xs
xsm
sm
md
lg

“ภราดร” แย้มใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชายแดน ยันไม่ลดเวลาจ้อบีอาร์เอ็น หนุน “ปู” ยื้อเก้าอี้ “ถวิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สมช.เผยฝ่ายมั่นคงเล็งปรับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ แทนอัยการศึกตาม จว.ชายแดน เพื่อลดกังวลรับ AEC คาดประชุมการค้าชายแดนและความมั่นคงเดือนหน้าชัดเจน มีนายกฯ ร่วมถก รับลดเวลาถกบีอาร์เอ็นตามใจ “เฉลิม” ไม่ได้ ชี้นายกฯ อุทธรณ์คืนเก้าอี้ “ถวิล” เรื่องดี ยันไม่กระทบหน้าที่เลขาฯ สมช. พร้อมร่วมแถลงยุทธศาสตร์ พัฒนาเศรษฐกิจชายแดนสู่ AEC

วันนี้ (5 มิ.ย.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ระบุว่า ฝ่ายความมั่นคงมีแนวคิดปรับยุทธศาสตร์การบริหารชายแดนและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่จังหวัดชายแดนอื่นๆ รวม 31 จังหวัด ด้วยการลดการประกาศใช้กฎอัยการศึก และให้คงเหลือ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติเท่านั้น เพื่อคลายความกังวลในการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนทันทีที่มีการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการค้าชายแดนและความมั่นคงในเดือนหน้า (ก.ค.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

ส่วนความคืบหน้าการวางกรอบการหารือสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิถุนายน ที่ประเทศมาเลเซียนั้น เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ยอมรับว่าไม่สามารถทำตามข้อเสนอแนะของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ลดระยะเวลาการหารือลงได้ เพราะการพูดคุยจะต้องดูสถานการณ์หน้างานและต้องดูผลตอบรับของทั้งไทย มาเลเซีย และกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ยืนยันจะพยายามทำให้กระชับขึ้น เพราะมีการหารือมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิล เปลี่ยนศรีนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้นและอัยการจะได้มีคำแนะนำที่เป็นเหตุเป็นผลต่อรัฐบาล ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่เลขาฯ สมช. รวมถึงการหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ พล.ท.ภราดรได้มาร่วมแถลงข่าวจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องยุทธศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน “แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย 2015” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร สมช. และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดน


กำลังโหลดความคิดเห็น