการตรวจสอบของทหารก็ไม่ปรากฏชื่อว่าคนเหล่านี้มีชื่ออยู่ในทำเนียบผู้ก่อเหตุ
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้ แต่มาก่อเหตุในกรุงเทพฯ ครั้งแรก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังปรึกษากับหน่วยข่าวอยู่ ซึ่งตนไม่อยากให้ไประบุถึงผู้ก่อเหตุในภาคใต้มากนัก ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าตรงไหนที่ยังไม่มีเหตุรุนแรงก็อย่าเพิ่งไปพูดถึง อย่าไปดึงโน่นดึงนี่เข้ามาวุ่นวาย ทุกวันนี้ยังวุ่นวายไม่พออีกหรืออย่างไร และไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคิดหรือตอบแทนเขาว่า มีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในภาคใต้หรือไม่ รอให้เขาตอบมาก่อน และให้ทางตำรวจเป็นผู้วิเคราะห์และสอบสวน ทั้งนี้ในการป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่เขตเมืองนั้น เรายังไม่มีความพร้อม เพราะประชาชนไม่ช่วยกันเฝ้าระวัง และยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เชื่อฟังการแนะนำของเจ้าหน้าที่ ส่วนทหารและตำรวจทำหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่ประชาชนอยู่ในทุกพื้นที่และมีจำนวนมากกว่าจึงควรแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลในการเฝ้าระวัง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ในโลก ต่างประเทศก็เกิดเหตุกลางเมือง ในประเทศไทยเองต้องระมัดระวัง อย่าไปถามให้เป็นการชี้ช่องให้โจร
เมื่อถามถึงกรณีที่คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพขอให้บีอาร์เอ็นหยุดก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนแต่เหตุการณ์ยังมีอยู่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถือเป็นข้อเสนอที่ต่างฝ่ายต่างรับกันไปปฎิบัติ แต่การพูดคุยยังไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น และช่วงเดือนรอมฎอนยังไม่มาถึง ซึ่งเมื่อถึงเวลา เราต้องดูว่าเขาสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็จบ แล้วค่อยไปหารือกันครั้งต่อไป ถือเป็นการทดลอง สิ่งสำคัญ คือ เราและประชาชนต้องเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังตัวเอง วันนี้ยังมีการระเบิด ลอบยิงอยู่ทุกวัน เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตอนกลางคืน ตนเคยเตือนแล้วว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรสัญจรไปมาช่วงกลางคืนเพราะสถานการณ์ไม่ปกติ
“การพูดคุยเหมือนกับการพูดคุยกับบุคคลทั่วๆไป ต่างฝ่ายต่างยื่นข้อเสนอมาว่าจะสามารถทำอะไรให้กันได้บ้าง ถ้าจะเป็นเพื่อนกันก็ต้องยื่นข้อเสนอกันเข้ามา แต่ในระหว่างนั้นการบังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการต่อไป การพูดคุยเป็นอีกเรื่องหนึ่งว่า จะเอาอะไรมาทำกัน จะมีผลก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายนำตรงนี้ไปให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจได้ก็จะกำหนดว่าจะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่เมื่อไหร่ รวมถึงต้องมีมาตรการควบคุมว่าถ้าทำได้ก็ต้องทำกันต่อ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องหยุด และถอยมาเริ่มต้นกันใหม่ เราต้องค่อยๆ เดินไปด้วยความมั่นใจอย่าผลีผลาม ไม่มีใครที่จะตกลงกันในเวลาอันสั้น คนเรามีปัญหากันจะพูดคุยกันแค่ 1-2 ครั้งจะยุตินั้น คงเป็นไปไม่ได้ ผมเห็นว่าถามเรื่องนี้กันทุกวัน” ผบ.ทบ.กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ลดการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อรองรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นว่า ต้องดูเป็นกรณี ซึ่งทาง พล.ท.ภราดรมีความรู้และความเข้าใจ ซึ่งท่านไม่อยากให้เสียบรรยากาศในการพูดคุย ซึ่งการปิดล้อมตรวจค้นในทุกวันนี้ เราทำตามหมาย ป.วิอาญา ซึ่งทางเลขาฯ สมช.ต้องไปชี้แจงกับฝ่ายบีอาร์เอ็น เช่น เราจะไม่ไปปิดล้อมตรวจค้นผู้ที่ไม่มีหมายจับ เพื่อลดปัญหา ทั้งนี้ การปิดล้อมตรวจค้นมีหลายวิธี เช่นการปิดล้อมตรวจค้นผู้ต้องสงสัย การตรวจค้นสถานที่ ซึ่งสองอย่างนี้อาจจะลดลงได้
ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่รับปากจะลดเหตุความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนว่า สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นยังมีบางกลุ่มก่อเหตุอยู่ ซึ่งในช่วงเดือนรอมฎอนที่จะเริ่มช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องวิเคราะห์ดูสถานการณ์ในช่วงนั้น โดยสถานการณ์รุนแรงควรจะต้องลดลง ตอนนี้แนวคิดของนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นด้วยที่จะให้ลดเหตุความรุนแรง ขณะที่กลุ่มของ นายสะแปอิง มีความคิดเห็นออกเป็นกลางๆ และจับตาดูว่าจะเอาอย่างไร หากช่วงรอมฎอน สถานการณ์ผ่านไปเรียบร้อยก็มีแนวโน้มในทางที่ดีที่จะพูดจากันในอนาคต ส่วนความต้องการ5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ทาง สมช.ได้ให้ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นไปเขียนรายละเอียดในแต่ละหัวข้อมาให้กับไทย เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ก่อนที่จะมีการพูดคุยในรอบที่ 4
“สมช.ได้ลงไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ โดยมีบางกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่นกลุ่มเยาวชนไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเห็นด้วยเพราะต้องการมีสิทธิเลือกการดำเนินชีวิตของตัวเอง จะเห็นได้ว่าแนวความคิดยังหลากหลายและยังไม่ตกผลึก รวมถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย ดังนั้นการพูดคุยคงดำเนินการต่อไป ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญปัญหาภาคใต้ และพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และรับฟังข้อเสนอแนะของทุกหน่วยงานทำให้ทาง ศอ.บต.และ กอ.รมน. ซึ่งในวันที่ 20 มิ.ย. 2556 เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อกำชับการทำงานในพื้นที่ภาคใต้” พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าว