xs
xsm
sm
md
lg

“อภิชาต” พอใจผลงาน กกต.โอดเป็นนายทะเบียนพรรคเสี่ยงตาย ยันทำหน้าที่เป็นกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
กกต.แถลงข่าวในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 15 ปี ชี้พอใจผลงานตลอด 6 ปี 9 เดือน โดยเฉพาะผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้น ประธาน กกต.เผยอำนาจนายทะเบียนพรรคการเมืองเปลี่ยนไปหลัง รธน.ปี 50 ประกาศใช้ โอดลำบาก และเสี่ยงอันตราย เคยถูกกดดัน ถูกปาระเบิดบ้านพัก ยืนยันแม้ไม่ได้โปรดเกล้าฯ จะทำงานด้วยความเป็นกลาง

วันนี้ (10 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ได้แถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี วันสถาปนาสำนักงาน กกต. โดยพอใจผลงานตลอด 6 ปี 9 เดือน ที่ กกต.ชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่มา โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 75.03 สูงที่สุดนับแต่มีการเลือกตั้งมา ส่วนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ในปี 2552 มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากถึงร้อยละ 77 เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งในภาพรวมที่สูงที่สุดที่เคยมีมา และในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา มีชาวกรุงเทพมหานครออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 63.98 นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องร้องเรียน เมื่อ กกต.ชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ สามารถวินิจฉัยคดีและมีมติในสำนวนต่างๆ ที่คงค้างอยู่โดยเมื่อปี 2547 มีสำนวนค้างอยู่ 6,000 กว่าเรื่อง แต่ในปี 2552 สำนวนลดลงเหลือเพียง 3,800 เรื่อง และตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2556 สำนวน เรื่องร้องคัดค้านที่เข้ามาสู่ กกต.มีปริมาณสำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง หากคิดเฉลี่ยในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 76 โดยในปี 2556 คือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 55 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 56 มีสำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 สำนวน พิจารณาแล้วเสร็จ 5 สำนวน และมีสำนวนร้องคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่น 2,321 สำนวน พิจารณาแล้วเสร็จ 1,928 สำนวน โดยเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 78 สำนวน และเลือกตั้งใหม่ 21 สำนวน

ส่วนการฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่ายการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น สำนักงานได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อปี 43 มูลละเมิดตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์กับผู้กระทำผิด รวม 4 คดี เป็นเงินค่าเสียหายทั้งหมด 31,138,588 ล้านบาท และได้รับการชำระแล้ว 8,919,227 ล้านบาท ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 51 มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1 คดี เป็นเงินจำนวน 29,300,056 ล้านบาท ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2550 กกต.ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลละเมิดตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับผู้กระทำผิด รวม 6 คดี เป็นเงินค่าเสียหายทั้งหมด 83,536,946 ล้านบาท และปี 54 มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1 คดี เป็นเงินจำนวน 9,295,745 บาท

สำหรับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือ กกต.มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่นั้น กกต.ชุดนี้ได้มีมติให้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจำนวนรวมทั้งหมด 6 คดี รวมเงินค่าเสียหายทั้งหมดที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 39,468,017.08 บาท สำหรับในส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.มีมติให้ดำเนินคดี 610 คดี เป็นจำนวนเงินค่าเสียหาย 147,754,251.56 บาท โดยผู้สมัครยินยอมชดใช้แล้ว 399 คดี เป็นเงิน 20,813,194.68 บาท

ทั้งนี้ นายอภิชาต ยังกล่าวด้วยว่า การที่ตนเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองอีกตำแหน่ง ถือเป็นการทำตามหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 สามารถพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้เลย โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ท่านอื่น แต่ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองเปลี่ยนไป หากต้องมีการยุบพรรคการเมือง ต้องทำไปด้วยความเห็นชอบของ กกต.ท่านอื่น ซึ่งตนยืนยันว่าจะทำตามกฎหมาย เช่น กรณีที่มีการยื่นร้องเรียนให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้นถูกกดดัน ทั้งถูกปาระเบิดบ้านพัก แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการทำหน้าที่เป็นประธาน กกต.ไม่ได้ลำบากเท่ากับเป็นนายทะเบียนพรรค ซึ่งมีความยากลำบากและเสี่ยงอันตราย แต่ก็ยังยืนยันที่จะทำงานอย่างโปร่งใสที่สุด สำนวนต่างๆ ที่เข้ามาในการพิจารณา ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ยืนยันว่าทุกอย่างจะทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและเที่ยงตรงที่สุด การเข้ามาทำหน้านี้ของ กกต.ชุดนี้ ผ่านการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เนื่องจากเกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่ก็ยืนยันว่าการทำงานที่ผ่านมาเป็นการทำงานด้วยความเป็นกลางและเที่ยงตรงที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น