“ประยุทธ์” ควง “ยุทธศักดิ์-ดาว์พงษ์” ลงใต้ตามบัญชานายกฯ เพื่อติดตามการปฏิบัติงาน ไม่หนักใจ “เฉลิม” ตั้งกลุ่มวาดะห์เป็นที่ปรึกษาแก้ใต้ บอกเป็นสิ่งที่ดีจะได้ฟังข้อเสนอจากหลายด้าน ปัดวาดะห์ชี้นำใช้ ม. 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พร้อมวอนสื่ออย่าโหมไฟใต้แรง ระบุเหตุการณ์ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ที่มีการฆ่ารายวัน แค่บริบทต่างกัน ด้าน “บิ๊กอ็อด” ระบุสมัยเป็นรองนายกฯไ ม่คิดตั้งกลุ่มวาดะห์ เหตุบางคนไม่ทราบประวัติที่ชัดเจน เผย “ยิ่งลักษณ์” เอาจริงใช้ ม.21 แก้ปัญหา สั่งปรับปรุงให้กระแทกใจโจร ย้ำยุทธศาสตร์ดับไฟใต้เดินถูกทางแล้ว แต่ยุทธวิธีต้องปรับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีว่า เป็นการเดินทางไปตรวจสอบการปฏิบัติงานตามนโยบาย ซึ่งเป็นไปตามห้วงระยะเวลา สำหรับการเดินทางครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน) ได้มอบหมายให้ตนและพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. ลงไปติดตามการปฏิบัติการในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น แผนงานที่ได้ดำเนินการอยู่ ทั้งการบูรณาการกำลังพล งานพัฒนาที่มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ความรุนแรง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การไปครั้งนี้จะไปพบกับผู้ปฏิบัติงานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พลเรือน และทหารในสายงานความมั่นคงเพื่อทำความเข้าใจนโยบายที่กำหนดมาตั้งแต่ต้นว่าอยากให้ระดับล่างถึงระดับผู้ปฏิบัติได้เข้าใจเหตุผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งสอบถามข้อสงสัยของผู้ปฏิบัติ เพราะเกรงว่าผู้ปฏิบัติจะไม่เข้าใจในบางเรื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวหลายทาง จึงเกรงว่าจะเกิดความไม่เข้าใจในการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายังใช้ยุทธศาสตร์เดิม คือ การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่กำหนดโดย สมช. ที่มี กอ.รมน. และ ศอ.บต.เป็นผู้ปฏิบัติทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ รวมถึงแผนงาน 9529
“คิดว่าการทำงานจะไม่สับสนเพราะได้แบ่งการทำงานชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือจะดำเนินการอะไรจะต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ก่อน แต่ยอมรับว่า ไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เรามีชุดประเมินจาก กปต.ลงไปติดตามการทำงานของแต่ละหน่วยงาน การแก้ไขปัญหาภาคใต้ไม่ใช่การดูแลความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่มานับว่ามีระเบิดกี่ครั้ง การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องมีการพัฒนา การสร้างความเข้าใจ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเปิดช่องทางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ”
สำหรับเหตุการณ์ผู้ก่อความไม่สงบขว้างระเบิด และยิงถล่มใส่ฐานทหารที่ร้อย ร.5032 ร.5 พัน 2 ประจำ ฉก.ยะลา 11 อ.เมือง จ.ยะลา ขณะที่ทหารเล่นกีฬาจนมีทหารได้รับบาดเจ็บหลายนายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่ระวังก็ต้องโดน ตนได้ย้ำหลายครั้งแล้วว่า การจะเล่นกีฬา หรือการรวมพลต้องระมัดระวังตนเอง เจ้าหน้าที่จะเผลอไม่ได้ หากเผลอต้องได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะต้องไปเตือนย้ำอีกครั้งหนึ่ง ในบางครั้งสิ่งที่เป็นปัญหา คือ เราทำงานในที่เปิด และมีความคุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่จึงขาดความระมัดระวัง ดังนั้น ทุกคนต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า ฝ่ายตรงข้ามต้องการที่จะทำอันตรายเราอยู่ ไม่ว่าจะที่ใดก็ตามต้องระวังเป็นพิเศษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หนักใจหรือไม่ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตั้งกลุ่มวาดะห์ขึ้นมาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรหนักใจ ถ้าหนักใจคงทำงานไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องหนักแน่น และสื่อต้องหนักแน่นเช่นเดียวกัน การจะตั้งที่ปรึกษาเป็นเรื่องของแต่ละฝ่าย ซึ่งสามารถตั้งใครมาก็ได้ ทั้งนี้ ต้องให้เวลาทำงาน และดูว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร คิดว่า ก็มีประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา การตั้งที่ปรึกษาก็มีหลายระดับ ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. รองนายกรัฐมนตรี ก็มีที่ปรึกษา และขณะนี้มีที่ปรึกษาหลายที่ หลายกลุ่ม ไม่ได้มีกลุ่มวาดะห์เพียงอย่างเดียว เพราะมีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งประชาชน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนไทยพุทธ และไทยมุสลิมมาเป็นที่ปรึกษา ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องฟังคนหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องมองในภาพรวมไม่ใช่รายวัน
“ผมบอกหลายครั้งแล้วว่าอย่ามานับเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน เพราะนับไม่ได้ เพราะแตกต่างจากที่อื่น อย่าทำให้ประเทศไทยมีความรุนแรงเทียบกับประเทศอื่น บางครั้งเสนอข่าวด้วยความหวังดี แต่คนไม่เข้าใจ คนทั่วโลกเข้าใจว่าประเทศไทยอันตราย มีระเบิดมาก มีการลอบทำร้าย ผมถามว่ามันเกิดที่ไหน มันเกิดแค่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งการแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ต่างจากการแก้ปัญหาการฆ่ากันรายวันในกรุงเทพฯ แต่บริบทต่างกัน”
