xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สั่งหาที่ดินทำกิน “กลุ่มพีมูฟ” - ไฟเขียวแก้ประเภทยาเสพติด “กัญชง” รับพืชเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลประชุม ครม.วันนี้ นายกฯ สั่งกระทรวงทรัพย์หาที่ดินทำกินช่วย “กลุ่มพีมูฟ” อนุมัติงบฯ 830 ล้านให้ ก.เกษตรฯ จัดนิทรรศการที่อิตาลี เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย อีกด้านให้ “กัญชง” อยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมเสพติดประเภท 5 ต้องขออนุญาต สธ.เป็นกรณี หนุนส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ อนุมัติเอ็มโอยูความร่วมมือระบบราง “ไทย-เกาหลี” รองรับรถไฟความเร็วสูง

วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กระบวนการประชาชนเพื่อสังคมสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ได้เดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยและยินดีช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้กำชับไปยังคณะกรรมการแก้ไขปัญหากระบวนการประชาชนเพื่อสังคมสังคมที่เป็นธรรม ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยให้เร่งดำเนินการรับฟังข้อเสนอของมวลชน และให้มีการแก้ปัญหาโดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้ตัง นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการฯ เพื่อทำงานแทน ร.ต.อ.เฉลิม ขณะติดภารกิจ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งไปยัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ติดตามการจัดสรรที่ดินทั่วประเทศด้วย โดยให้นำข้อมูลทั้งหมดมอบผ่าน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปชี้แจงแก่ประชาชนว่าได้รับการดำเนินการแก้ไขแล้ว

ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มจัดทำโครงการผลิตขาเทียม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ผลิตขาเทียมในประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการทำขาเทียม และมีต้นทุนในการผลิตต่ำ โดยเรื่องดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่าสำนักเลขานายกฯควรประสานขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถ กระทรวงคมนาคม แต่ถ้าหากงบของรัฐบาลไม่เพียงพอก็ควรจะขอการส่งเสริมจากภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากผู้ทุพพลภาพที่ไม่สมบูรณ์ทางร่างกายจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคม

อีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณการจัดงาน Universal Exhibition Milano2015 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี วงเงินรวม 830,935,600 บาท โดยใช้จ่ายตามรายการและก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ วงเงิน 55,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาดูแล ควบคุมงาน ออกแบบก่อสร้าง และการจัดการนิทรรศการ ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 วงเงิน 39,045,600 บาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งอาคาร จัดนิทรรศการ รื้อถอน และการจัดการนิทรรศการ ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 ในวงเงิน 736,890,000 บาท

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการนำเงินบริจาคสมทบกองทุนเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Programme Fund : AYPF) โดยมีจำนวนเงินก้อนแรก (InitialAmount) เป็นจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่จะนำส่งเข้ากองทุนในปีต่อไปให้ขึ้นกับข้อกำหนดและฉันทามติของประเทศสมาชิกอาเซียน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวต่อว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจะต้องขอรับใบอนุญาต และจะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย” และคำว่า “จำกัด” หรือ “จำกัด (มหาชน)” ต่อท้าย แล้วแต่กรณี

โดยกำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ต้องสวมเครื่องแบบและติดเครื่องหมายพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ และหน้าที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โทษทางปกครอง การอุทธรณ์ กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ มีบทกำหนดโทษอาญา รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย การจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการใช้ชื่อบริษัทรักษาความปลอดภัย

“กฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้การประกอบธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ทำธุรกิจนี้จะต้องขอรับใบอนุญาตและตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด มีการอบรมพนักงานตามมาตรฐาน... ปัจจุบันมีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ราว 2.5-3 แสนคนทั่วประเทศ อีกทั้งจะเป็นการคุ้มครองธุรกิจดังกล่าวให้มากขึ้นด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว

ด้านนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ทำหนังสือสรุปรายงานมาตรการการดูและรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รอบเดือน มี.ค. 2556 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็นคดีอาญา 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. คดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ มีการรับแจ้งคดีทั้งสิ้น 367 คดี พบว่าได้รับแจ้งลดลงร้อยละ 19 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับแจ้งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6 สามารถจับกุมได้ 177 คดี คิดเป็นร้อยละ 48 ของการรับแจ้ง แต่เป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 62 ผลการปฏิบัติจึงไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด 2. คดีคดีประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกายและเพศ มีการรับแจ้งคดีทั้งสิ้น 1,878 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับแจ้งลดลง ร้อยละ 20 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ได้รับแจ้งลดลง ร้อยละ 0.1 สามารถจับกุมได้ 916 คดี คิดเป็นร้อยละ 48 ของการรับแจ้ง แต่เป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 63 ผลการปฏิบัติจึงไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

3. คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ คดีคดีประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย และเพศ มีการรับแจ้งคดีทั้งสิ้น 3,828 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับแจ้งลดลง ร้อยละ 11 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ได้รับแจ้งลดลง ร้อยละ 1 สามารถจับกุมได้ 1,442 คดี คิดเป็นร้อยละ 37 ของการรับแจ้ง แต่เป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 47 ผลการปฏิบัติจึงไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจากผลการดำเนินการของ สตช. ในรอบเดือน มี.ค. พบว่าในด้านป้องกันอาชญากรรมในภาพรวม สามารถควบคุมให้อยู่ในระดัเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ ส่วนด้านการปราบปรามอาชญากรรม ทุกกลุ่มคดีมีผลปฏิบัติไม่ผ่านเกณฑ์ที่วางไว้ สตช.จึงได้สั่งการ และกำชับให้หน่วยปฏิบัติพิจารณาระดมกวาดล้างอาชญากรรม เป็นประจำทุกเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 5 วัน และมีการเร่งจับกุมคดีค้างเก่าอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน ครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า 1. ปัจจุบันพืชกัญชงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ซึ่งประกาศฯ กำหนดให้กัญชา (Cannabis) ซึ่งหมายความรวมถึงทุกส่วนของพืชกัญชา(Cannabis sativa L. และ Cannabis indica Auth)และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ใบ ดอก ยอด ผล ยาง และลำต้น เป็นต้น เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ดังนั้น พืชกัญชง ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ssp. sativa จึงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ด้วย

2. ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดให้การขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จะต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.สาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นรายๆ ไป 3.ในการประชุมคณะกรรมการประสานงาน และสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) คณะกรรมการฯ มีความเห็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการปรับแก้กฎหมายเพื่อควบคุมและส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง (เฮมป์) เป็นพืชเศรษฐกิจ และรายงานความคืบหน้าต่อ (ครม.) อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณ (สธ.) ได้พิจารณากรอบระยะเวลาการดำเนินงานการออกประกาศฯ และจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ ดังนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556

“กัญชงเป็นญาติของกัญชา จึงต้องอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมเสพติดประเภทที่ 5 ตอนนี้โครงการหลวงได้ทดลองปลูกเพื่อนำใยซึ่งเหนียว และสามารถทดแทนฝ้ายได้ จึงเสนอคณะกรรมการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้สนับสนุนแก้ไขกฎหมายให้ปลูกกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายชลิตรัตน์กล่าว

ส่วนนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอดังนี้ 1.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงที่ดิน การขนส่ง และกิจการทางทะเลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี 2. อนุมัติให้ รมว.คมนาคม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย

นายภักดีหาญส์กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ สรุปได้ดังนี้ 1. ขอบเขตและกิจกรรมความร่วมมือ ให้มีกิจกรรมพัฒนาระบบรางในลักษณะให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือระหว่างกัน พัฒนาล้อเลื่อนสมัยใหม่ รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณและระบบสื่อสารสำหรับระบบราง พัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ศูนย์โลจิสติกส์และศูนย์สินค้า และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น 2. การประชุมความร่วมมือระบบราง จะจัดประชุมสลับกันระหว่างสองประเทศ โดยแต่ละฝ่ายมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 3. ความตกลงฉบับนี้ไม่มีเจตนาให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ 4. ข้อพิพาทใดที่เกิดจากการตีความตามบันทึกความเข้าใจนี้ จะดำเนินการแก้ไขโดยสุจริตจากสองฝ่าย อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามที่ได้ลงนามระหว่างสองฝ่าย จะต้องบรรจุข้อบทว่าด้วยการระงับข้อพิพาทลงไปด้วย และ 5. บันทึกความเข้าใจนี้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนาม มีอายุ 3 ปี และอาจมีการต่ออายุได้อีก 2 ปีตามความเห็นของทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน ครม.มีมติแต่งตั้งนายขจร วีระใจ รองอธิการบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และครม.ยังมีมติแต่ตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 7 คน ได้แก่ 1. นายไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการ 2. นายณรงค์ศักดิ์ ผ้าเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3. นายอารี สวัสดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5. นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. นางภูวษา สินธุวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ 7. น.ส.นิลุบล เครือนพรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเสนอ

นอกจากนี้ ครม.ได้มีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจำนวน 8 คน ได้แก่ 1. รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ 2. นายจิโรจ สินธวานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3. ศ.เกียรติคุณ ถิรพัฒน์ วิลัยทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. นางพรรณี แสงสันต์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5. ผศ.พรสวาท วัฒกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. นายวีระยุทธ ปั้นน่วม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7. นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8. นายสุเมธ แย้มนุ่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำหนังสือ “ ยุทธศาสตร์ประเทศไทย” มาวางที่ห้องทำงานของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล โดยหนังสือดังกล่าวสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดทำ ซึ่งจัดพิมพ์จำนวน 150,000 เล่ม มี 72 หน้า เป็นสีสีทั้งเล่ม โดยเนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของรัฐบาลในปีแรก อุปสรรค์ทั้งภายนอกและภายใน โอกาสที่หายไป การแก้ไขปัญหาภายในการดำเนินงานในปีแรก อาทิ ปัญหาน้ำท่วม นโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ การเรียกความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและประชาชนกลับคืนมา อัตราการว่างงาน และผลลัทธ์การดำเนินงานในปีแรก จากนั้น เป็นการขับเคลื่อนนโยบายในปีที่ 2 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันพัฒนาโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และ ไอซีที 2. ยุทธศาสตร์การลดความเลื่อมล้ำ 3.การสร้างความเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 4. การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเร่งด่วนก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาทิ เรื่องนโยบายการคลังที่ยกระดับการแข่งขันของประเทศ





กำลังโหลดความคิดเห็น