xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.โวยโพลชี้นำรับทุจริต “เจ๊หน่อย”ลุ้นชี้มูลซื้อคอมพ์ฉาวสธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (2 มิ.ย.56) ที่จ.นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "มิติใหม่ ป.ป.ช.กับการต่อต้านการทุจริต" โดยเชิญตัวแทนสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคอีสานมาร่วมเสวนา เพื่อขอความร่วมมือสื่อมวลชนมาเป็นแนวร่วมตรวจสอบการทุจริต และสะท้อนมุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษกป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อปี 2555 องค์กรตรวจสอบความโปร่งใสของต่างประเทศ ในนาม Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG) ให้ดัชนีความโปร่งใสที่ 31 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน หากไม่ช่วยกันเชื่อว่าคะแนนความโปร่งใสจะต่ำกว่านี้ไปถึงระดับ 21 คะแนนอย่างแน่นอน
นายกล้าณรงค์ แสดงความเป็นห่วงเรื่องการสำรวจความเห็นประชาชนเรื่องการทุจริตช่วงปี 2554-2555 เพราะเป็นการตั้งคำถามเชิงชี้นำที่ได้คำตอบว่าประชาชนยอมรับได้หากรัฐบาลทุจริต แต่ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ตัวเองอยู่ดีกินดี ทั้งที่ตามตรรกะไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องการทุจริตไม่ทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้ สวนทางกับการทำโพลของป.ป.ช.ในช่วงต้นปี 2556 ที่พบว่ากลุ่มเยาวชนไม่ยอมรับการทุจริต พร้อมเสนอให้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วย ซึ่งหากเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลต่อทัศนคติของประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายเพราะต่างชาติจะมองไทยว่ายอมรับการทุจริต จึงอยากให้ทำโพลแบบป.ป.ช.และเผยแพร่เพื่อปลูกจิตสำนึก และเปลี่ยนความเชื่อเดิมที่เคยคิดว่าการทุจริตสามารถทำได้ถ้าได้ประโยชน์
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงกับการตั้งคำถามชี้นำดังกล่าว คือ พบว่าข้าราชการ 60% ที่ตอบแบบสำรวจว่ายอมรับการทุจริต เพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว วันนี้ข้าราชการอาจจะไม่รู้สึกเพราะยังได้รับเงินเดือนโบนัสอยู่ แต่ถ้าในอีก 2-3ข้างหน้า เกิดการบริหารงานผิดพลาด เศรษฐกิจเราตก แม้วันนี้เราจะตั้งงบประมาณสมดุลก็ตาม แต่ก็เป็นการเอาเงินกู้มาให้มีความสมดุล ถ้าเปิดปัญหาประเทศเราล้มละลาย ไม่มีใครให้กู้ ถามหน่อยว่าข้าราชการและประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร" นายกล้านรงค์ กล่าว
ด้านตัวแทนสื่อมวลชนส่วนใหญ่ สะท้อนมุมมองว่า การทำงานเชิงสืบสวนสอบสวนมีความเสี่ยงในการทำงาน ดังนั้น เมื่อพบเรื่องที่ไม่ถูกต้องแล้ว ป.ป.ช.สามารถนำไปตรวจสอบได้ทันที เพื่อให้การทำงานของสื่อมวลชนจะได้ไม่สูญเปล่า นอกจากนี้ ต้องการให้ป.ป.ช.รวดเร็ว เพราะหากพบการทุจริตโดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ยังไม่ถูกดำเนินการเอาผิด จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับประชาชนได้
"เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยสามารถเอาผิดกับนักการเมืองได้เลย นอกจากกรณีของนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขเพียงคนเดียว รวมถึงจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องว่าหากทุจริตแล้วการตรวจสอบใช้เวลานาน บางครั้งพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อจะลงโทษไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ นอกจากนี้ยังอยากให้ป.ป.ช.มีมาตรการที่เข้มงวดในงานด้านการป้องกันมีการเสนอแนะความเห็นไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีช่องโหว่เรื่องการทุจริตในการอนุมัติโครงการต่างๆ"ตัวแทนสื่อสะท้อนความคิดเห็น
นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มูลค่า 821 ล้านบาท ในสมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.จะส่งสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช. เพื่อลงความเห็นว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่อย่างแน่นอน หลังจากก่อนหน้านี้ได้เลื่อนการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง
"การสอบสวนขณะนี้ได้ดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลาย 10 ปาก รวมทั้งพยานเอกสาร พร้อมกับได้ประสานไปยังศาลเพื่อขอเอกสารที่มีการฟ้องกันในคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อมาประกอบสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช.ว่าจะเชื่อมโยงอย่างไร ก็ได้ตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย มั่นใจว่าสำนวนมีความสมบูรณ์มาก จึงจะเสนอให้ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ให้พิจารณาได้ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน"นายปรีชา กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าเชื่อว่ากรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่จะสามารถชี้มูลได้ในวันดังกล่าว นายปรีชา กล่าวว่า คิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้มาหลายครั้ง และกรรมการเสียเวลาพิจารณาเรื่องนี้มาพอสมควร ครั้งนี้คิดว่าเสร็จ ไม่น่าเลื่อนต่อไปแล้ว
เมื่อถามว่า หากเรื่องทุริตดังกล่าวโยงถึงข้าราชการระดับสูง หรือนักการเมืองคนใดก็จะทราบในวันที่ 18 มิ.ย.ใช่หรือไม่ นายปรีชา กล่าวว่า “ใช่ครับ เพราะหมดประเด็นที่กรรมการที่จะให้อนุฯไปเพิ่มเติมแล้ว ทำมาทั้งหมดเรียบร้อย พยานสมบูรณ์เรียบร้อย เรื่องนี้กรรมการพิจารณาด้วยความเป็นกลาง ไม่ได้หนักใจใดๆ”
กำลังโหลดความคิดเห็น