ส่วนที่กลุ่มวาดะห์พยายามชี้นำรัฐบาลให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทุกพื้นที่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กลุ่มวาดะห์ไม่ได้ชี้นำ ใครชี้นำไม่ได้ทั้งนั้น เรื่องมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฝ่ายความมั่นคงเป็นคนคิด และเสนอออกไป ทุกอย่างมีกระบวนการคิด โดย กอ.รมน. เป็นคนคิดมานานแล้ว เรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคง เกิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2551 และมีมาตรา 21 แล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีคณะกรรมการ 2 ชุด ในการกลั่นกรองรายชื่อผู้ที่มามอบตัว หากเข้าหลักเกณฑ์ก็จะไม่ฟ้องศาล และเสนอต่อ ผอ.รมน.ให้นำเข้าสู่กระบวนการอบรม เพื่อกลับออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนา ใครมีคดีความมากก็ไปดำเนินตามกระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างมีกติกาอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องศึกษาให้ละเอียด
ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ที่ปรึกษา กปต. กล่าวถึง การเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ยอมลงพื้นที่ภาคใต้ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้สั่ง เพียงแต่ ผบ.ทบ. ท่านโทรศัพท์มาชวนตนว่าอยากให้ไปด้วยกัน ซึ่งตนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีหากมีอะไรจะได้เสนอแนะนายกฯ ได้ถูกต้อง และต่อไปนี้ หาก ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ภาคใต้ตนก็จะไปด้วยทุกครั้ง เมื่อลงไปกับกองทัพ ก็ได้พูดคุยกัน และช่วยกันผลักดันให้บางเรื่องสำเร็จ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเดินมาถูกทางแล้ว แต่ด้านยุทธวิธีต้องปรับเพราะเรายังตามหลังเขาอยู่ ต้องนำคนที่สามารถนำยุทธศาสตร์มาเปลี่ยนเป็นยุทธวิธีให้ได้ ถ้าทำไม่ได้มีช่องว่างเกิดขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนคนที่มาทำงานด้วย แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติยังอยู่
ส่วนการให้ ร.ต.อ.เฉลิม มาดูแลงานภาคใต้ทำให้เกิดช่องว่างใช่หรือไม่นั้น ตนไม่ได้มองอย่างนั้น แต่เมื่อเปลี่ยนเจ้าหน้าที่หลายคนทำให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง แต่ยังดีที่มีกองทัพ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ยังเป็นคนเดิมอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม แต่งตั้งกลุ่มวาดะห์เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ขณะบางคนมีคดีการแบ่งแยกดินแดนอยู่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนในกลุ่มวาดะห์ต่างมีประวัติทางการเมืองด้วยกันทั้งนั้น ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม คงทราบดี โดยเขามีหน้าที่เสนอแนะ ให้คำแนะนำส่วนจะทำตามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ ร.ต.อ.เฉลิม ส่วนกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจต่อกรณีดังกล่าว ตนไม่ทราบ และ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่เคยพูดให้ตนฟัง แต่มองว่า กลุ่มวาดะห์ อาจจะเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือมองข้ามไป ทั้งนี้ สมัยที่ตนทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ก็ไม่เคยมีแนวคิดที่จะให้กลุ่มวาดะห์เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพราะบางคนตนไม่ทราบประวัติที่แน่ชัด คนที่เราจะแต่งตั้งให้มาเป็นที่ปรึกษานั้น สิ่งที่เราต้องรู้ คือ ประวัติความเป็นมาก่อนว่าเป็นคนอย่างไร และจะให้เขาทำงานในส่วนไหน ซึ่งคิดว่า ร.ต.อ.เฉลิมน่าจะทราบดี ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า จะให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี จะมาดูงานภาคใต้นั้น ยังไม่ทราบเป็นข่าวที่มาจากสื่อ
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า เรื่องนี้พูดง่าย ทำง่าย ตนกับ ผบ.ทบ.คุยกันเข้าใจ แต่ในส่วนของนโยบายต้องเข้าใจด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้เสนอไว้ตั้งแต่ที่เข้าหารือกับนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยบอกให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 แต่ต้องให้กระทรวงยุติธรรม นำไปปรับเรื่องข้อกฎหมายให้มีความกะทัดรัด และเกิดความพอใจแก่ผู้ที่เข้ามามอบตัว ใครที่มีการตัดสินไปแล้วก็ต้องไปติดตามดู ซึ่งตอนนั้นผู้นำฝ่ายค้านบอกว่า ถ้ารัฐบาลไม่พร้อมจะเสนอเรื่องนี้เอง แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป และนายกฯ ก็หยิบเรื่องนี้มาพูดเมื่อ 2-3 วันนี้
“พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ต้องมีการปรับให้เหมาะสม รัดกุมให้มากกว่านี้ เพราะข้อเสนอยังไม่กระแทกใจผู้ที่จะเข้ามามอบตัว โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก หากการดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้น และนำข้อมูลเสนอให้นายกรัฐมนตรี ท่านก็จะผลักดันเข้า ครม.ทันที”
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 คนทั้งประเทศทราบรายละเอียดโดยเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ยังไม่คนดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น การลงพื้นที่ภาคใต้น่าจะดีที่สุด เพราะจะทำให้ตนทราบข้อมูลจากฝ่ายปฎิบัติ และนำเสนอนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าอยู่แต่ใน กทม.ก็จะไม่รู้อะไรเลย มองอะไรก็ไม่เห็น เราต้องลงไปเก็บข้อมูล