xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพปัดข้อเสนอ BRN หวั่นยกระดับ “โอ๋” ป้อง “ปู” ด่าทหาร ชี้ ศาลยุติธรรมเริ่มที่ตั้งคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม(แฟ้มภาพ)
รมว.กห.เรียกเหล่าทัพถกข้อเสนอ BRN ยันสร้างสันติต่อ แยกเรื่องเจรจา ขอสู้ในกติกา รบ.ต้องฟัง กห.ซัด โจรใต้ยิงรถพยาบาล 3 พ.ค.ลงใต้ มติกองทัพไม่รับ 5 ข้อเสนอ หวั่นยกระดับ ห้ามต่างชาติจุ้น ไม่ปล่อยนักโทษ โยน สมช.ถกแผนคุยต่อ กห.ชงข้อเสนอทหารถึงนายกฯ ปัด “ปู” จ้อมองโกฯกระทบมั่นคง หนุนสไนเปอร์ยิงแดงเรื่องจริง ทำมึนแดงขู่จับตุลาการ ยกความยุติธรรมเริ่มที่ตั้งคน อ้างไทยขาดเสถียรภาพ ชี้ ศาลถูกจับตา “ดาว์พงษ์” พิสูจน์ต่อใครยิง “พลฯณรงค์ฤทธิ์”

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และผู้แทนของแต่ละเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมพิจารณากำหนดนโยบายแนวทางการประสานงาน และการปฏิบัติร่วมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากที่ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นได้มีการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อในการพูดคุยร่วมกัน โดยใช้เวลาในการประชุม 1 ชั่วโมง ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีการหารือในเรื่องความมั่นคงหลายด้าน เช่น เรื่องประสาทพระวิหาร เรื่อง 3 เกาะ จ.ระนอง ที่มีปัญหากันอยู่ และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเรื่องภาคใต้ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องการเจรจาก็ว่ากันไป แต่การปฏิบัติงานเพื่อให้ภาคใต้มีความสันติสุขต้องทำต่อไป และต้องดำเนินการให้เป็นเส้นขนานกันไป ไม่ตัดออกจากกัน นอกจากนี้ยังมีการประสานไปยังตำรวจเกี่ยวกับการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปในพื้นที่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในภาคใต้มีความสามัคคี และมีความเข้าขากันดี แต่งานมีความซับซ้อนทั้งในส่วนความมั่นคง งานพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม จึงอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันบ้าง และทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป ขอย้ำว่า เรื่องงานในภาคใต้เราจะทำอย่างเต็มที่และต้องดีขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ยื่นข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพ 5 ข้อ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เขาเสนอผ่านทางเว็บไซต์ ถือเป็นเรื่องการพูดคุย ก็พูดคุยกันไป ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลว่า ส่วนไหนรับได้ และส่วนไหนรับไม่ได้ ตนคงไม่แสดงความคิดเห็นส่วนนี้ อย่างไรก็ตามฝ่ายเราได้แสดงออกในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องความจริงใจว่า เรามีกฎหมายมาตรา 21 อยู่ หากจะมอบตัวก็พร้อมจะให้ประกันตัวได้ ซึ่งตรงกับข้อหนึ่งที่เขาเรียกร้องมา แต่จะให้ปล่อยตัวคิดว่า เกินไป คงทำไม่ได้ เพราะบ้านเมืองเรามีขื่อมีแป ขอให้สู้กันตามกติกาที่ว่าไว้ ในส่วนข้ออื่นๆ นั้น ขอให้หน่วยงานอื่นไปพิจารณากัน ส่วนของทหารต้องติดตามและรับทราบข้อมูลว่า ผลการพูดคุยเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วทางรัฐบาล และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต้องถามความเห็นทางกองทัพใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนจะบอกนายกรัฐมนตรีเอง แต่จะไม่บอกสื่อมวลชน ตนบอกสื่อตรงนี้ไม่ได้ เพราะการพูดคุยไม่ควรนำมาเปิดเผยทุกข้อ การพูดคุยต้องมีความลับกันบ้าง ทั้งนี้คงบอกไม่ได้ว่า กองทัพยอมรับ หรือไม่ยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว คงบอกไม่ได้ว่า ข้อนี้รับหรือไม่ไม่รับ พูดเองไม่ได้ เป็นเรื่องของหลายหน่วยงานที่ต้องมาพูดคุยกัน แต่สุดท้ายรัฐบาลต้องฟังความเห็นของกระทรวงกลาโหม ซึ่งตนจะรอบอกนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า จะเป็นการล้มการเจรจาหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อไม่ได้ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า สื่อเป็นคนพูดเองว่า ไม่รับ ตนไม่ได้บอก แต่ถือเป็นเรื่องที่เขาเสนอมา เรามาวิเคราะห์กัน ไม่ได้ให้น้ำหนักมากมายอะไร ทั้งนี้ตนไม่มีสิทธิ์ไปล้มโต๊ะเจรจา แต่การมีการพูดคุยดีกว่าไม่พูดคุย ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ยิงรถพยาบาลที่ อ.รามัน จ.