xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้คนอีสานส่วนใหญ่ไม่สนใจ “กม.นิรโทษกรรม-ปรองดอง” ชี้ไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทิน เวียนวิวัฒน์ (แฟ้มภาพ)
อีสานโพลสำรวจพบคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ 62% ทราบเรื่อง พท.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ไม่สนใจ ขณะที่ 43% ยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองยังไม่เหมาะสม แต่ส่วนใหญ่ หรือ 55% กลับเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความเห็นชาวอีสานต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผลักดันโดยพรรคเพื่อไทย โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, หนองคาย, ชัยภูมิ, เลย, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครพนม, หนองบัวลำภู, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, ยโสธร, อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ ทราบเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาล ร้อยละ 62.5 โดยแบ่งเป็น ร้อยละ 45.8 ทราบเรื่อ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจ และร้อยละ 16.7 ที่ทราบข่าวและสนใจติดตาม โดยที่เหลือร้อยละ 37.5 ไม่ทราบเลย

เมื่อสอบถามถึงร่าง พ.ร.บ.ที่มีผู้เสนอ 2 ฉบับ พบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.9 เห็นว่า ยังไม่เหมาะสมทั้ง 2 ฉบับ รองลงมาร้อยละ 26.2 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย รวมถึงแกนนำและผู้สั่งการ มีความเหมาะสม และอีกร้อยละ 8.9 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนายวรชัย เหมะ ที่เสนอให้นิรโทษกรรมเฉพาะมวลชนทุกกลุ่มการเมือง ไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการ มีความเหมาะสม โดยมีกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 15.1 เห็นว่ามีความเหมาะสมทั้ง 2 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 5.8 มีความเห็นอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ตอบว่าไม่มีความรู้/ไม่ทราบรายละเอียด เกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเลย และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญในขณะนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามต่อถึงความเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า การที่พรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง อยู่นั้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 55.5 เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วน โดยให้เหตุผลที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องการปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะจัดการตามที่เห็นว่าเหมาะสม และต้องการให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปรกติ มีความปรองดอง ลดความขัดแย้ง ส่วนอีกร้อยละ 44.5 ที่ตอบว่า การผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ควรไปแก้ไขปัญหาด้านอื่นที่เร่งด่วนกว่า เช่น ด้านค่าครองชีพ ปากท้อง การศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งเห็นว่าควรดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มให้เหตุผลว่าควรชะลอการนำเข้าสู่การพิจารณา เพราะประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

เมื่อสอบถามถึงข้อเสนอต่อพรรคเพื่อไทย ในการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานก็มีความเห็นที่หลากหลาย เช่น ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ควรเน้นพัฒนาและแก้ปัญหาด้านอื่นมากกว่าเร่งช่วยเหลือพวกพ้อง ควรดำเนินการอย่างชัดเจนโปร่งใส ให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนทุกระดับผ่านสื่อต่างๆ และจัดให้มีการทำประชามติ เป็นต้น

“จากผลสำรวจจะเห็นว่า ยังมีกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาหรือรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง หรือเพียงแต่ทราบข่าวแต่ไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าร่างทั้ง 2 ฉบับยังไม่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนจะไม่ทราบข้อมูล แต่เมื่อสอบถามความเห็นว่าความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันเรื่องดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะอยากให้ประเทศมีความปรองดอง ส่วนผู้ที่ตอบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่เร่งด่วน ก็เห็นว่าเพราะประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หรือต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน”

ดร.สุทินกล่าวว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้สนใจปัญหาทางการเมืองมากไปกว่าปัญหาปากท้องของตน และปล่อยให้รัฐบาลจัดการเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมหรือไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งทัศนคติดังกล่าวเป็นทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนักต่อการพัฒนาการเมืองไทย แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ แต่การดำเนินการใดๆ ที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลรวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ควรร่วมกันให้ความรู้แก่ประชาชน และผลักดันให้ประชาชนมีความสนใจและมีส่วนร่วมมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น