“ชัย ชิดชอบ” จวกรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ทำงบค้างท่อบาน เบิกงบปี 56 ได้ไม่ถึง 58% ชี้ชาวบ้านด่ายับอนุมัติ ครม.สัญจรหลายพันโครงการแต่ไม่ทำ ขอรัฐฯ ทบทวนปรับลดและมาเพิ่มในงบลงทุนเพื่อการพัฒนาชาติ “เกียรติ” ซัดหน้าด้านขอเงินทำโครงการจำนำข้าวต่อ ทั้งที่ขาดทุน-ทำลายตลาด-ทำจีดีพีประเทศลด ส่อขัดข้อตกลงระหว่างประเทศ แฉลูกหลานโรงสีรวยซื้แห่ถอยรถหรูหลังรวยอื้อ จี้แจงรัฐสาหกิจจ่ายโฆษณาให้วอยซ์ทีวี
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 16.20 น. นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ตนวิตกกังวลต่อการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ และขอทวงถามรัฐบาล ถึงการประชุม ครม.สัญจรรวม 9 ครั้ง ในปี 2555 รวม 6 ครั้ง ที่อนุมัติงบกลาง 224 โครงการ อนุมัติหลักการร่วม 934 โครงการ ปี 56 ประชุมครม.สัญจร 3 ครั้ง อนุมัติงบกลาง 78 โครงการ อนุมัติหลักการ 377 โครงการ อาทิ เชียงใหม่ 116 โครงการ อุดรธานี 161โครงการภูเก็ต 95 โครงการ ชลบุรี 181 โครงการ ฉะเชิงเทรา 303 โครงการ สุรินทร์ 338 โครงการ พอมีข่าว ครม.อนุมัติโครงการชาวบ้านต่างดีใจ แต่จนถึงวันนี้ชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ ต่างรอคอย เพราะไม่เห็นเม็ดเงินลงไปสักบาท
ทั้งนี้ ชาวบ้ารอแล้วรอเล่า ที่อนุมัติเงินชาวนา 8.3 หมื่นล้านบาท ยางพารา 2.1 พันล้านบาท 7 พันกว่าล้านบาท รวม 9.3 หมื่นล้านบาท แต่เวลานี้พี่น้องเกษตรกรกลับรอความหวังไมได้อะไรเลย ชาวบ้านต่างทวงถาม หรือทางหลวงแผ่นดินระยะทาง 6.3 หมื่น กม. เมื่อไหร่จะได้ 4 เลนทั่วประเทศ ทางหลวงชนบทมี 1.8 พัน กม. เมื่อไหร่จะได้ถนนดำไว้ขนส่งสินค้าเกษตรกร เพราะเห็นรัฐบาลกู้มา 3.5 แสนล้านบาท และกำลังกู้อีก 2 ล้านล้านบาท หากกู้มาสร้างลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน เกี่ยวกับคมนาคมก็ไม่เป็นไรประชาชนทั้งประเทศจะได้ใช้ ไม่ใช่เอามากระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ รถไฟฟ้าไม่กี่สี คนบ้านนอกไม่มีสิทธิ์มันไม่ใช่ เพราะ 60 ล้านคนเป็นคนจนมากถึง 5.4 ล้านคน แบ่งเป็นอีสาน 2.8 ล้านคน จนจริงๆไม่มีที่อยู่ที่กิน ยังรอคอยความหวัง
นายชัยกล่าวต่อว่า ตนยังเป็นห่วงการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 56 ที่ตั้งงบไว้ 2.4 ล้านล้านบาท มีรายละเอียดโครงการต่างๆ ดีมาก อีก 4 เดือนจะหมดงบประมาณปี 56 แต่ปรากฏว่าการใช้จ่ายของกระทรวงต่างๆ เพียง 57.87% เท่านั้น น่าตกใจเป็นงบลงทุนเพียง 4 แสนล้านบาทเศษ มีการเบิกจ่ายแสนกว่าล้านเท่านั้น อีก 3 แสนล้านเมื่อไหร่จะเบิกจ่าย อบต., อบจ.โวยไม่มีงบพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะเงินอยู่ในกรุงเทพฯ หมด ไม่รู้อยู่กับใคร แต่คงไม่ใช้อยู่นายกฯ เพราะนายกฯ อยู่ต่างประเทศ แต่รัฐมนตรีต่างๆ จึงไม่ติดตาม เช่น กระทรวงคมนาคม ตัวเลขตัดการใช้จ่ายเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 56 พบว่าเบิกจ่ายไปเพียง 34% กระทรวงท่องเที่ยวฯ ใช้จ่าย 25% กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 38% กระทรวงอุสาหกรรม 45.6% กระทรวงวัฒนธรรม 48% กระทรวงเกษตรฯ 48.8% และชาวบ้านจะอยู่อย่างไรเพราะเงินค้างท่อ สำนักนายกฯ เบิกจ่ายไป 59% ก็ต้องเบิกไปให้นายกฯ ไปทัวร์ต่างประเทศ
