ผ่าประเด็นร้อน
เป็นประเด็นถกเถียงงัดข้อกันรุนแรงในกระทรวงสาธารณสุข สำหรับนโยบาย P4P Pay For Performance การจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน ที่เริ่มใช้ไปแล้วระยะหนึ่ง แต่หลายโรงพยาบาลยังไม่ดำเนินการ ซ้ำยังออกมาต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข บอกว่าประเทศไทยต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะภาพรวมงบประมาณด้านสุขภาพ ใช้ไปราวร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด หากปล่อยให้งบก้อนนี้โตไปเรื่อยๆ ไม่เข้าไปควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ก็จะไปกินงบประมาณลงทุนของประเทศ
เรียกว่า งบบางอย่างปล่อยปละละเลยมานานไม่มีการบริหารจัดการ เป็นงบจ่ายประจำ คนรับก็รับไปปกติเหมือนเงินเดือน แต่ในแง่ของประสิทธิภาพ เช้าชามเย็นชาม เหมือนระบบข้าราชการห่วยๆ !!
“P4P”มีแนวคิดทำสิ่งต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพ และลดภาระงบประมาณ เช่น การร่วมกันบริหารเป็นกลุ่มใหญ่ การแบ่งทรัพยากรกันใช้ โรงพยาบาลเล็กร่วมกันใช้ห้องผ่าตัด หรือมีการร่วมกันซื้อยา เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง ในด้านกำลังคน คือการปรับปรุงให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเพิ่มคน
อย่างที่บอกตอนนี้น่าเป็นห่วงเรื่องงบประมาณ การสักแต่เพิ่มคนโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็เกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน งานหนักหน่อยก็เอะอะ โวยวายขอเพิ่มคน เปลืองภาษีชาติ !!
หมอประดิษฐ จี้จุดไปตรงๆ ว่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ผ่านมายังไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าให้ไปแล้ว รัฐบาลต้องได้ผลลัพธ์อะไร จึงได้ทำ “P4P” ขึ้นมา โดยมุ่งหวังว่าสิ่งที่ประชาชนจะได้ขึ้นมาคือ 1. เชิงปริมาณ กระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น 2. เชิงคุณภาพ โดยมีตัวชี้วัด ในเชิงของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น รวมไปถึงตัวชี้วัดคุณภาพด้านการรักษาพยาบาล เช่น การลดระยะรอคิว ผ่าตัดแล้วไม่มีการติดเชื้อ รักษาคนไข้หายเร็วขึ้น คุณภาพการรักษาและการบริการด้านอื่นก็ต้องดีขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์มากขึ้น
สุดท้ายจะได้ประโยชน์คือลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของภาครัฐกับเอกชน ได้เงินเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน คุณภาพงานที่ชัดเจน ตอบคำถามรัฐบาลและประชาชนได้ สำคัญที่สุด หัวใจของ P4P คือ มีการวัดผล ซึ่งจะช่วยในเชิงบริหาร โดยผู้อำนวยการหรือหัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร
การทำ P4Pจะมีผลพลอยได้ตามมาอีกมาก และถ้าเราไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว
ฟังหลักการเหตุผลโดยรวมทั้งหมดแล้ว เห็นควรเปลี่ยนแปลงอะไรๆให้มันดีขึ้นมา ไม่ใช่เอางบประมาณไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนอย่างเคยมา มีการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ด้วยการประเมินผล ใครทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ก็สมเหตุสมผลดี
การจ่ายแบบเหมาจ่ายนั้น จะได้รับการตอบแทนคงที่ คงที่ทำงานน้อยๆ ก็ได้รับผลตอบแทนเท่ากับคนที่ทำงานหนัก ถามหน่อยว่าจะทำงานหนักไปหาพระแสงอะไร คิดกันแบบนี้การบริหารทำงานมันเลยปวกเปียก หนีไปรับจ็อบอื่นๆ หารายได้เพิ่ม ส่วนตรงนี้ยังได้เท่าเดิม มันก็เลยเป็นปัญหาใหญ่ เปิดคลินิก หาลำไพ่พิเศษ ส่วนงานทางการไร้ประสิทธิภาพ อืดอาดเป็นเรือเกลือ คนไข้รอคิวเป็นวัน ข้ามวัน
เมื่อลองใช้ระบบP4Pก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในบางแห่งที่ชัดเจน ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเสียเวลารอนานเหมือนอย่างเคย อีกทั้งประสิทธิภาพโดยรวมก็ดีขึ้น ไม่ใช่ในแง่ของการดูแลรักษาอย่างเดียว การบริหารงานองค์กร วิชาชีพที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนล้วนได้ประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ และยังจะเป็นการดึงคนให้อยู่ในระบบมากขึ้น ไม่หนีหายไปไหน เนื่องจากมีค่าตอบแทนเพิ่มเติม
กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านตอนนี้ ก็คือ “กลุ่มแพทย์ชนบท”ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่แน่ใจว่าเป็นการคัดค้านด้วยเหตุผลอย่างบริสุทธิ์ใจ หรือมีอะไรเคลือบแฝง หรือว่าปกติไม่ค่อยทำงาน หนีไปรับจ็อบ รับเงินเหมือนรับเงินเดือน
เจอมาตรการนี้เข้าไปก็เดือดร้อน นั่งไม่ติด เพราะถ้าไม่มีผลงานก็ไม่สามารถเอาไปชี้วัดแปรเปลี่ยนเป็นเงินได้ !!
