“อภิสิทธิ์” เปิดพรรคแถลงตีแสกหน้ารัฐบาล หอบตัวเลขราชการ ยันจำนำข้าวเจ๊ง 2.6 แสนล้านจริง ระบุแค่ปีเดียวขาดทุนเพิ่มกว่า 1.8 แสนบาท ถึงมือเกษตรกรแค่ 8 หมื่นกว่าล้าน ที่เหลือโกงกับพ่อค้า เทียบประกันรายได้ใช้มากกว่าถึง 3 เท่า แถมทำให้ชาวนารายได้ลด หนี้เพิ่ม จากตัวเลขที่แบงก์ชาติเปิดออกมา ซัดทำลายอนาคตข้าวไทย เตือนอย่าคิดปั้นตัวเลขใหม่ ทำเสียหายเพิ่ม บี้ “ยิ่งลักษณ์” ทบทวนโครงการ ดักคอ “เต้น” ของบฯ 9 ล้าน ปลุกระดมชาวนา ชนคนที่ค้านจำนำข้าว เพิ่มความแตกแยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีการขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาท ตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังออกมาระบุ แต่ไม่สามารถให้ตัวเลขการขาดทุนได้ โดยอ้างว่าเป็นความลับและยังไม่ปิดโครงการรับจำนำจึงไม่สามารถสรุปตัวเลขได้นั้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงเป็นกรณีพิเศษเพื่อย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวว่า เหตุผลที่ต้องแถลงข่าววันนี้เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่อ้างว่า ทำเพื่อช่วยเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประการที่สองความสำคัญของรายได้เกษตรกรต่อภาวะเศรษฐกิจและภาวะความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มีความสำคัญมาก
นอกจากนั้นเป็นที่ทราบว่าประเทศไทยกับข้าวถือว่าคู่กันมาโดยตลอดและโครงการนี้กระทบอย่างกว้างขวางต่ออุตสาหกรรมข้าว การค้าข้าว และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติโดยตำแหน่ง จึงมีความรับผิดชอบต่อโครงการนี้โดยตรง จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องทำความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของโครงการที่มีความสับสนหรือพยายามบ่ายเบี่ยง โดยยืนยันว่าตัวเลขที่ใช้แถลงเป็นของราชการไม่มีของพรรคประชาธิปัตย์กำหนดขึ้นเอง ทั้งนี้การจำนำข้าวของรัฐบาลทำมา 3 ฤดูกาลแล้วโดยมีการขาดทุนที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ก็ยอมรับในการแถลงข่าวคือ นาปี 2554/2555 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท นาปรัง 2555 ขาดทุน 93,993 ล้านบาทและนาปี 2555/2556 ขาดทุน 84,071 ล้านบาท รวมขาดทุน 220,976 ล้านบาท ซึ่งตนขออธิบายว่ามีฐานการคำนวณอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพราะรัฐบาลพยายามบอกว่าตราบใดที่ยังขายข้าวไม่หมดก็จะไม่มีทางทราบว่าสถานะเรื่องการขาดทุนของโครงการจำนำข้าวเป็นอย่างไร ตนเรียนว่าถ้าใช้หลักคิดนี้ตราบเท่าที่โครงการจำนำข้าวยังดำเนินการต่อจะไม่มีทางทราบว่าขาดทุนเท่าไหร่ เพราะจะมีข้าวที่ขายออกไปและรับจำนำเข้ามาไม่จบไม่สิ้น แต่หลักการทำบัญชีที่กระทรวงการคลัง ดำเนินการนั้นจะถือหลักว่า เมื่อรับจำนำข้าวเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ ใช้เงินเท่าไหร่ ขายออกไป ได้เงินกลับมาเท่าไหร่ และข้าวที่ถืออยู่มีมูลค่าในทางตลาดเท่าไหร่
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเทียบการคำนวณการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวว่า เหมือนกับการซื้อของมา 100 บาท ในขณะที่เก็บของไว้ ราคาในตลาดขายที่ 80 บาท จะบอกว่าไม่ขาดทุนเพราะยังไม่ได้ขายแล้วซื้อเข้ามาเรื่อยฃๆ ในจำนวน 100 บาท แต่ขายได้ในราคา 80 บาทโดยสรุปว่ายังไม่ขาดทุนเพราะยังขายไม่หมดไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าราคาตลาดในขณะนั้นขาดทุน 20 บาทต่อการซื้อครั้งละ 100 บาท ยิ่งไปกว่านั้นของที่เก็บไว้ยังมีปัญหาเรื่องเสื่อมสภาพด้วย ก็ต้องประเมินเป็นช่วงๆ เพื่อปิดบัญชีว่ามูลค่าของเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยกเว้นว่าใครมีความเชื่อว่าราคาข้าวจะมีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดตัวเลขการประมาณการก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ แต่ในกรณีของข้าวไม่มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องราคาที่หวือหวาหรือผันผวน ดังนั้นการที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีประมาณการว่าการขาดทุนอยู่ที่ 220,976 ล้านบาท จึงมีพื้นฐานหลักคิดที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถสรุปตัวเลขได้เหมือนอย่างที่รัฐบาลอ้าง
