“วิชา” จวก “แม้ว” ดิสเครดิต งัดอาญา ม.157 ขู่จี้เปิดตัวคนเรียกสินบนเป่าคดีซุกหุ้น ยัน “ไอ้แอ๊บ” ไม่อยู่ในสารบบ ป.ป.ช. ชี้งบสู้น้ำ 3.5 แสนล้านช่องโหว่เพียบ ตั้งราคากลางลอยๆ ขัด กม.ชัด เล็งร่อน จม.แนะรัฐทบทวนทีโออาร์ พร้อมส่งทีมงานเกาะติดในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 พ.ค. นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อ้างว่าเคยมีบุคคลจาก ป.ป.ช.เสนอรับสินบนจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อไม่ส่งฟ้องคดีซุกหุ้น เมื่อปี 2542 ว่า เรื่องดังกล่าว ป.ป.ช.ได้ออกแถลงการณ์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อเอาผิดต่อผู้ที่เรียกรับสินบนแล้ว แต่หาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายการกระทำผิดเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ เลย
“อยากเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเปิดเผยข้อมูลหลักฐานแก่สาธารณะ เพราะถือว่าสิ่งที่พูดออกมาสร้างความเสียหายกับ ป.ป.ช.อย่างร้ายแรง ส่วนนายแอ๊บที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างถึง ยืนยันว่าไม่ใช่คนของ ป.ป.ช.และไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน” นายวิชาระบุ
อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ นายวิชาได้ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ต่อต้านคอร์รัปชัน” ซึ่งจัดโดยสถานทูตสวีเดน โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบการทุจริตของประเทศไทยว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกาศใช้ ได้มีการจัดตั้งในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อต้องการให้มีกระบวนการตรวจสอบทุจริตทุกระดับชั้น ซึ่งช่วงแรกจะมีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาหน้าที่ ป.ป.ช.จังหวัดจำนวน 32 จังหวัดก่อน และจะดำเนินการคัดเลือกจังหวัดส่วนที่เหลือให้ครบ 76 จังหวัดภายในปี 2556 นี้ เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกบุคคลต้องทำอย่างรัดกุม
นายวิชากล่าวอีกว่า นอกเหนือจากรับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบการทุจริตแล้ว ป.ป.ช.จังหวัดยังจะมีหน้าที่ในการปลูกฝังองค์ความรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นจากสถานศึกษาระดับต่างๆ เบื้องต้นนั้นได้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการ โดยบรรจุเนื้อหาเข้าสู่หลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งในอนาคตทาง ป.ป.ช.ตั้งเป้าว่าจะขยายไปสู่สถานการศึกษาในระดับอื่นๆอีกด้วย
นายวิชายังได้กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลริเริ่มแนวคิด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีหลายๆจุดที่อาจขัดหลักกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคากลาง เพราะตามมาตรา 103/7 ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช.กำหนดให้ต้องมีการคำนวนราคากลางไว้อย่างชัดเจน แต่ตามทีโออาร์ของโครงการเป็นการกำหนดตัวเลขลอยๆไว้ อาจทำให้เกิดการทุจริตภายหลังจากที่เริ่มดำเนินโครงการไปแล้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา ซึ่ง ป.ป.ช.ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อจัดทำเป็นข้อสังเกตส่งให้ทางรัฐบาลนำไปทบทวนรายละเอียดต่างๆของโครงการ นอกจากนี้หากมีการดำเนินโครงการแล้ว ป.ป.ช.ก็จะส่งคณะทำงานลงไปเกาะติดใ นพื้นที่อีกด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนักโทษหนีคดีกล่าวต่อที่ชุมนุมคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ในทำนองว่ามีคนของ ป.ป.ช.เรียกเงินจากเขา 600 ล้านบาทเพื่อแลกกับการยุติคดีซุกหุ้นภาคแรก
เอกสารชี้แจงของ ป.ป.ช.ระบุว่า ตามที่มีข่าวแพร่หลายในสื่อมวลชนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สไกป์มายังเวทีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในงานชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 3 ปีที่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า “ในปี 2542 ได้เคยมีคนของ สำนักงาน ป.ป.ช. ชื่อนายแอ๊บ ยื่นข้อเสนอขอเงิน 600 ล้านบาท กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีซุกหุ้น ในช่วงก่อนการเลือกตั้งสมัยแรกของตน พรรคไทยรักไทย แต่ตนได้ตอบปฏิเสธไป” นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและเสียหายอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. และกระทบต่อความรู้สึกของบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ตลอดเวลาที่ผ่านมาบุคลากรทุกระดับปฏิบัติงานโดยปราศจากแรงกดดันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น และยึดมั่นการทำงานอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงตามกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้ข้อมูลพยานหลักฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และต้องทำให้สังคมเห็นชัดว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง เป็นธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชน อันเป็นจุดยืนในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ทุกคน
สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อมูลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า “คน ป.ป.ช. เรียกเงิน 600 ล้าน จากตนเพื่อช่วยเหลือคดีซุกหุ้น” นั้น ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย ซึ่งสามารถดำเนินคดีกับบุคคลนั้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าวในข้อหาเจ้าพนักงานทุจริตตามมาตรา 149 และ 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็หาได้กระทำไม่
ในเวลาปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังไม่หมดอายุความ ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมสามารถนำพยานหลักฐานมาแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่ไปเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือคดีซุกหุ้นได้เช่นกัน แต่กลับไม่ดำเนินการ จึงขอเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยข้อมูลให้กระจ่างแจ้งต่อสาธารณชน โดยมอบหมายให้ทนายความแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อเอาผิดกับบุคคลดังกล่าว หากนิ่งเฉยไม่ดำเนินคดีย่อมมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157