“เป็ดเหลิม” ย้อน “อภิสิทธิ์” เป็น รบ.ยอม “ภราดร” นั่งเลขาฯ สมช.หรือไม่ ย้ำอุทธรณ์เป็นสิทธิ ชี้การเมืองไม่เดือดหากบริษัทใหญ่ไม่หนุนกลุ่มต้าน รบ. ขู่อดีตนักธุรกิจสื่อสารเมียสวย อย่าคิดล้ม รบ. เลิกให้เงิน ส. ไม่ซีเรียสแก๊งหน้ากาก เชื่อคนขายเป็ดไก่หนุนม็อบสนามหลวง เล็งให้ผู้ว่าฯ ฟันบริษัทน้ำเมา ซัดกลุ่มธุรกิจแทงกั๊ก อย่าตีหน้าเศร้า ตั้ง 2 ชุดรับฟังปมไฟใต้ ขอ “ดาว์พงษ์” เป็น ผช.ผอ.ศปก.กปต. มอบอำนาจดับไฟใต้ร่วม ผบ.ทบ. เผย 15 มิ.ย.ลงใต้รับถกแผนกองทัพจ้อบีอาร์เอ็น เชื่อมาเลย์กดดัน
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กับนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ว่าขอถามกลับไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด หากวันนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จะรับได้หรือไม่หาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ยังทำหน้าที่เลขาฯ สมช. หากตอบว่ารับได้ก็โกหก เพราะครั้งที่แล้วไปย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ออกจากเลขาฯ สมช. และ พล.ท.ภราดร ออกจากรองเลขาฯ สมช.เพราะเหตุใด
“กรณีนายถวิลเป็นสิทธิของรัฐบาลที่จะอุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุด พรรคประชาธิปัตย์ออกมายุ่งยากทำไม นายอภิสิทธิ์ไม่มีความรู้สึกบ้างหรือที่มาแนะนำนายกฯ ว่าควรคืนตำแหน่งให้นายถวิล ซึ่งรัฐบาลจะคืนหากศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้คืนตำแหน่ง เล่นการเมืองไม่ดูตัวเอง เอาแต่ด่าคนอื่น คิดว่าหลังจากผมให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ควรหยุดพูดเรื่องนี้” รองนายกฯ ระบุ
ร.ต.อ.เฉลิมยังได้กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเป็นจำนวนมากว่า ตนขอย้ำอีกครั้งหนึ่งเพราะมีสายข่าวมา ยืนยันถ้าหากบริษัทน้ำเมา บริษัทขายไก่ขายเป็ด และธนาคาร ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวจะไม่รุนแรง ล่าสุดมีข้อมูลว่าอดีตนักธุรกิจสื่อสารที่ได้เมียสวยเป็นข่าวไปทั้งประเทศยังพยายามไปสนับสนุนคิดล้มรัฐบาลด้วย
“ผมขอเตือนนักธุรกิจท่านนั้นว่า เงินก็มีแล้ว เมียก็สวย เป็นข่าวทั้งประเทศ คุณแต่งงานคุณก็เอาเปรียบผม ตอนหนุ่มๆ ผมแต่งงานไม่เป็นข่าว นี่ข่าวคุณออกทั้งประเทศ แล้วคุณมายุ่งกับเขาทำไม พาเมียไปฮันนีมูน อย่าเอาเงินส่งมาให้ไอ้ ส.อีก” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ส่วนกรณีที่กลุ่มหน้ากากขาวที่ออกมารวมตัวต่อต้านรัฐบาลนั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า อย่าเลิก ควรทำต่อ เพราะเป็นสัญลักษณ์ในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ตนไม่เครียด ไม่ซีเรียส ส่วนม็อบที่ชุมนุมอยู่สนามหลวงนั้นก็คิดว่าเป็นคนขายเป็ดขายไก่สนับสนุนอยู่ ที่ผ่านมาสังคมไทยไปชื่นชมคนเหล่านี้ อย่างบริษัทน้ำเมาก็หลีกเลี่ยงภาษีขนาดไหน ผลิตเหล้าสี แต่เสียภาษีเหล้าขาว วันนี้ตนจะถามผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจังหวัดไหนที่มีโรงเหล้าแล้วประชาชนเดือดร้อน ผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่เฉยได้อย่างไร จากนี้ต่อไปรัฐบาลจะบริหารราชการบนความถูกต้องชอบธรรม ไม่เกเร ไม่ข่มขู่ ไม่รังแก แต่ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มาบริจาคหน่อยแล้วออกข่าวสามช่อง แปะหนังสือพิมพ์
เมื่อถามว่า กลุ่มธุรกิจไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรถึงออกมาเคลื่อนไหว ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า คนเหล่านี้แทงกั๊ก เพราะรู้ว่าถ้ารัฐบาลอยู่มันก็แอบอิง และถ้ามีการขยับเหมือนตอนปี 48-49 ก็เลี้ยวกลับไปแทงกั๊ก พวกนี้ต้องจับมาตีก้น ทำให้บ้านเมืองมันยุ่งยาก เวลาเลือกตั้งคุณรักชอบใครก็สนับสนุนเงินไปเลย ไม่มีใครเขาว่า แต่นี่บ้านเมืองกำลังไปด้วยดีก็มาแทงกั๊ก บางคนมาพูดกับตนก็ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ หาว่าผมเข้าใจผิด ทั้งที่หน่วยข่าวเขารายงานมา แล้วตนวิเคราะห์ว่าใช่
ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ยังเปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด โดยคณะของนายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งจะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เพื่อรับฟังคำร้องทุกของประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ตนได้ขอความร่วมมือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก ให้มาทำหน้าที่ผู้ช่วย ผอ.ศปก.กปต. เพื่อให้บูรณาการกำลัง 6 หน่วยงานที่มีการเตรียมไว้ใน ศปก.กปต. ลงพื้นที่ และตนได้มอบอำนาจเต็มที่ให้บูรณาการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จากนี้ต่อไปจะเติมเต็มพื้นที่ และหลังจากวันที่ 15 มิ.ย. ตนจะลงพื้นที่ และค้างคืนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ตนได้หารือกับกองทัพบก ซึ่งได้มีการทำบันทึกสรุปแนวคิด และได้ทีมพูดคุยให้นำไปเป็นกรอบในการเจรจา ซึ่งต้องมีการกำหนดหัวข้อในการพูดคุย เพราะหากการพูดคุยกว้างไปจะทำให้ไม่รู้เรื่อง และเห็นว่าระยะเวลาพูดคุยควรกระชับ การพูดคุยยังคงต้องมีต่อไป ล่าสุดทราบมาว่าทางกลุ่มบีอาร์เอ็นมีความวิตกกังวล หากการเจรจาไม่บรรลุเป้าหมาย อาจจะถูกกดดันจากทางรัฐบาลมาเลเซีย