นอกจากนี้การอ้างว่าตัวเลขการขาดทุนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ด้วยนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากแยกดูตัวเลขการขาดทุนที่เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลชุดนี้จะเริ่มตั้งแต่โครงการข้าวนาปี 54/55 ซึ่งขาดทุน 42,963 ล้านบาท เป็นโครงการรอบแรกและมีวิกฤตน้ำท่วมใหญ่จึงทำให้โครงการไม่ดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่อีกสองฤดูกาลถัดมาซึ่งรวมเป็นตัวเลข 1 ปี จะพบว่าการขาดทุนสูงถึง 178,004 ล้านบาท จากที่ตนตรวจสอบการขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมงบประมาณบริหารงานโครงการซึ่งจัดเป็นงบให้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นการขาดทุนที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปี ของรัฐบาลนี้จึงอยู่ที่ตัวเลข 2 แสนกว่าล้านแน่นอน และเมื่อเทียบกับตัวเลขการปิดบัญชีโครงการจำนำสินค้าเกษตร 17 โครงการในวันที่ 31 พ.ค.55 พบว่าขาดทุน 206,718 ล้านบาท แต่ในการปิดบัญชีวันที่ 31 ม.ค.56 ขาดทุน 393,902 ล้านบาท เท่ากับว่าขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 187,184 ล้านบาท แสดงว่าไม่ถึงปีการขาดทุนเพิ่มขึ้น 187,184 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าบริหาร จากข้อมูลนี้ตอกย้ำว่าการขาดทุนในรอบปีที่ผ่านมาประมาณสองแสนหรือกว่าสองแสนล้านบาท
นายอภิสิทธิ์ ยังหยิบยกเงินที่รัฐบาลใช้ในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลว่าใช้ไปแล้ว 661,224 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ 408,750 ล้านบาท จาก ธกส. 90,000 ล้านบาท ธกส.ทดลองจ่าย 69,024 ล้านบาท ได้เงินคืนจากการระบายข้าว 93,450 ล้านบาท นำมาใช้หมุนเวียนในโครงการด้วย
ทั้งนี้จากการใช้เงินก้อนดังกล่าวรัฐมนตรีที่แถลงข่าวบอกว่าสามารถนำเงินที่ระบายข้าวไปคืน ธกส.ได้แล้ว 120,000 ล้านบาท และประเมินมูลค่าข้าวในสต๊อคว่าอยู่ที่ 226,000 ล้านบาท รวมแล้วเงินยังหายไป 315,224 ล้านบาท จากวงเงินที่ใช้ทั้งหมด 661,224 ล้านบาท จึงไม่มีประเด็นที่รัฐบาลจะปฏิเสธว่าการขาดทุนในโครงการจำนำข้าวไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขของราชการยืนยันตรงกันว่า เราจะต้องขาดทุนในโครงการนี้ปีละกว่าสองแสนล้านบาท โดย 3 ฤดูกาลที่ผ่านมาขาดทุนรวม 220,967 ล้านบาท ค่าบริหาร 40,000 ล้านบาท รวมขาดทุน 260,967 ล้านบาท
และในขณะที่มีการขาดทุนจำนวนมากแต่ ธกส.แถลงว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้เพียง 86,000 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่าเงินที่เสียไปกับการขาดทุนโดยที่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ถึง 174,967 ล้านบาท ตนเคยประมาณการไว้ว่าเกษตรกรได้ประโยชน์ประมาณแสนล้านต้นๆ ในขณะนี้ตัวเลขทางการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่เสียไป เท่ากับเงินไม่ถึงมือชาวนา ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเสียเงินกว่าสองแสนล้านกับการขาดทุนในโครงการนี้ก็น่าจะนำเงินก้อนดังกล่าวหาญเฉลี่ยแจกให้กับชาวนาไปเลย ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้ประโยชน์มากกว่าปัจจุบันเท่าตัว และตลาดข้าวไม่พังพินาศแบบในปัจจุบันด้วย เพราะการซื้อขายข้าวยังเป็นปกติ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คำพูดที่บอกว่าโครงการนี้ทำให้ภาคการเกษตรมีรายได้ดี สร้างความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ารายได้ภาคการเกษตรไตรมาสที่สามปี 2555 รายได้ลดลง 4.1% ไตรมาสสุดท้ายปี 2555 ติดลบ 0.7 % สามเดือนแรกของปี 2556 ติดลบอีก 2.2 % และในเดือนเมษายน 2556 รายได้ติดลบอีก 7.7 % นี่คือตัวเลขทางการที่บ่งบอกว่ามาตรการจำนำข้าวกำลังสร้างความเสียหายทางการคลังปีละประมาณสองแสนล้านเงินถึงชาวนาไม่ถึงครึ่งและไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่หรือรายได้ของเกษตรกรได้ด้วย
นอกจากนี้การสำรวจหนี้เกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯจัดทำขึ้นนั้นก็ยืนยันว่าสถานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรถ้าวัดจากระดับของหนี้สินแย่ลงเพราะหนี้สินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลพยายามพูดว่าจะไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่าโครงการประกันรายได้ ซึ่งตนให้ตัวเลขสูงสุดที่ใช้ในโครงการประกันรายได้ว่าอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท โดยเกือบ 100 % ของยอดเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายตรงให้กับเกษตรกรแตกต่างจากโครงการจำนำข้าวที่แต่ละปีขาดทุนสองแสนล้านมากกว่าโครงการประกันรายได้ถึงสามเท่าตัว เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าโครงการประกันรายได้ในอดีตกำหนดราคาประกันที่ 15,000 บาทก็ยังใช้เงินน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวอย่างมาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การขาดทุนตามตัวเลขที่ออกมา 2.6 แสนล้านซึ่งคิดเป็น 10 % ของงบประมาณประจำปีเท่านั้น แต่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากไม่มีการทำโครงการนี้ก็สามารถนำเงินขาดทุนดังกล่าวมาใช้ใน 7 ปี โดยไม่ต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ให้ประชาชนเป็นหนี้ 50 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่างประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะสร้างความเสียหายต่อเนื่องในแง่สถานะการคลังและความน่าเชื่อถือของประเทศทางด้านการคลังด้วย
นอกจากนี้หลังจากใช้โครงการจำนำข้าวเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสูญเสียแชมป์ผู้ส่งออกอันดับ 1 รายได้จากการขายข้าวเข้าประเทศก็ลดลงกว่า 20 % โดยไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ล่าสุดการค้าข้าวระหว่างประเทศของไทยจะนำข้าวจากต่างประเทศมาขายแทนข้าวไทยเพราะต้นทุนถูกกว่า ดังนั้นนอกเหนือจากความสูญเสียด้านการคลังแล้ว เรายังสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขัน ทำลายอนาคตข้าวไทย ทำให้แข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ สุดท้ายเกษตรกรก็จะมีปัญหาในการขายข้าวมากขึ้น ถ้ารัฐบาลสะสมการขาดทุนไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ต้องมีจุดจบ
“ผมเคยเตือนรัฐบาลว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยส่งออกข้าวมากกว่าไทยก็มาสูญเสียการส่งออกให้ไทยในวันที่ประเทศเหล่านั้นตัดสินใจเป็นผู้ค้าข้าวเองเพียงรายเดียว วันนี้รัฐบาลกำลังเดินตามรอยนั้นซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร ที่สำคัญคือยังมีปัญหาการทุจริตที่ ส.ส.ของพรรคเปิดโปงข้อมูลทั้ง การระบายข้าว การเวียนเทียนในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งความสูญเสียในโครงการนี้”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องคือขอให้ยอมรับความจริง และขอให้เข้าใจว่าคนที่ห่วงใยเอาความจริงมาพูดไม่ประสงค์ให้รัฐบาลหยุดช่วยเกษตรกร ต้องการให้ช่วยแต่ช่วยโดยเงินทุกบาททุกสตางค์ไปถึงมือเกษตรกรและช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพไม่ทำลายอนาคตข้าวไทยซึ่งจะย้อนกลับไปทำร้ายเกษตรกร ตนกังวลสิ่งที่กำลังเกิด 2 เรื่อง
1. กระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณว่าจะมีการทบทวนตัวเลขการขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีใหม่โดย กขช.หรือใครยังไม่แน่ชัด ทั้งที่เป็นการคำนวณตามตัวเลขของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หากตัวเลขการปิดบัญชีผิดก็เท่ากับว่ามีการให้ข้อมูลผิดจากหน่วยงานต่างๆ แต่ตนคิดว่าน่าจะมีความพยายามเอาตัวเลขไปทบทวนเพื่อสร้างความสับสน เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับว่าโครงการนี้สร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังอย่างไร
2. รมช.พาณิชย์ กำลังขอเงินงบประมาณ 9 ล้านเศษเพื่อทำโครงการมวลชนคือ ทำงานสัญจรเรื่องจำนำข้าว และมีแนวโน้มว่าจะไปยุให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าคนที่ออกมาท้วงติงโครงการจำนำข้าวไม่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากจะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้วยังเป็นการเพิ่มความแตกแยกในสังคม ในประเทศ โดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นประธาน กขช. ได้รับรายงานตัวเลขไปแล้วกว่า 1 สัปดาห์ จะต้องรับผิดชอบด้วยการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะกำลังจะมีการเสนอ ครม.ให้ขยายวงเงิน และขยายกรอบ นายกฯต้องทบทวนโครงการนี้ทั้งหมด หาวิธีการอื่นในการช่วยเหลือเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการประกันรายได้ แต่ขอให้เป็นโครงการที่เงินถึงชาวนาทุกบาททุกสตางค์ไม่ใช่ไม่ถึงครึ่งอย่างโครงการรับจำนำข้าว และต้องไม่ทำลายอนาคตข้าวไทย เกษตรกรไทยด้วย โดยพรรคประชาธิปัตย์จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะห่วงว่ารัฐบาลมีความพยายามปกปิดความจริง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่จะแก้ปัญหา