ศาลปกครองพิพากษา เพิกถอนคำสั่งนายกฯ เด้ง “ถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นเลขาฯ สมช.เมื่อปี 54 ชี้คำสั่งไม่เป็นธรรม ให้คืนตำแหน่ง
วันนี้ (31 พ.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ชั้น 7 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย. 54 ที่ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ก.ย. 54 ที่ให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสมช. โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งและประกาศดังกล่าวมีผลบังคับ และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) ที่ยกคำร้องทุกข์ของนายถวิล พร้อมกับให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าเมื่อศาลฯเพิกถอนคำสั่งโดยให้มีผลย้อนหลังดังกล่าว ย่อมมีผลทางกฎหมายว่านายถวิล ไม่ได้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสมช. ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการให้นายถวิลสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาสมช.โดยเร็ว
ทั้งนี้คดีดังกล่าวนายถวิล ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และก.พ.ค.เป็นผู้ถูกฟ้องที่1-2 กรณีมีคำสั่งย้ายไม่เป็นธรรมโดยขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายดังกล่าวและสั่งให้ตนเองกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาสมช.ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. 54 โดยเหตุผลที่ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน ระบุว่า ปรากฏหลักฐานว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ 4 ก.ย.54 ถึงน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งเห็นควรให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนนายถวิล รวมถึงให้ทาบทามขอรับความเห็นชอบและยินยอมจากพล.ต.อ.โกวิท รองนายกฯที่กำกับดูแลสมช. แต่ก่อนที่น.ส.กฤษณาจะให้ความเห็นชอบกับการโอน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กลับมีหนังสือในวันเดียวกัน ถึงพล.ต.อ.โกวิท แจ้งว่าน.ส.กฤษณาได้ให้ความเห็นชอบและมีความประสงค์ที่จะขอรับโอนนายถวิลมาอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งการให้ความเห็นชอบการรับโอนนายถวิลของน.ส.กฤษณา ในวันที่ 5ก.ย.แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการอย่างรีบเร่งอย่างผิดสังเกตไม่เป็นไปตามขั้นตอนการรับโอนในการปฏิบัติราชการตามปกติ ซึ่งส่วนราชการฝ่ายรับโอนจะต้องเสนอต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเห็นควรรับโอนข้าราชการให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วจึงมีหนังสือขอความยินยอมการโอนไปยังส่วนราชการต้นสังกัด ของข้าราชการที่จะโอนมา หรือผู้ฟ้องในคดีนี้ การอ้างว่าน.ส.กฤษณา ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและประสงค์ขอรับโอนนายถวิล ตามหนังสือลงวันที่ 4ก.ย.54 ไปยัง พล.ต.อ.โกวิท รองนายกรัฐมนตรีในขณะนี้เพื่อขอความเห็นชอบและยินยอมให้โอนนายถวิล จึงเป็นการแจ้งที่ไม่ถูกตามความเป็นจริง มีลักษณะที่ปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ เพื่อพิจารณายินยอมให้โอน แม้ต่อมา 5ก.ย.54 น.ส.กฤษณาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรู้แบบขั้นตอน หรือวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ สำหรับการกระทำนั้นเมื่อครม. ได้พิจารณาเป็นวาระทราบจร เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 54 โดยมิได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏย่อมมีผลให้มติครม.ในการประชุมครั้งนั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ก.พ.กำหนดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจพิจารณาออกคำสั่งให้นายถวิล ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่านายก ฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาประการหนึ่งในด้านความมั่นคง โดยอ้างว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการภายในปีแรกที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างๆ ที่แถลงไว้ รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านการบริหารางานบุคคลด้วย แต่เมื่อพิจารณาข้ออ้างของนายกฯที่ว่า นายถวิลเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ยาวนาน จึงให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ ก็ยังเห็นว่าขัดต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อพิจารณางานในส่วนตำแหน่งเลขาธิการสมช.มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และในภาพรวมของการใช้อำนาจ ทั้งในทางบริหาร บังคับบัญชาแล้ว ตำแหน่งเลขาธิการสมช. นอกจากต้องกำกับดูแลบริหารราชการภายในหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษา เสนอแนะแก่นายกรัฐมนตรีได้ โดยไม่จำเป็นต้องแต่ตั้งนายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แม้จะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาเสนอแนะความเห็นแก่นายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปฏิบัติงานจริงแล้วไม่อาจใช้อำนาจบริหาร รวมถึงบังคับบัญชาข้าราชการได้ ดังเช่นตำแหน่งเลขาธิการสมช. รวมถึงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาเสนอแนะ แก่ผู้บังคับบัญชาคือ รองนายกฯ (พล.ต.อ.โกวิท) เฉพาะงานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากสายการบังคับบัญชาแล้ว ไม่ว่านายถวิล จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช. หรือที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ นายถวิล ก็ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลบังคับบัญชาของรองนายกฯ คนเดียวกัน คือพล.ต.อ.โกวิท ซึ่งกรณีเช่นนี้หากรัฐบาล หรือนายกฯมีนโยบายสำคัญเร่งด่วนเกี่ยวกับความมั่นคง ก็สามารถก็มอบให้รองนายกฯสั่งการให้นายถวิล ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช.รับไปปฏิบัติ และสามารถรับสนองนโยบายทั้งปวงของนโยบายได้มากกว่าการแต่งตั้งให้นายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯเสียอีก และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระบวนการโอนนายถวิล มีการดำเนินการอย่างรีบเร่ง ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเชื่อได้ว่าปัจจัยอันเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงนายถวิล ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้คนอื่นให้ดำรงตำแหน่งแทน เหตุผลในตามข้ออ้างดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าการออกคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกจะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการ ตามนโยบายของครม. ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามระบบคุณธรรม ตามพ.ร.บ.ระเบียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 42 ที่บัญญัติสรุปว่า ต้องเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ ภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าโดยให้ข้าราชการปฏิบัติราชการอย่างมีคุณภาพ คุณธรรม และยังคำนึงถึงระบบคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบรรจุ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การบริหารทรัพยากรบุคคล การพิจารณาความดีความชอบต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง
ดังนั้นการที่นายกฯ มีคำสั่งสำนักนายกฯที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย. 54 ให้นายถวิล ไปปฏิบัติราชที่สำนักนายกฯ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ประกาศสำนักนายกฯลงวันที่ 30 ก.ย.ที่ให้นายถวิลพ้นจากเลขาธิการสมช.เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และเมื่อพิจารณาถึงการที่ ก.พ.ค. วินิจฉัยยกคำร้องทุกข์ของนายถวิล โดยให้เหตุผลว่า การมีคำสั่งสำนักนายกฯลงวันที่ 7 ก.ย.54 ให้นายถวินไปปฏิบัติราชการสำนักนายกฯเป็นการโดยชอบด้วยกฎหมาย นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ใช้ดุลยพินิจ หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือมีลักษณะเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมนั้น
ศาลเห็นว่า เมื่อศาลได้พิจารณาในประเด็นคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ เกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่สมเหตุสมผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ย่อมมีผลให้คำวินิจฉัยฉัยของก.พ.ค.ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย จึงมีคำสั่งให้เพิกถอน