พบตัวเงินตัวทองตัวใหญ่กว่า 2 เมตร โผล่ขึ้นไปอยู่เพดานห้องโถงอาคาร 1 รัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่สภา และสื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการยื่น พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
วันนี้ (22 พ.ค.) ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 10.45 น.ได้เกิดเหตุตัวเงินตัวทอง ความยาวประมาณ 2 เมตร มีลักษณะเด่นที่หางกุด คลานขึ้นไปอยู่บนตะแกรงฝ้าเพดานภายในห้องโถง ซึ่งเป็นส่วนที่มีการทำเป็นช่องแอร์และเส้นทางของสายไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งไม่ทราบว่าตัวเงินตัวทองดังกล่าวเข้ามาอยู่ภายในรัฐสภาตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่าหลังจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ตัวเงินตัวทองต้องการหลบอากาศที่ร้อนบริเวณภายนอกอาคารรัฐสภา เพราะแหล่งน้ำมีน้อย
ซึ่งการเข้ามาอาศัยอยู่ภายในอาคารของตัวเงินตัวทองดังกล่าว สร้างความสงสัยให้กับผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ว่าตัวเงินตัวทองขนาดใหญ่ เข้ามาอยู่บนฝ้าเพดานได้อย่างไร หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเข้ามาอยู่ตั้งแต่ตัวขนาดเล็กและเช่นเคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ว่าการปรากฏตัวของตัวเงินตัวทองครั้งนี้ อาจจะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงในช่วงนี้ รวมถึงการคาดการณ์ว่าในวันพรุ่งนี้จะมีการยื่น พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ร.ต.อเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสาคาม พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยื่น โดยทางสภาได้จัดสถานที่ในการยื่นกฎหมายดังกล่าวในบริเวณห้องโถงที่ตัวเงินตัวทองขึ้นไปอยู่บนช่องแอร์ด้วย
แม้ว่าเหตุการณ์ตัวเงินตัวทองที่ปรากฏตัวภายในรัฐสภานั้น จะถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ตาม เนื่องจากอยู่ใกล้กับสวนสัตว์ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวก็มีการอาศัยอยู่ของตัวเงินตัวทองเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากในช่วงระยะหลังนี้เกิดเหตุการณ์ประหลาดภายในรัฐสภาบ่อยครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่กิ่งต้นประดู่ขนาดใหญ่หักโค่นลงมาทับรถตู้ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 2 คัน
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เปิดฝ้าเพดาน 1 ช่อง และใช้ไม้ขนาดยาวเขี่ยให้ตัวเงินตัวทองลงมาตามช่องที่เปิดไว้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล เนื่องจากทางเดินมีขนาดเล็กและมีข้าราชการ และสื่อมวลชนให้ความสนใจดูเหตุการณ์จำนวนมาก จนทำให้ตัวเงินตัวทองอยู่ในอาการตกใจและวิ่งหนีหลายครั้ง จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องประสานงานไปยังสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) ให้นำอุปกรณ์มาจับตัวเงินตัวทองตามวิธีการที่ถูกต้อง ก่อนนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