เด็ก พท.ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองต่อ “เจริญ” มีลงชื่อหนุน 163 คน ย้ำล้างผิดปี 49 ถึงปัจจุบัน ตามนโยบายปรองดองรัฐฯ ยก “เป็ดเหลิม” ผู้ริเริ่ม ยันตัด ม.5 เอี่ยวการเงินทิ้ง ชี้ ล้มคดีที่พิพากษาและที่อยู่ช่วงสอบสวน ส่วน 4.6 หมื่นล้าน “แม้ว” คืนแผ่นดิน ยกร่าง “บิ๊กบัง” เทียบไม่ใช่ กม.การเงิน เชื่อไม่ขัด ม.309 อ้าง “เหี้ย” โผล่ร่วมปรองดอง คาด 1 สิงหาฯ เข้าสภา อยู่ที่พรรรคมัดรวมร่างอื่น ชูนายใหญ่สร้างประโยชน์ชาติ ปัดตัวปัญหา ยกร่างนี้แก้ต้นต้อปัญหา “วรชัย” แก้บางส่วน
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม และพ.ต.อณันย์ วัชโรทัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.เพื่อไทยอีก 13 คนเป็นตัวแทนเข้ายื่นร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอร่าง 163 คน
โดยนายพีรพันธุ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องการนิรโทษให้กับความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีในประเทศ ทั้งนี้ยืนยันว่า พ.ร.บ.ปรองดองมาจากการริเริ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ดูแลความมั่นคง
สำหรับเนื้อหาในร่างมีเพียง 5 มาตรา จากที่ทราบกันดีว่าตอนแรกมี 6 มาตรา โดยได้มีการตัดมาตรา 5 ที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่จะไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเพราะเกี่ยวข้องกับการเงินที่นายกจะต้องลงนามรับรองออกไป เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนหัวใจหลักสำคัญ พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้คือ มาตรา 3 ที่ยกเว้นความผิดทั้งหมด ตั้งแต่ 2549 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาที่ตัดสินไปแล้วหรืออยู่ระหว่างการสอบสวนหรือดำเนินการฟ้องร้องอยู่ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ให้ถือว่าไม่มีความผิดต่อไป
สำหรับมาตรา 4 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าทำเพื่อคืนเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทแก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ตนยืนยันว่าเงินจำนวนดังกล่าวศาลได้ตัดสินให้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว หากจะคืนเงินแนวทางที่ทำได้คือไปออกกฎหมายเรียกคืนเท่านั้น
นายพีรพันธุ์กล่าวยืนยันว่าร่างดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินเพราะได้นำบรรทัดฐานจากกรณีที่ประธานสภาฯ ได้เคยประชุมร่วมกับประธาน กมธ.สามัญสภาทุกคณะ ที่เคยวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน ส่วนข้อกังวลว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่รองรับผลพวงจากการรัฐประหารหรือไม่นั้น คิดว่าไม่ขัดแต่ก็ค่อยไปว่ากัน
“ผมยอมรับว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณได้รับผลกระทบมากที่สุด หากพวกเราไม่ใส่ใจท่าน ต่อไปจะอยู่ได้อย่างไร” นายพีรพันธุ์ตอบคำถามนักข่าวถึงกรณีว่างานนี้จะผลักดันแน่นอนไม่หลอก พ.ต.ท.ทักษิณอีกหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) เกิดปรากฏการณ์ตัวเงินตัวทองอยู่บนเพดานโถงอาคารรัฐสภา 1 ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่แถลงข่าวในวันนี้จะถือเป็นลางบอกเหตุทางการเมืองอย่างไรหรือไม่ นายพีรพันธุ์หัวเราะก่อนตอบว่า ตัวเงินตัวทองรู้ว่าพวกเราจะมายื่นก็จะมาขอปรองดอง
“ขนาดเหี้ยยังอยากปรองดอง แล้วคนอย่างเราจะไม่ปรองดองได้อย่างไร” นายพีรพันธุ์กล่าวและว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม มีแนวโน้มว่าอาจจะเลื่อนระเบียบวาระเมื่อเปิดประชุมสภาในวันที่ 1 สิงหาคมแล้ว แต่อาจจะต้องไปหารือกับพรรคอีกครั้งว่าจะไปไว้รวมกับร่าง พ.ร.บ.ของนายวรชัย หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ ที่อยู่ในระเบียบวาระของสภา
พ.ต.อณันย์กล่าวว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดความปรองดอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนับหนึ่ง และพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาและความขัดแย้งแต่เป็นเป้าหมายที่ถูกจำกัด และ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต่างจากผู้นำในยุคตุลา 16 เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีได้ทำประโยชน์ให้ประเทศมากมาย ดังนั้นเมื่อกฎหมายเข้าสภา หากเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็จบ และยืนยันว่าไม่เป็นการสับขาหลอกกับร่างนายวรชัย เพราะร่าง ร.ต.อ.เฉลิมเป็นการล้างต้นเหตุของปัญหา แต่ร่างของนายวรชัยเป็นการบรรเทาปัญหาแค่บางส่วนเท่านั้น
“วันนี้มีแต่เผด็จการเสียงข้างน้อยออกมาขัดขวาง หากเสียงข้างมากทำไม่ถูก ก็จะทำให้กลายเป็นเสียงข้างน้อย แต่หากเสียงข้างน้อยทำไม่ถูกก็จะเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ เพื่อนๆ ทะเลาะกันทุกวัน พ่อแม่จะไม่ทุกข์ใจหรือ เพราะวันนี้ผู้ที่คัดค้าน มีอยู่ 2 ส่วน คือ คนที่ไม่เข้าใจกับคนที่เสียประโยชน์” พ.ต.อณันย์กล่าว
โดยร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... 5 มาตรา มีรายละเอียดดังนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวในระหว่าง พ.ศ. 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากมีการกระทำใดเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำนั้น ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ในกรณีที่ผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง
ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกันระงับ หรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ การชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หมายความว่า การกระทำหรือการแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้อง และให้หมายความรวมถึงการยึดหรือปิดสถานที่เพื่อประท้วง การต่อสู้ขัดขืนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประทุษร้ายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
มาตรา 4 บรรดาการกล่าวหาการกระทำความผิดบุคคลใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หรือจากคณะบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นใด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใด ให้ถือว่าเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมือง และให้การกล่าวหาการ
กระทำความผิดนั้นเป็นอันระงับไป โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้นำความในมาตรา 3 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หมายเหตุ : มาตรา 5 (เดิม) ที่ตัดออกไป // ในกรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด