กรรมการ ป.ป.ช.ชี้อดีตเลขา สมช.ยื่นฟ้องนายกฯ ยื้อไม่คืนเก้าอี้ตามคำสั่งศาลทำได้ ไม่ต้องรอศาลปกครองสูงสุด ส่วนคดีจำนำข้าวนำข้อมูล “หมอวรงค์” อภิปรายพิจารณา เตรียมชี้มูลความผิด “คอมพ์ฉาว สธ.” สมัย “สุดารัตน์” 18 มิ.ย. อีกด้านเตรียมเรียก “ม็อบแดง” ทวงถามคดี ปรส.แจงคดีหมดอายุความปีหน้า
วันนี้ (2 มิ.ย.) นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จะร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า หากจะร้องจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกล่าวหาบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ 1.ทุจริต 2.ผิดต่อตำแหน่ง และ 3.ร่ำรวยผิดปกติ หากคำกล่าวหาของนายถวิลเข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะรับไต่สวน
ทั้งนี้ เรื่องลักษณะอย่างนี้เคยมีการร้องเข้ามายัง ป.ป.ช.หลายเรื่อง เป็นกรณีที่ได้รับการกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชา และไปร้องศาลปกครอง และศาลปกครองพิจารณามีคำสั่งให้คืนตำแหน่ง แต่ฝ่ายผู้บังคับบัญชาไม่ยอมให้กลับ หรือให้กลับ แต่ระบุว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ซึ่งบางคดี ป.ป.ช.เองเคยมีการวินิจฉัยมาแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของนายถวิล จะอยู่ในขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น จะต้องดูรูปเรื่องและคำวินิจฉัยของศาลก่อน เข้าใจว่าหากนายถวิล จะร้องมาคงแนบคำวินิจฉัยของศาลเข้ามาด้วย จากนั้นจะมาดูว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้จะต้องรอคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดก่อนหรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องถึงศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการปกครองกับการทุจริตในหน้าที่นั้น แม้จะเป็นคนละส่วนกัน แต่ข้อเท็จจริงเรื่องทางปกครองสามารถจะหยิบยกเข้ามาประกอบในเรื่องการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ได้
นายกล้านรงค์ ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนว่า ขณะนี้เอกสารที่ ป.ป.ช.ได้มา แม้จะมาจากผู้ร้อง เช่น สำเนาเช็ค แต่หากจะสอบจะต้องได้หลักฐานจากธนาคารที่มีการรับรองมาเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของพยาน จะประกอบด้วย พยานผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ ป.ป.ช.สามารถเชิญมาให้ข้อมูลได้ทันที ส่วนพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงจะต้องดูจากเอกสารว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือไม่ มีการเซ็นชื่อในเอกสารหรือไม่ และหากมีการเซ็นจะต้องนำมาดูว่าการเซ็นชื่อดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ด้านเอกสารต่างๆ ที่ ป.ป.ช.ได้มาขณะนี้ก็ต้องมาดูในแต่ละแฟ้มมีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อไม่นานอนุกรรมการไต่สวนได้เชิญนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มาชี้แจง โดยได้เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งในส่วนรายละเอียดนางวัชรี จะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดำเนินการส่งเอกสารมาให้ต่อไป
นอกจากนี้ คณะทำงานของ ป.ป.ช.ได้รับทราบข้อมูลของการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามการอภิปรายอยู่แล้ว และเตรียมนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามไม่สามารถบอกได้ว่าคดีนี้จะพิจารณาได้เสร็จเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และหากมีกรณีใดที่มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องถูกไต่สวนเพิ่มเติมก็จะต้องดำเนินการไต่สวนอีก
ด้าน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ตนได้ถอนตัวจากการเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ได้ร้บมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และติดตามการรับจำนำข้าวที่มีนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ในขณะนั้นเป็นประธานอนุกรรมการ จึงเกรงว่าหากมาทำคดีนี้จะเกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.มาทำหน้าที่แทน
นายปรีชา เลิศกลมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะกรรมการร่วมรับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลค่า 821 ล้านบาท สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ จะส่งสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อลงความเห็นว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่อย่างแน่นอน หลังจากก่อนหน้านี้ได้เลื่อนการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง
โดยการสอบสวนขณะนี้ได้ดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 10 ปาก พร้อมกับได้ประสานไปยังศาลเพื่อขอเอกสารที่มีการฟ้องกันในคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อมาประกอบสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ว่าจะเชื่อมโยงอย่างไร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จากการตรวจสอบมั่นใจว่าสำนวนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขี้น จึงคิดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.มีความเห็นได้ในวันดังกล่าวได้อย่างแน่นอน
สำหรับการตรวจสอบนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม โดยภายหลังที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติไปแล้ว ทำให้จะต้องมาตรวจสอบในประเด็นการทุจริตเพิ่มเติม ซึ่งทั้งนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เช่นเดียวกับประเด็นเส้นทางการเงินว่าจะมีความผิดปกติหรือไม่อย่างไรด้วย
มีรายงานข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า ในพรุ่งนี้ (3 มิ.ย.) เวลาประมาณ 09.00 น. นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน คดีการดำเนินการบริหารองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีที่ค้างอยู่ ซึ่ง ป.ป.ช.รับคดี ปรส.ไว้ 6 เรื่อง ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 4 เรื่อง และชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 เรื่อง อยู่ในขั้นตอนของการส่งสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา และยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 เรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน คือวันที่ 31 ส.ค. 2556 ซึ่งเรื่องนี้ทั้งหมดจะขาดอายุความวันที่ 30 พ.ย. 2557
โดยหลังจากประชุมเสร็จจะเชิญ นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาชนคนไทยหัวใจเดียวกัน และกลุ่มภาคีพลังประชาชน (ภปช.) พร้อมตัวแทนภาคีฯ เข้าพูดคุยหารือ ที่สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อชี้แจงให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบรายละเอียดและให้เข้าใจว่าอายุความของคดียังไม่หมดอายุในวันที่ 21 มิ.ย.อย่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจ จากนั้น นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.จะเป็นผู้แถลงข่าวดังกล่าวต่อไป