ยะลา นั้น อยากให้ประณามคนที่ดำเนินการว่า เป็นการกระทำที่สะเปะสะปะ ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งมั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้รักษาผู้ป่วย อย่าคิดว่า ยิงไปครั้งเดียวแล้วเขาจะหมดกำลังใจ เพราะขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานยังดีอยู่ เพราะเขาลงไปปฏิบัติหลายปีแล้ว คงไม่มีความกลัว ทั้งนี้ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ตนจะเดินทางลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น โดยในที่ประชุมไม่ยอมรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะมองว่า การยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการยกระดับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ส่วนกรณีที่บีอาร์เอ็นต้องการให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ทางกองทัพมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศมาเลเซียเข้ามาแทรกแซง เพราะนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซงในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากทางกองทัพยังต้องการให้การแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องภายในประเทศ สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้องค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) เข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเจรจานั้น ทางกองทัพมองว่าถือเป็นการให้องค์กรนานาชาติเข้ามาแทรกแซง ซึ่งขัดกับนโยบายในการแก้ไขปัญหา ส่วนข้อเสนอที่ให้ทางการไทยปล่อยนักโทษทั้งหมดนั้น ก็ไม่สามารถกระทำตามข้อเสนอได้ เพราะบางคดีมีคำพิพากษาตัดสินโทษไปแล้ว หากมีการปล่อยอย่างไร้เงื่อนไข ถือว่าขัดต่อกฎหมายของไทย อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่แนวร่วมกระทำผิดกฎหมายแต่ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาอาจพิจารณาลดโทษให้ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่า ต้องการให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ไปพิจารณาแนวทางที่จะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อไปได้ ทั้งนี้ รมว.กลาโหมจะนำผลการพูดคุย ข้อเสนอของทางกองทัพนำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษที่ประเทศมองโกเลียว่า รัฐประหารทำให้ประเทศไทยถอยหลังว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำรัฐบาล รวมทั้งผู้สื่อข่าวก็ได้สอบถามเรื่องนี้กับตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองได้บอกรายละเอียดวัตถุประสงค์แล้วว่าเป็นอย่างไร ตนไม่ขอก้าวล่วงไปวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้ขอให้เข้าใจ แต่ใครจะแปลเป็นอย่างอื่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนที่นายกรัฐมนตรีกล่าวพาดพิงถึงการใช้อาวุธปืนสไนเปอร์ปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2553 และระบุว่าผู้เสียชีวิต 91 คนเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น ที่ผ่านมาเป็นเรื่องจริงที่ใครก็รู้ แม้แต่ผู้สื่อข่าวก็ทราบ ต้องเข้าใจ แต่วันนี้และเวลานี้มันไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในอดีตให้เรา แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่ศาลชี้ว่าการเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาระ ในเดือน เม.ย.ปี 53 ที่อนุสรณ์สถาน เกิดจากกระสุนความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ว่า เรื่องนี้ทางกองทัพบกจะให้ทีมโฆษกชี้แจงในรายละเอียด ซึ่งจากที่ศาลตัดสินก็เป็นเหมือนเดิม และกระบวนการทั้งหมดก็ต้องเดินหน้าต่อไป ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมยังอยู่ในชั้นไต่สวน ยังไม่ได้ระบุในข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า ใครเป็นคนยิงกระสุนปืน หากชั้นไต่สวนเสร็จก็ต้องนับหนึ่งในกระบวนการต่อไป ซึ่งสุดท้ายเรื่องทั้งหมดต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจับตัว 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องว่ากันไป ใครทำอะไรมาก็ต้องรู้ เพราะสังคมจับตาอยู่ เรื่องนี้ต้องไปว่ากัน เรื่องมันยาว เล่าไม่จบ ส่วนที่มีการมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลนั้น คิดว่าหน้าที่ของใครก็หน้าที่ของมัน เรื่องศาลต้องดำเนินการต่อไป แต่ทุกคนก็จับตาดูศาลจะตัดสินอย่างไรประเทศไทยมีครบหมดทุกอย่าง มีความพร้อมเป็นศูนย์กลาง แต่ขาดเพียงอย่างเดียวคือเสถียรภาพภายในประเทศ ที่ขณะนี้ก็เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เราบั่นทอนตัวเราเอง ทั้งที่ต่างประเทศอยากกระโดดเข้ามา

เมื่อถามว่าโดยส่วนตัวยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล หัวเราะและกล่าวว่า อย่าให้ตนตอบเลย หลายคนที่นั่งอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็ทราบว่าอะไรคืออะไร ตนคิดว่า ตราชั่งเปรียบเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจ มันมีจุดเดียวที่ทำให้คานเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนที่จะเป็นเหมือนตราชั่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความยุติธรรมต้องเริ่มจากกระบวนการการคัดเลือกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ ทุกอย่างต้องมีความพร้อมและความยุติธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น