“จึงขอรัฐบาลเร่งรัดเบิกจ่ายเพราะเป็นเงินภาษีของประชาชนให้มาพัฒนาประเทศ ไม่ใช้รอจนสิ้นปีงบประมาณเหลืองบเบิกจ่ายก็ตัดฝากไปและใช้วิธีประมูลงานด้วยวิธีพิเศษ เพราะแค่งบ 3.5 แสนบาท จะครบกำหนดสิ้น มิ.ย. ก็ยังไม่ทำอะไร มันจะผิดกฎหมาย พอมีการตรวจสอบก็ไม่ผ่านมันจะเกิดปัญหาสำหรับงบปี 57 ตนวิตกว่าทำไมตั้งงบลงทุนน้อยมาก มีแค่ 6 แสนกว่าล้านบาท จึงขอให้รัฐบาลทบทวนปรับลดและมาเพิ่มในงบลงทุนเพื่อการพัฒนาชาติ รัฐบาลบอก พ.ร.บ.เงินกู้ อ้างว่าจะนำเงินมาลงทุน ถ้ากู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ประชาชนต้องจ่ายตั้งต้นและดอก โดยเฉพาะค่าที่ปรึกษาที่แพงมหาโหด ขอให้ปรับลดลงด้วยและจ้างที่ปรึกษาคนไทยมากกว่าคนต่างประเทศ” นายชัยกล่าว
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 57 คือ ข้อมูลในเอกสารที่ใช้พิจารณานี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้แถลงเปลี่ยนประมาณกาลทางเศรษฐกิจไปแล้ว ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกับเอกสาร มีการปรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 4.2-5.2 จากร้อยละ 4.5-5.5 ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างกระทบหมด ทั้งรายรับของรัฐบาล หรือการขาดดุลงบประมาณก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ชี้แจงต่อสภาว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาจากการถดถอยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยประเมินไว้อย่างไร และตนยังเป็นห่วงวิธีการทำงานของรัฐบาลในภาคเศรษฐกิจที่เกิดความขัดแย้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทางที่ดีควรปิดห้องคุยกันไม่ควรโต้กันผ่านสื่อ เพราะจะทำให้มองได้ว่าไม่เป็นมืออาชีพ และต่างประเทศจะขาดความเชื่อมั่น จึงอยากให้รัฐบาลปรับวิธีการทำงาน อย่าเป็นตัวฉุดความน่าเชื่อถือของประเทศ
นายเกียรติกล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาจีดีพี การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้แล้ว นโยบายในงบประมาณครั้งนี้ยังสร้างปัญหาต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ภาคการส่งออกควรไปได้ดีกว่านี้หากทบทวนโครงการที่ล้มเหลว แต่กลับยังมีโครงการที่ทำแล้วล้มเหลวในงบประมาณปีนี้อยู่ อาทิ โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทุกรายการ ซึ่งปีที่ผ่านมามีการส่งออกลดลง ซึ่งโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนโยบายที่ล้มเหลว ซึ่งหากดำเนินการต่อแบบที่เป็นอยู่ประเทศพังแน่ และการส่งออกถดถอยแน่นอน เพราะการส่งออกข้าวในปี 55 ลดลง ในขณะที่มีข้าวล้นประเทศ 15-16 ล้านตัน ทำให้รายได้และจีดีพีของประเทศลดลงอย่างไม่ควรจะเป็น เพราะรัฐบาลใช้นโยบายทำลายตัวเอง รวมทั้งการรับจำนำมันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มก็มีปัญหาทั้งเงินไม่ถึงมือเกษตรกร