xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.งบฯ 57 หนุน สธ.พัฒนาระบบสุขภาพรับ AEC ฝ่ายค้านติงงบกระจุกตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.งบฯ 57 ถกงบฯ สธ.1 แสน 6 พัน 4 ร้อยกว่าล้าน เพื่อสนองนโยบายสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วม ดันเป็นองค์กรหลักพัฒนาสุขภาพรับAEC ฝั่งฝ่ายค้าน ติงงบสำนักปลัด สธ.8 หมื่นล้านสูงเกิน จี้กระจายงบฯ แบบ ก.อื่น ขอปรับลดร้อยละ 10 เว้นงบบุคลากร รับห่วงปัญหายาเสพติด ประกันสุขภาพไม่ถึง ปชช. ชื่นชมบุคลากรแพทย์ชายแดนใต้ ปลัด สธ.ชี้ตั้ง 12 เขตเครือข่ายดูแล ปชช.ทั่วถึง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพ รพ. เพิ่มบุคลากรแพทย์และขึ้นค่าตอบแทน

วันนี้ (12 มิ.ย.) การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี งบประมาณ 2557 มีนายวิทยา บุรณศิริ รองประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยพิจารณางบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 106,436,266,100 (1 แสน 6 พัน 4 ร้อยกว่าล้านบาท) เพื่อใช้ในการพัฒนาและบริหารนโยบายยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ เสริมสร้างระบบบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล และจัดระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน เสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบสุขภาพ รวมทั้งวิจัยและพัฒนาจัดการความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้กระทรวงสาธารณะสุขเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบสุขภาพ ให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีมาตรฐานตามหลักสากล เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

โดย กมธ.สัดส่วนฝ่ายค้าน อาทิ นายวิทูรย์ นามบุตร กมธ. ตั้งข้อสังเกตุถึงการจัดสรรงบในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีถึง 8 หมื่น 7 พันกว่าล้านบาท ซึ่งมากเกินความจำเป็น และเป็นการจัดงบประมาณแบบกระจุกตัวแตกต่างจากกระทรวงอื่น จึงอยากให้กระจายงบประมาณไปสู่ทุกหน่วยงานของกระทรวงอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเสนอขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายการดำเนินงานของกระทรวงลงร้อยละ 10 ยกเว้นงบประมาณในส่วนของบุคลากร พร้อมแสดงความเป็นห่วงการแก้ไขปัญหายาเสพติด และระบบหลักประกันสุขภาพที่ยังไม่เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จึงอยากมีการปรับปรุงคุณภาพในการบริหารจัดการโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ กมธ.ชื่นชมการทำหน้าที่ของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงภาพรวมการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุข ว่าให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่งถึง โดยจัดตั้ง 12 เขต เครือข่ายในการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน นอกจากนี้ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการวางแนวทางและมาตรการเพิ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 2 หมื่นคนต่อปี เนื่องจากสถิติ พบว่ามีแพทย์ลาออกจากตำแหน่งทุกปี โดยสาเหตุมาจาการลาเพื่อไปศึกษาต่อ รวมถึงพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน






กำลังโหลดความคิดเห็น