xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ตอก “โต้ง” ชี้บาทแข็งไม่กระทบส่งออก ยันคนที่เดือดร้อนน่าจะเป็น รบ.ที่รับจำนำข้าวและผู้เสียภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - “ธีระชัย” ยกตัวเลขส่งออก เม.ย. โต 10.52% ตอกหน้ารัฐบาลปู-รองนายกฯ โต้ง ชี้ตัวเลขพิสูจน์บาทแข็งไม่กระทบภาคอุตฯ ส่วนภาคเกษตรกระทบ แต่ที่เดือดร้อนที่สุดไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นรัฐบาลที่รับจำนำข้าวไว้จำนวนมหาศาล แต่ไม่สามารถระบายข้าวออกจากสต๊อกได้ ชี้สุดท้ายก็จะผลักภาระมาให้ผู้เสียภาษีทุกคน

จากกรณีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์ โดยนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยถึงสติถิการส่งออกของประเทศ ในช่วงเดือน เม.ย.2556 ว่า การส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.52 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 18,698 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้วานนี้ (24 พ.ค.) จนถึงช่วงเช้าวันนี้ (25 พ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องดังกล่าวจับมาเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องค่าเงินบาทแข็ง และโพสต์ให้ความเห็นลงในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

ทั้งนี้ กรณีเรื่องค่าเงินบาทแข็ง เป็นกรณีซึ่งฝั่งรัฐบาลทั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษผู้หลบหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ของศาลฎีกา และผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พยายามหยิบยกมาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวมากอย่างที่ควรจะเป็น และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้

จากกรณีดังกล่าว นายธีระชัย อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่าง 9 ส.ค.2554 ถึง 18 ม.ค.2555 ให้ความเห็นไว้ว่า ตัวเลขการส่งออกล่าสุดบ่งชี้ชัดว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นไม่ได้กระทบการส่งออกมากนัก โดยเฉพาะผู้ส่งออกภาคอุตสาหกรรม และแม้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจะกระทบ แต่ผู้ที่เดือดร้อนตัวจริงที่ใหญ่ที่สุด จากกรณีค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นน่าจะเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะ นายกิตติรัตน์ รองนายกฯ ผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีสต๊อกข้าวที่เหลือจากการรับจำนำข้าวจำนวนมหาศาล

“ข่าว นสพ. วันนี้ กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกของเดือนเมษายน 2556 ปรากฏว่า อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.52 ท่านผู้อ่านแปลกใจไหมครับ ทั้งที่มีคนออกมาบ่นว่าบาทแข็งทำให้กระทบส่งออก แต่ตัวเลขการเติบโตล่าสุด การขยายตัวยังพุ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.52

มีคนถามผมว่า แล้วบาทแข็งนี่ผู้ที่เดือดร้อนตัวจริงเป็นใคร

ตัวเลขนี้แสดงว่า ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม น่าจะสามารถปรับราคาสินค้าในสกุลดอลลาร์ให้สูงขึ้นได้ระดับหนึ่ง โดยผู้ซื้อยอมจ่ายแพงขึ้น การส่งออกจึงยังขยายตัวแรงมาก

ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร น่าจะถูกกระทบ เพราะราคาในสกุลดอลลาร์กำหนดโดยตลาดโลก จะไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ตามอำเภอใจ

แต่ผู้ที่เดือดร้อนตัวจริงที่ใหญ่ที่สุด คงจะเป็นรองนายกฯ ที่ดูแลเศรษฐกิจ เพราะข้าวที่มีอยู่มหึมาในสต๊อกนั้นจะขายยากขึ้น และแม้หากขายได้ก็จะได้เงินบาทน้อยลง ยิ่งบาทแข็งขึ้น ยิ่งลมจับมากขึ้นเท่านั้น”


จากนั้นในช่วงเช้าวันนี้ นายธีระชัย ได้เขียนข้อความต่อว่า กรณีมีผู้แสดงความกังวลว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจะกระทบต่อชาวนา ตนเห็นว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจะไม่กระทบต่อชาวนา เพราะชาวนาได้ขายข้าวให้แก่รัฐบาลไปแล้ว ทำให้ผู้ที่ต้องแบกรับภาวะขาดทุนของการจำนำข้าว เนื่องจากการขายข้าวไม่ออกก็คือ คนไทยผู้เสียภาษีทุกคนต่างหาก

“เมื่อวานนี้ ผมเขียนไว้ว่า ส่งออกล่าสุดเดือนเมษายน 2556 ยังขยายถึงร้อยละ 10.5 ถึงแม้จะมีเสียงบ่นว่าบาทแข็งจะกระทบส่งออก แต่ผู้ส่งออกเอกชนก็ไม่เห็นกระทบเท่าไร

จึงมีประเด็นว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด อาจจะเป็นรัฐบาล

รัฐบาลจะขายข้าวในสต๊อกยากขึ้น เพราะถ้าอยากจะได้เงินบาทเท่าเดิม ก็ต้องตั้งราคาขายดอลลาร์สูงขึ้น ทำให้ขายได้ยาก หรือหากไม่ขึ้นราคาขายเป็นดอลลาร์ ก็จะได้เงินบาทลดลง จะขาดทุนมากขึ้น และจะกระทบงบประมาณมากขึ้น

แต่มีผู้อ่านบางคนเข้าใจไปว่า บาทแข็งจะกระทบชาวนา

บาทแข็งไม่กระทบชาวนาครับ เพราะเขาขายข้าวให้รัฐบาลไปแล้ว จึงจะกระทบแต่รัฐบาล และกระทบพวกเราผู้เสียภาษีทุกๆ คน เพราะผู้ที่ต้องรับภาระขาดทุนจำนำข้าวคนสุดท้ายก็คือ ผู้เสียภาษีทุกๆ คนทั้งประเทศนั่นเอง”

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
นโยบายการรับจำนำข้าว ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งสร้างภาระให้กับงบประมาณประเทศมหาศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น