หน.ประชาธิปัตย์ เผยนายกฯ มาเลย์จ้อดันชายแดนใต้ปกครองพิเศษหลายทีแล้ว แต่เชื่ออาจแปลความผิด หนุนกระจายอำนาจท้องถิ่น ยันเงื่อนไขพื้นที่ไม่เหมือนจุดอื่น จี้คุยโจรต้องชัดเจน สับนายกฯ ลอยตัวกระทบการแก้ปัญหา
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่เขตดอนเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเสนอให้พื้นที่ภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแสดงความเห็นในลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้วตั้งแต่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องดูว่าเจตนาคืออะไร ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามยืนยันว่าไม่ได้เกียวข้องกับมาเลเซีย แต่การสื่อสารต้องระวัง เพราะเวลาแปลคำพูดออกมาจะมีความละเอียดอ่อน มีความเข้าใจต่างกันไป ที่ผ่านมาตนเคยพูดเกี่ยวกับหลักการกระจายอำนาจกับนายกฯมาเลเซียมาแล้วว่า ประเทศไทยพยายามทำอยู่ แต่พอแปลเป็นภาษาอังกฤษจะใช้คำว่าปกครองตนเอง เป็นอิสระ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ส่วนที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตอบรับข้อเสนอของนายกฯ มาเลเซียนั้น ตนคิดว่าถ้าหากอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา เพราะการกระจายอำนาจต้องทำเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังเตรียมเรื่องการโอนอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดให้ก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มากขึ้น ซึ่งอาจจะรวมไปถึง 3 จังหวัดด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีการยกกรณีอาเจะห์มาเป็นโมเดล จะขัดต่อกรอบรัฐธรรมนูญของไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขต่างกัน จึงต้องระมัดระวัง ตนพบชาวต่างประเทศหลายกลุ่มที่ห่วงใยเรื่องนี้ คนที่ติดตามก็เข้าใจว่าเงื่อนไขของภาคใต้ไม่เหมือนกับที่อื่น เพราะกลุ่มที่ก่อความรุนแรงไม่เปิดเผยตัวตน และไม่แสดงความรับผิดชอบ แต่กลับมีอีกกลุ่มมาพูดคุย และยอมรับด้วยว่าไม่สามารถควบคุมสภาพความรุนแรงในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียเคยมีบทบาทในกรณีอื่นมาก่อน จึงพยายามสื่อสารให้เห็นว่าต้องการช่วยเหลือ สำหรับรัฐบาลไทยก็ต้องเดินตามกรอบที่เขียนไว้ในการแสดงเจตนาที่จะพูดคุยว่าต้องอยู่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ดังนั้นทั้ง 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีการเปลี่ยนความรับผิดชอบเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยมาพบตนที่สภา ตนก็บอกไปแล้วว่าการจะพูดคุยต่อโดยไม่มีความชัดเจนว่าจะช่วยลดความรุนแรงในพื้นที่ระหว่างการพูดคุย หรือไม่พูดให้ชัดว่ามีอะไรที่พูดคุยกันได้ และวิธีปฏิบัติจะเป็นอย่างไรก็จะทำให้การพูดคุยไม่ได้สร้างประโยชน์ ตรงกันข้ามจะเพิ่มความรุนแรงในพื้นที่ จึงต้องปรับให้เกิดความเหมาะสม ไม่ใช่ใช้วิธีทดลองนโนบายไปเรื่อยๆ เพราะจะทดลองบนความสูญเสียที่เกิดขึ้นรายวัน และการที่ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า หากคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ได้ผลอาจเปลี่ยนกลุ่มพูดคุยนั้น ต้องยึดหลักว่าการพูดคุยต่อต้องมีกรอบที่ชัดเจน ไม่ใช่หลับหูหลับตาว่าเกิดอะไรในพื้นที่ก็ได้ หรืออีกฝ่ายไปพูดอะไรก็ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ จึงต้องมีกรอบและเงื่อนไข แต่คงรีบพูดว่าจะยุติการพูดคุยไม่ได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการกดดัน แต่ต้องแสดงเจตนาว่าต้องพูดคุยกันบนพื้นฐานความจริงใจที่จะนำไปสู่ความสงบ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า ดังนั้นการไปพูดคุยในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ก็ต้องพูดให้ชัดว่าจะพูดคุยอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความก้าวหน้าในการนำไปสู่ความสงบไม่ได้ ส่วนปัญหาที่ว่า พล.ท.ภราดรอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงในตำแหน่ง เพราะอาจต้องคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้นายถวิล เปลี่ยนศรีนั้น ตนคิดว่าความสำคัญน่าจะอยู่ที่นโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร และปัญหาที่แท้จริงคือ นายกฯ พยายามหลีกเลี่ยงพูดปัญหาภาคใต้ โดยในการประชุมจะอ้างเฉพาะเรื่องการพัฒนา ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำกันมานานแล้ว และไม่ใช่เรื่องที่ต้องตัดสินใจในเชิงนโยบาย แต่การตัดสินใจเชิงนโยบายอยู่ที่การพูดคุย และการลอยตัวของนายกฯ กระทบต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะไม่มีความชัดเจนทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพ อีกทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดชอบตลอดเวลา นายกฯ จึงควรลงมาดูเอง