xs
xsm
sm
md
lg

ศปถ.สรุปฉลองสงกรานต์ 2 วัน ตายแล้ว 101 ศพ สาเหตุหลัก “เมา-ขับรถเร็ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล(ภาพจากแฟ้ม)
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) เผยสถิติ 7 วันอันตรายวันที่ 2 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 101 ศพ มากกว่าปีที่ผ่านมา 13 ศพ เมืองกาญจน์-ประจวบฯ แชมป์คนเสียชีวิต ส่วนสาเหตุเหมือนทุกปี เมาสุรา มาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ขับรถเร็ว

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556

นายเกษม มูลจันทร์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม แถลงว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. 2556 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” เกิดอุบัติเหตุ 465 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 481 ครั้ง) ลดลง 16 ครั้ง ร้อยละ 3.33 จำนวนผู้เสียชีวิต 62 ศพ (ปี 2555 เสียชีวิต 58 ศพ ) เพิ่มขึ้น 4 ราย ร้อยละ 6.90 ผู้บาดเจ็บ 496 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 515 คน) ลดลง 19 คน ร้อยละ 3.69

นายเกษม กล่าวอีกว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 2 วัน วันที่ 11 - 12 เม.ย.2556 เกิดอุบัติเหตุรวม 791 ครั้ง ( ปี 2555 เกิด 824 ครั้ง) ลดลง 33 ครั้ง ร้อยละ 4.17 จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 101 ศพ ( ปี 2555 เสียชีวิต 88 ศพ) เพิ่มขึ้น 13 ศพ ร้อยละ 14.77 ผู้บาดเจ็บรวม 838 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 890 คน ) ลดลง 52 คน ร้อยละ 5.84

จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 2 วัน มี 2 จังหวัด ได้แก่ ตราด ศรีสะเกษ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 2 วัน (ตายเป็นศูนย์) รวม 26 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 32 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 34 คน

รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.35 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 22.15 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.63 รถปิคอัพ ร้อยละ 9.26 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 21.51 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.30 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 39.14 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.56 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 31.40 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 62.73 ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ ร้อยเดอ็ดและประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 21 คน

ด้าน ม.ล. ปนัดดา กล่าวว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนเริ่มเดินทางถึงที่หมายแล้ว ขณะที่บางส่วนอยู่ในระหว่างการเดินทาง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยฯ จึงขอให้จังหวัดมุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด การขับรถในลักษณะเสี่ยงอันตราย ทั้งบนเส้นทางสายหลัก สายรอง เส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงให้ปรับแผนและมาตรการในการลดอุบัติเหตุทางถนน ปรับการจัดตั้งด่านตรวจ จุดบริการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ สภาพการจราจรและห้วงระยะเวลาในการเล่นน้ำของแต่ละพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 14 - 15 เม.ย.2556 ควรให้ความสำคัญกับเส้นทางภายในจังหวัด เส้นทางสายรองเป็นพิเศษ เพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แล้ว

สำหรับในเขต กทม. ซึ่งสภาพการจราจรไม่ติดขัด ขอฝากย้ำให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล คุมเข้มการใช้ความเร็ว และดื่มแล้วขับเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ สถานบันเทิงยามค่ำคืน ที่สำคัญในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องได้รับโทษหนักกว่า เพราะต้องดูแลและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น