xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.พท.-ปชป.หนุน เลือก ส.ว.แบบ รธน.40 ลดวาระจาก 6 ปี ไม่ห้ามญาติ ส.ส.แจม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข้อสรุป กมธ.แก้ รธน.ที่มา ส.ว.ส่วนใหญ่หนุนยกแบบ รธน.40 เลือกตั้ง เชื่อการเมืองจุ้นยาก เหตุ 1 สิทธิเลือกได้คนเดียว เปิดโอกาสผู้สมัครอิสระ ปรับลดวาระจาก 6 ปี หากลงได้อีกครั้ง ไม่ห้ามญาติ ส.ส.รับตำแหน่ง ภท.ยังหนุนแบบเดิม

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลุ่มมาตราที่ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ได้ข้อสรุปแนวโน้มเบื้องต้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.แบบ 1 เสียง 1 สิทธิ์ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมและป้องกันการบล๊อคโหวตของพรรคการเมืองได้ดีที่สุด โดยจะไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถรวบที่นั่ง ส.ว.ได้เป็นเสียงข้างมาก ทั้งยังยุติให้มี ส.ว.จำนวน 200 คนตามปี 40 เช่นเดียวกัน เพียงแต่กรณีข้อห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการลงสมัครได้ต่อเนื่องยังมีความเห็นที่แตกต่างกันและฝ่ายเสียงข้างมาก โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะแก้ไขให้แตกต่างจากทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

ภายหลังใช้เวลาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน หรือเรียกกันว่า ‘สนธนาธรรม’ เกี่ยวกับที่มา คุณสมบัติ และวาระการดำตำแหน่งของ ส.ว.เป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งในช่วงเช้า ที่ประชุมก็ได้ตกผลึกในการเดินหน้าหารือรายมาตราในช่วงบ่าย โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากพิจารณาเห็นชอบให้คงร่างที่รับหลักการมาในส่วนของมาตรา 111 ว่าด้วยจำนวน ส.ว.ให้มี 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนมาตรา 112 ว่าด้วยวิธีการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ก็เห็นตามแนวทางการได้มาซึ่ง ส.ว.ของรัฐธรรมนูญปี 2540

ทั้งนี้รูปแบบวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.ในปี 2540 นั้น ได้กำหนดยอดจำนวน ส.ว.ไว้ 200 เป็นฐาน จากนั้นใช้จำนวนประชากรในเขตจังหวัดเป็นตัวตั้ง คำนวณเฉลี่ยจำนวนประชากรที่จะได้จำนวน ส.ว.1 คน โดยครั้งนั้นจังหวัดที่มี ส.ว.ได้มากที่สุดคือ กทม.มีได้ 18 คน นอกจากนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีสิทธิเลือกผู้สมัครได้เพียง 1 เสียง หรือเลือกได้ 1 คน แล้ว กกต.จะนำคะแนนเลือกตั้งของผู้สมัครมาเรียงกันตั้งแต่ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด ไล่ลงมาจนได้จำนวนเท่ากับจำนวนที่นั่ง ส.ว.ในจังหวัดนั้น แล้วประกาศให้เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ต่อไป

โดยการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ครั้งแรก จะพบว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกทม.คือนายปราโมทย์ ไม้กลัด ได้คะแนนหลักล้านเสียง ขณะที่ผู้ได้คะแนนลำดับที่ 18 คือนายจอห์น อึ้งภากรณ์ ได้คะแนนในหลักแสนเท่านั้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าว จะทำให้พรรคการเมืองที่แม้จะมีฐานเสียงมากสุดในจังหวัดนั้น ก็ไม่สามารถใช้ฐานเสียงที่มีเพื่อให้ได้ที่นั่ง ส.ว.ทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ในจังหวัดดังกล่าว เนื่องจากหากทุ่มคะแนนไปที่ผู้สมัครคนใดทั้งหมด ก็ทำให้ได้ ส.ว.เพียงคนเดียว แต่หากกระจายฐานเสียงให้ถี่ขึ้น ผู้สมัครบางคนที่พรรคการเมืองหนุน ก็อาจสู้ผู้สมัครอิสระ หรือผู้ที่อาศัยฐานเสียงกลุ่มอื่นไม่ได้ และสอบตกในที่สุด

จึงเป็นที่ยอมรับในขณะนี้ว่า รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ว.ตามปี 2540 ดังกล่าว จะสามารถกระจายตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ และได้ผู้สมัครที่ไม่อิงพรรคการเมืองเข้ามาได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งสอดรับกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.แต่อย่างใด

ทั้งนี้ในการหารือตอนต้นก่อนพิจารณารายมาตรา ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการแก้ไขที่มา ส.ว.ในส่วนนี้ โดยฝ่ายค้านแสดงความกังวลว่าหากแก้ไขเพียงบางส่วน จะทำให้เกิดปัญหาขัดกันเชิงโครงสร้าง นายชำนิ ศักดิเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการกล่าวว่ายอมรับต้องแก้เรื่อง ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้มาจากการสรรหาตามหลักการที่ผ่านวาระที่หนึ่งมา แต่การแก้รัฐธรรมนูญทุกเรื่องมีชุดความคิดในระบบ ต้องอธิบายโครงสร้าง เช่นให้มี ส.ว.เพื่อทำหน้าที่อะไร มาด้วยวิธีไหน จึงจะไปถึงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของระบบเป็นต้น

