“กรณ์” นำทีม กมธ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ค่าย ปชป.แถลงเรียกร้องประชาชนลุกขึ้นกดดันให้รัฐบาลชะลอกู้เงินสร้างหนีประเทศ 50 ปี หลังพบความไม่ชอบมาพากล มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่อทุจริตครั้งใหญ่ แฉมาตรา 6 ยัดไส้เอื้อเอกชนกู้ดอกเบี้ยถูก ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่คนเป็นหนี้คือประชาชน ชี้เล่ห์รัฐบาลตบตาระยะกู้ 7 ปี แต่ความจริงแค่ทำสัญญา แต่ยังไม่ได้โครงการตามที่โฆษณาไว้ ด้าน “สามารถ” ชำแหละรถไฟความเร็วสูงยุค “ปู” แพงกว่ายุค “มาร์ค” เฉลี่ยเกือบ 70% “วิฑูรย์” ปูดมีวิ่งเต้นงาบงบฯที่ปรึกษา 6 หมื่นล้าน เก็งค่าต๋ง 50%
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมคณะกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงปัญหาความไม่พร้อมในโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล โดยเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบเพื่อกดดันให้รัฐบาลชะลอการกู้เงินที่จะสร้างหนี้ให้กับประชาชนยาวนานถึง 50 ปี หลังจากพบความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างในแผนกู้เงินของรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมในส่วนของตัวโครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงยังไม่มีการศึกษาความคุ้มค่า ไม่มีความชัดเจนในเรื่องเส้นทาง ซึ่งได้มีการสอบถามกระทรวงการคลังว่า เมื่อโครงการยังขาดความพร้อมทำไมต้องรีบออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน เพราะวงเงินรถไฟความเร็วสูงเกือบครึ่งหนึ่งของเงินกู้ทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่พรรคไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาส่อเค้าว่าจะเกิดการทุจริตในหลายประเด็น ทั้งงบการศึกษาและโครงการต่างๆ ที่มีจัดงบไว้หลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากที่มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคสองของกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เปิดช่องให้กระทรวงการคลังปล่อยกู้ต่อให้หน่วยงานของรัฐได้ โดยมีการนิยามความหมายของหน่วยงานรัฐ คือ บริษัทที่อาจจัดตั้งขึ้นใหม่ซึ่งจะมีเอกชนร่วมทุน 49% โดยบริษัทเอกชนเหล่านี้เข้าข่ายได้รับเงินกู้ต่อจากรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยเดียวกับที่รัฐบาลกู้ยืมมา และอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แทนที่เงินกู้นี้จะใช้โดยรัฐบาล แต่เอกชนจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่คนเป็นหนี้คือประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับคนไทย ตรงนี้ต้องระมัดระวัง เพราะสุดท้ายผู้ร่างกฎหมายต้องปิดช่องโหว่ไม่ให้มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ในรูปผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น
นายกรณ์กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ รัฐบาลเริ่มตีความว่ากฎหมายกู้เงินนี้ ที่เดิมบอกเป็นโครงการที่มีระยะเวลา 7 ปี อาจจะไม่ใชตามที่มีการระบุเอาไว้ โดยอ้างว่าที่จะต้องกู้ให้เสร็จภายในปี 2563 นั้น ไม่ได้หมายถึงการสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี แต่อาจเป็นเพียงแค่การทำสัญญาลงนามกู้เงินเท่านั้น และไม่มีความชัดเจนเลยว่าโครงการที่วางไว้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 7 ปี สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ผิดวินัยการคลัง หากรัฐบาลยังถลำลึกลงไปอีกก็จะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ และที่ระบุว่าจะใช้หนี้ได้ภายใน 50 ปีก็จะเป็นไปไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ภาระหนี้ของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนกรรมาธิการเสียงข้างน้อยของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แต่งตั้งให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษกของกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยเพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย
นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่นั้น ยังไม่รู้ว่าเส้นทางที่จะทำผ่านที่ไหนบ้าง โดยมีการทำในลักษณะ ศึกษาไปสร้างไปกู้ไป จึงมีการสอบถามว่าทำไมไม่ทำรถไฟรางคู่แทนรถไฟความเร็วสูง ได้รับคำตอบว่าต้องการขนคนไม่ได้ขนสินค้า ซึ่งเท่ากับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการลดต้นทุนลอจิสติกส์ตามที่รัฐบาลนำมากล่าวอ้าง ซึ่งสภาพัฒน์ก็บอกว่าเป็นนโยบายจากฝ่ายการเมือง ดังนั้น การอ้างว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจะช่วยลดต้นทุนลอจิสติกส์จึงไม่เป็นความจริง แต่เป็นการกู้เงินเพื่อตอบสนองนโยบายทางการเมืองมากกว่า
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนำโครงการ โดยมีการตั้งโจทย์ว่าต้องกู้ 2 ล้านล้านบาท แล้วหาโครงการมาบรรจุไว้ โดยที่ยังไม่มีการศึกษา ขาดความพร้อม โดยมีมูลค่าถึง 1,990,738.99 ล้านบาท ซึ่งในส่วนที่มีความพร้อมก็เป็นแค่โครงการเล็กๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการใส่แผนงานแบบไม่มีรายละเอียดถึง 9,261.01 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการบิดเบือนข้อมูลโดยผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ให้ผลตอบแทนสูงสุดส่วน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 4 ต่างกันถึง 4.18% แต่รัฐบาลเลือกสร้าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งที่ต้องเลือกกรุงเทพฯ-หนองคายก่อน อีกทั้งยังมีการตัดตอนจากการก่อสร้าง กรุงเทพฯ-หนองคาย เหลือแค่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ส่วนเส้นทาง กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เหลือแค่กรุงเทพฯ-หัวหิน ก็ไม่มีเหตุผลหรือผลการศึกษามารองรับและไม่มีความชัดเจนว่าจะขยายไปให้ถึงปลายทางอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าโครงการก็แพงกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทุกรายการ โดยสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ราคาเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 300 ล้านบาท รวมทุกอย่างแล้ว ทั้งค่าเวนคืน ค่าขบวนรถ ค่าอาณัติสัญญาณ และค่าที่ปรึกษา แต่เวลาผ่านไปไม่ถึง 3 ปี ราคานี้กลับกระโดดสูงขึ้นในทุกเส้นทาง คือ ค่าก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ- เชียงใหม่ เพิ่มจาก 308 ล้านบาท/กม. เป็น 521 ล้านบาท/กม. หรือเพิ่มขึ้นถึง 69% เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพิ่มจาก 378 ล้านบาท/กม. เป็น 666 ล้านบาท/กม. หรือเพิ่มขึ้นถึง 76% แค่เวลาผ่านไปไม่ถึง 3 ปีเท่านั้น
ด้านนายวิทูรย์ นามบุตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลมากกว่าเซ็นเช็คเปล่า เพราะรัฐบาลทำเหมือนได้เงินฟรีไม่ต้องใช้หนี้ เนื่องจากทุกโครงการไม่มีความพร้อม ที่พร้อมแค่โครงการขนาดเล็กที่เป็นโครงการเดิมที่ถอดจากงบปกติมาใส่เงินกู้ แต่โดยหลักส่วนใหญ่ยังไม่มีการออกแบบ สำรวจสิ่งแวดล้อม ความเหมาะสมแต่อย่างใด ควรชะลอเงินกู้ในครั้งนี้ เพราะส่อไปในทางทุจริตด้วย โดยเฉพาะเรื่องค่าที่ปรึกษาที่สูงมาก รวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท มากกว่างบของหลายกระทรวง บางโครงการเฉพาะค่าปรึกษาโครงการเดียวสูงถึง 7 พันล้านบาทคือ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มากกว่างบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและกระทรวงพาณิชย์ทั้งกระทรวง และในวงการมีการวิ่งเต้นว่าบริษัทไหนจะได้เป็นที่ปรึกษาต้องจ่ายค่าต๋ง 50% จึงทำให้ค่าจ้างที่ปรึกษาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าระงับได้จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนมากที่สุด