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงคุณหมอ เหมือนแดนสนธยา ไม่มีใครสามารถเข้าไปค้นลึกตรวจสอบ หรือปรับเปลี่ยนอะไรได้มาก เหมือนกระทรวงมาเฟียที่นั่งทับกองผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอยู่ โดยที่ไม่มีใครสามารถไปยกก้นออกได้ง่ายๆ
การรวมตัวของกลุ่มหมอชนบทออกมาเคลื่อนไหว กดดันรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว และยกระดับไปถึงขั้นขับไล่ นพ.ประดิษฐ รมต.เจ้ากระทรวง สะท้อนชัดถึงบุคลิกตัวตนของนักเลงโต มาเฟียเสื้อกาวน์ หรือว่าหมอประดิษฐ์ ไปขวางทางผลประโยชน์อะไรหรือไม่ จึงออกมาอาละวาดหนักข้อกันขนาดนี้
ทำไมกลุ่มแพทย์พวกนี้ตั้งแง่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามหลักการที่ทุกคนมองแล้วว่า ใช่ ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็อด การได้คนที่เป็นนายแพทย์เข้ามาบริหารกิจการงานกระทรวงน่าจะทำให้วงการแพทย์เดินหน้าไปได้ด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น
เมื่อในแง่หลักการทุกคนโอเค แล้วมันไปติดกระบวนการอะไรอยู่ จึงตั้งข้อสังเกตกันยกใหญ่ว่าเป็นรายการเหยียบตาปลา ขัดผลประโยชน์กันมากกว่า วันนี้กระแสสังคมบางส่วนยังมีความเข้าใจคลุมเครือ ภาพลักษณ์ของนายแพทย์ที่ดูสูงศักดิ์มีความรู้ เมื่อออกเคลื่อนไหวก็ย่อมทำให้สังคมคล้อยตามได้มาก จึงเป็นปัญหาหนักอกของ นพ.ประดิษฐ ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงระบบ
ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่เป็นนักการเมืองอาชีพเข้ามาบริหารกระทรวงสาธารณสุข กลับไม่ค่อยมีปัญหาใหญ่โตอะไร บริหารไปได้แบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่นก็ใช่ อาจเป็นเพราะบริหารการเมืองเก่ง ไม่อยากขัดใจกับใคร รู้ทิศทางลมดี อะไรยอมได้ก็ยอม ขัดแย้งกับพวกหมอๆ เรื่องจะยาว ปัญหาไม่จบ อีกทั้ง ต้นทุนหน้าตักของตัวเองเทียบกับพวกเหล่าหมอไม่ได้ งัดข้อไปก็มีแต่เจ็บตัวมากกับเจ็บตัวน้อย จึงอลุ่มอล่วยอี๋อ๋อกันไร้ปัญหา
เช่นเดียวกับ วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีคนที่แล้ว ก็บริหารไปได้เรื่อย แม้ไม่มีความรู้ทางด้านสาธารณสุขมากนัก แต่ ก็ไม่มีปรากฏการณ์รวมตัวกันออกมาขับไล่แต่อย่างใด เพราะนักการเมืองเหล่านี้ได้เข้ามารับตำแหน่ง ก็ประคองตัวเองแลกผลประโยชน์ ไม่อยากไปสู้รบปรบมือกับใคร
กระทรวงที่ต้องบริหารงานเกี่ยวกับหมอ คนนินทากันให้แซ่ดว่าเป็นพวกมาเฟียเสื้อกาวน์ ยิ่งไต่ระดับเป็นหัวแถวของกระทรวงแล้ว ยิ่งมีแนวคิดแข็งตัว อีโก้สูง ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ จึงเป็นเรื่องที่กลุ่มแพทย์ชนบท ควรต้องทบทวนบทบาทตนเองบ้าง อะไรที่เลวก็ต้องกระโดดเข้ามาสู้ แต่เรื่องไหนดี ก็ไม่ต้องฝืนค้านต่อต้านจนเสียรางวัด อย่าทำตัวให้มัวหมอง จนชาวบ้านนินทาไปทั่วว่า “ตอนนี้...หมอมากจริงหนา ?! ”
นโยบายที่ดีควรเดินหน้าทำต่อไป แต่ขอให้มันเป็นการกระทำที่หวังผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อการเมือง หรือธุรกิจของตัวเอง แบบนั้นประชาชนจะร่วมอนุโมทนา สาธุ !!