และการสวมสิทธิ์ จึงอยากถามรัฐบาลว่านโยบายจำนำสินค้าเกษตรประสบความสำเร็จและช่วยเหลือเกษตรกรจริงหรือ ทั้งนี้ปัจจุบันมีการถกเถียงกันเรื่องการใช้เงินในโครงการจำนำข้าว ตนก็มีเอกสารจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งพบว่าเงินที่ใช้ในโครงการจำนำทั้งหมดในปี 2555 สูงถึง 6.7 แสนล้านบาท โดยใช้ในโครงการจำนำข้าว 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งตนมีข้อเป็นห่วงการใช้เงินในโครงการจำนำสินค้าเกษตร เพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งในปี 2537 ประเทศไทยได้ลงนามระหว่างประเทศแล้วว่าการจำนำในประเทศจะใช้เงินไม่เกิน 1.9 พันล้านบาท แต่รัฐบาลทำไป 6.7 แสนล้านบาท ซึ่งก็มีการตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว ก็ได้ข้อสรุปว่าขาดทุน 2 แสนล้านบาท จนเป็นสาเหตุให้หัวหน้าคณะกรรมการชุดนั้นถูกย้าย
“รัฐบาลต้องชี้แจงว่าการที่จะเดินต่อเรื่องนี้ ทั้งที่รู้ว่าผิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์จริงเพราะเหตุใด และที่น่าผิดหวัง คือ โครงการเหล่านี้ในงบปี 57 ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา ขาดทุน 2 แสนล้านบาททุกปี แต่รัฐบาลก็ยังดื้อดึงทำ และไม่มีการอธิบายต่อรัฐสภาว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานในโครงการเหล่านั้นอย่างไรบ้าง แล้วจะให้เราอนุมัติภาษีประชาชนไปละเลง โดยที่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการหลอกชาวนาและทำให้ประเทศเสียประโยชน์ แต่มีคนได้ประโยชน์ คือ โรงสี ที่หลายโรงมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายร้อยล้าน ซึ่งทำให้รถหรูอย่าง เฟอร์รารีกลายเป็นสินค้าขายดีในประเทศแล้ว เพราะลูกหลานของโรงสีต่างๆไปซื้อหลายสิบคัน แต่ปีนี้รัฐบาลก็ยังจะของบทำต่ออีก แต่หากคนในรัฐบาลจะเอาเงินในตระกูลท่านเองมาทำผมอนุมัติให้เลย หากเชื่อว่าโครงการดีจริง”
นายเกียรติยังเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจง กรณีสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีได้รับเงินโฆษณาจากรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง เป็นเงิน 49 ล้านบาท ซึ่ง ปตท. บริษัทเดียวจ่าย 30 ล้าน โดยเจ้าของวอยซ์ทีวีก็มีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ถือหุ้นร้อยละ 55 น.ส.พินทองทา ชินวัตร ถือหุ้นร้อยละ 36 นายพานทองแท้ ชินวัตร ถือหุ้นร้อยละ 6.8
“ผมอยากถามว่านายกฯ ตระกูลอะไร ทำไมมีการเอาเงินจากรัฐวิสาหกิจไปอุดหนุนโฆษณาบริษัทเดียว 49 ล้านบาท จึงต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้ นอกจากนั้นมีการบันทึกในบัญชีปตท.ว่ามีค่ารับรองนายแพทย์ ซึ่งเป็นอดีตเลขาฯ นายกฯ ไปตีกอล์ฟ และมีค่ารับรองคณะรัฐมนตรีทั้งมื้อกลางวันมื้อเย็นเป็นแสนบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินรัฐวิสาหกิจ แต่กลับมาขอเงินภาษีประชาชนซึ่งพวกตนไม่ให้ และรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ต้องชี้แจงเรื่องนี้ และต้องมีการตรวจสอบ”