“ถ้าต้องการ ส.ว.มาตามวิถีประชาธิปไตย ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน โอเคมาจากการเลือกตั้งใช่ แต่ถามว่าจะอธิบายยังไง ถ้าให้ลงสมัครซ้ำได้ แต่กลับมีวาระยาวถึง 6 ปีเลยหรือ และเรื่องคุณสมบัติที่วางไว้เพื่อให้ ส.ว.ดำรงความเป็นกลาง ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์นี้ คุณสมบัติก็ต้องเปลี่ยนไป เช่นข้อห้ามเรื่องมีทายาท คู่สมรสเป็น ส.ส.จะสมัครไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยน” นายชำนิ กล่าว

แต่ นายครูมานิต สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าต้องให้คุณสมบัติเป็นประชาธิปไตยเต็มๆ ไม่ต้องมีข้อจำกัดห้ามผัวห้ามเมีย อย่าดูถูกประชาชน อยากให้เป็นแบบไหนก็ทดลองดู เพราะเราเคยใช้มาตั้งหลายรูปแบบแล้ว เราต้องปล่อยไปก่อนให้บ้านเมืองมันพัฒนาตัวของมันเอง

ด้าน พล.อ.อ.วีรวิทย์ คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ตั้งประเด็นถามว่าถ้าปรับกระบวนการที่มาของ ส.ว.กับ ส.ส.เป็นแบบเดียวกัน ส.ส.กับ ส.ว.ก็จะกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน ตนไม่เถียงเรื่องหลักการ ยังไง ส.ว.สรรหาก็จะต้องไม่มี แต่ในกรณีเลือกตั้งจะมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ ด้วยกระบวนการที่แตกต่าง อยากให้ศึกษากระบวนเลือกตั้ง ส.ว.ประเภทต่างๆ ในหลายๆประเทศ อยากให้กรรมาธิการทำงานแล้วสามารถอธิบายต่อประชาชนได้ ว่าจำนวน วาระ ที่มา ความต่อเนื่องของสมัยต้องมีที่มา ไม่ใช่แก้เพราะอยากให้มันเป็นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามภายหลังการถกเถียงกันพอประมาณ สุดท้ายทั้งกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นพ้องกับการยกรูปแบบวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการยกมาทั้งระบบ ทำให้ไม่เกิดปัญหาการขัดกันของโครงสร้าง และต่างยังเห็นด้วยว่าควรจะปรับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งให้น้อยกว่า 6 ปี ถ้าหากจะเปิดให้สามารถลงสมัครต่อเนื่องได้อีกวาระ รวมทั้งข้อห้ามบางส่วน เช่นการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ข้อห้ามการมีคู่สมรส บุพการีเป็น ส.ส.ก็เห็นด้วยที่จะพิจารณาแก้ไขให้ต่างจากรูปแบบในปี 2540 ได้ต่อไป

ที่ประชุมจึงได้ผ่านมาตรา 111 ไปอย่างค่อนข้างราบรื่น โดยกรรมาธิการส่วนใหญ่ให้คงตามร่างเดิม คือมีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยมีผู้สงวนความเห็นต่างส่วนหนึ่ง

สำหรับมาตรา 112 ว่าด้วยรูปแบบวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.นั้น นายชำนิ เสนอให้ดึงโครงการวิธีการเลือกตั้ง ด้วยการยกถ้อยคำในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 123 ที่กำหนดรูปแบบการลงคะแนนเลือก ส.ว.ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกเพียง 1 เสียงเท่ากันทุกจังหวัด มาใช่ในร่างแก้ไขฉบับนี้ ซึ่งปรากฏว่ากรรมาธิการในส่วนของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องด้วย แต่มาตราดังกล่าวจะรอเจ้าหน้าที่จากกฤษฎีกายกร่างถ้อยคำให้ชัดเจน เพื่อมาถกพิจารณาต่อในวันถัดไป

ทั้งนี้มีผู้ที่สงวนความเห็นต่างส่วนหนึ่ง เช่น นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ที่ขอสงวนให้มี ส.ว.สองประเภท คือเลือกตั้งทางตรง และเลือกตั้งทางอ้อมผ่านคณะบุคคลจำนวน 50 คน ในจำนวนที่เท่ากัน

นอกจากนี้ประธานยังได้แจ้งให้ทราบว่า ได้มีสมาชิกรัฐสภา แสดงเจตจำนงของแปรญัตติในร่างนี้แล้วจำนวน 215 โดยประธานคณะกรรมาธิการ จะเรียกผู้สงวนคำแปรญัตติมาชี้แจง ภายหลังการพิจารณารายมาตราของกรรมาธิการเสร็จสิ้นแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น