xs
xsm
sm
md
lg

“ภราดร” แขวะ “ถวิล” เคยถูกเด้งแต่ไม่เคยร้อง สอน “เฉลิม” เหตุรุนแรงบางทีไม่เกี่ยวโจรใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร อัตถาบุตร (แฟ้มภาพ)
“ภราดร” พร้อมคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.ให้ “ถวิล” หากนายกฯ สั่ง แขวะเคยถูกเด้งพ้นตำแหน่งรองเลขาฯ สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ แต่ไม่เคยร้อง ระบุงานด้านความมั่นคงผู้บังคับบัญชาต้องเลือกคนที่ไว้ใจได้ ส่วนจะเป็นหัวหน้าคณะถกบีอาร์เอ็นต่อหรือไม่อยู่ที่นายกฯ สอนมวย “เฉลิม” เหตุการณ์รุนแรงบางเหตุการณ์เกิดจากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ไม่เกี่ยวโจรใต้

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ให้สัมภาษณ์กรณีศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี ว่ายังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร แต่เห็นว่าน่าจะดำเนินการตามช่องทางของกฎหมาย ระหว่างนี้จะทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งชัดเจน และพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ในฐานะที่เป็นข้าราชการจะให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ใดก็ได้ หากจะให้คืนตำแหน่งก็ไม่มีปัญหา

“ที่ผ่านมาผมไม่เคยเรียกร้องใดๆ เมื่อก่อนผมก็เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในตำแหน่งข้าราชการประจำเหมือนที่ท่านถวิลเป็นอยู่ เพราะท่านเป็นคนเสนอย้ายผม ขณะที่ผมเป็นรองเลขาธิการ สมช.คู่กับท่าน โดยคุณอภิสิทธิ์ (เวชชีชวะ) เป็นผู้ลงนาม ผมก็ไม่มีปัญหา ไม่เคยโวยวาย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาฯ สมช.ที่ถูกเซ็นย้ายไปก่อนที่คุณถวิลจะมาทำหน้าที่ เป็นคนที่มีความสามารถด้านความมั่นคงทุกด้านก็ไม่เคยมีปัญหา เราปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากไม่ให้ทำหน้าที่ก็กลับไปเป็นข้าราชการเหมือนเดิม ทั้งนี้ การที่ผู้บังคับบัญชาจะเลือกคนมาทำงานด้านความมั่นคงต้องขึ้นอยู่กับความไว้วางใจด้วย ใครทำงานด้านนี้ก็ต้องเข้าใจ เพราะงานบางอย่างสามารถสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ขณะที่บางเรื่องต้องสั่งทางวาจาเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเปลี่ยนคนที่ไว้วางใจให้มาทำหน้าที่”

ส่วนคณะทำงานพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นจะเป็นชุดเดิมหรือไม่นั้น เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า อยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นตนเองก็ได้ เพราะสามารถตกลงกับบีอาร์เอ็นได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นเลขาธิกา รสมช.จะทำให้การพูดคุยเป็นไปได้ง่ายเพราะมีอำนาจโดยตำแหน่ง และไม่จำเป็นต้องเป็น พล.ท.ภราดร เพราะ พล.ท.ภราดรก็มีป่วยมีเจ็บเหมือนกัน

เลขาธิการ สมช.กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าถ้าคุยรอบนี้แล้วยังลดความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแนวทางการพูดคุยว่า ต้องประเมินเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ละเหตุการณ์ว่าเกิดจากฝีมือกลุ่มใดและจากสาเหตุใด เพราะบางกรณีเป็นการก่อเหตุจากภัยแทรกซ้อนจากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ หรือเหตุส่วนตัว จึงไม่ควรนำมาเหมารวมว่าเป็นการก่อความไม่สงบ

“การพูดคุยถือเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จะแก้ปัญหาได้ยั่งยืน ขณะนี้ สมช.ไม่ได้คุยทางเปิดเผยอย่างเดียวแต่คุยทางลับด้วยและใช้การพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย การเจรจาจึงต้องเดินหน้าต่อ เพื่อสืบสภาพให้ได้ว่า การก่อเหตุแต่ละครั้งเป็นฝีมือกลุ่มใด เพราะกรณีบีอาร์เอ็นปล่อยคลิปทางยูทิวบ์ครั้งที่ 3 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นยังขาดเอกภาพในการขับเคลื่อนและควบคุมแนวร่วม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายฮัสซัน ตอยิบ ที่เราไปพุดคุยด้วยถือเป็นแกนนำสำคัญที่ดูแลมวลชนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องพุดคุยด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น