โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจากสถาบัน IMD ของสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2556 อยู่ลำดับที่ 27 ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 3 อันดับ
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยประจำปี 2556 โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้รายงานสรุปและวิเคราะห์ผลการจัดอันดับดังกล่าว ซึ่งทำการจัดอันดับโดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้สรุปว่าผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2556 สูงขึ้นจากเดิม 3 อันดับ
นายธีรัตถ์ให้รายละเอียดว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันพันธมิตรร่วมกับ World Competitiveness Center แห่งสถาบัน IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในโครงการ World Competitiveness Enhancement Program ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิและสังคมแห่งชาติ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยสถาบัน IMD ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยประจำปี2556 (World Competitiveness Rankings 2013) จัดอันดับประเทศต่างๆ รวม 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปีนี้สหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 60 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น 3 อันดับ (ปี 2555 อยู่ในอันดับที่ 30)
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้นใน 4 กลุ่มตัวชี้วัด ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการทำธุรกิจในสายตาของนักลงทุน ประกอบด้วย ความมีพลวัตของเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดใจให้มาลงทุน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทัศนคติที่ดีและเปิดกว้างของคนไทย ต้นทุนที่แข่งขันได้ มีกำลังแรงงานที่มีความชำนาญ การให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา กฎหมายที่มีประสิทธิผล ความสามารถของภาครัฐและระบบภาษีที่เอื้อต่อการลงทุนอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียซึ่งมีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศไทย ได้แก่ มาเลเซีย และสิงคโปร์ พบว่าสิงคโปร์มีจุดเด่นด้านความสามารถของภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิผล ความแน่นอนและคาดเดาได้ด้านนโยบาย และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ส่วนมาเลเซียมีความคล้ายคลึงกับไทยในประเด็นต้นทุนที่แข่งขันได้ พลวัตทางเศรษฐกิจ กำลังแรงงานที่ชำนาญงาน และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ส่วนที่แตกต่างกับประเทศไทยคือความแน่นอนและคาดเดาได้ด้านนโยบาย ดังนั้น IMD จึงได้ทำการจัดอันดับประเทศไทยในกลุ่มอาเซียนจำนวน 5 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 โดยอยู่ในอันดับที่สูงกว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่อยู่ในอันดับที่รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
นายธีรัตถ์กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ Thailand Management Association (TMA)ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้รับการพัฒนาไปได้อย่างแท้จริง คือ การผลักดันการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม การลงทุน การส่งออก โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิผลและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อนำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป