xs
xsm
sm
md
lg

คุมเข้มหมอชิตกระตุ้นผู้ขับขี่-ผู้โดยสาร งดเหล้าเข้าสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรมขนส่ง” ผนึกเครือข่ายงดเหล้า ลงพื้นที่ตรวจเข้มหมอชิต รับมือ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนา กระตุกผู้ขับขี่-ผู้โดยสารปฏิบัติตามกฎหมายไม่ดื่มบนรถ บขส.ต้องปลอดน้ำเมาทุกชนิด ชี้หากฝ่าฝืนจับดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด เชื่อมาตรการนี้รับมืออุบัติเหตุเจ็บ-ตายสงกรานต์ได้

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “สถานีขนส่งปลอดเหล้า...ห้ามดื่มบนรถ” โดยลงพื้นที่ตรวจสถานีขนส่งหมอชิต ห้ามไม่ให้มีการขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งติดสติกเกอร์ที่รถ บขส.ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เพื่อให้ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และประชาชนเกิดการรับรู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์

นายจิรุตม์ กล่าวว่า ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจำกัดการเข้าถึง จำกัดพื้นที่ในการดื่ม ซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า คนไทยสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลาเพียง 4.5 นาที ดังนั้นหากสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่งปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงควบคุมไม่ให้มีการดื่มบนรถ บขส.รถร่วมบริการต่างๆ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ บขส.มั่นใจว่าปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การก่อเหตุรำคาญ ย่อมลดลงได้ การรณรงค์ในวันนี้เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้ พนักงาน บขส.พนักงานรถร่วมบริการต่างๆ และประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสาร ปฏิบัติตามกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถและห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณรัฐวิสาหกิจ เพราะ บขส.เป็นรัฐวิสาหกิจ

ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้ประชาสัมพันธ์ กฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถอย่างกว้างขวาง รวมถึงการเผยแพร่สติกเกอร์ และป้ายประชาสัมพันธ์ไปทุกสถานีขนส่งผู้โดยสาร ทั้ง บขส.และ ขสมก.ทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจกฎหมายมากขึ้น สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มั่นใจว่าจะช่วยตอกย้ำให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนได้รับรู้และเข้าใจกฎหมาย มีส่วนร่วมสนับสนุนและปฏิบัติตามให้มากที่สุด เนื่องจากมาตรการนี้มีส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุอย่างมาก ” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวว่า บขส.เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยบริการด้านความปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่มีวันหยุดยาว อาทิ สงกรานต์ และปีใหม่ ปัจจุบัน บขส.มีรถโดยสาร จำนวน 854 คัน พนักงานบนรถโดยสาร 1,500 คน สถานีขนส่งผู้โดยสารในการกำกับดูแล 7 สถานี และสถานีที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนมาก ซึ่งแต่ละปีมีผู้ใช้บริการ บขส.ประมาณ 40 ล้านคน ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายกำหนดให้บนรถเป็นพื้นที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกำหนดให้บริเวณรัฐวิสาหกิจเป็นพื้นที่ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทาง บขส.โดยความร่วมมือจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสสส.ได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการกำหนดให้สถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศเป็นพื้นที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี

“หากพบว่ามีการฝ่าฝืน แอบนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มบนรถโดยสาร หรือนำขึ้นมาดื่มโดยไม่รู้ บขส.ได้กำหนดแนวทางในการว่ากล่าวตักเตือน เพื่อขอความร่วมมือก่อนในเบื้องต้น และหากยังไม่เป็นผลก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินคดีตามกฎหมายทันที อย่างไรก็ตาม สถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศในวันนี้ต้องเป็นสถานีปลอดเหล้า เช่นเดียวกับปั๊มน้ำมันที่ไม่มีการขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเมื่อมีกฎหมายนี้ออกมาก็ทำให้ง่ายขึ้นในทางปฏิบัติ เป็นการจำกัดการเข้าถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลดปัญหาและไม่รบกวนการพักผ่อนบนรถของผู้โดยสารท่านอื่นด้วย” นายวุฒิชาติ กล่าว

ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ความจำเป็นในการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เนื่องจากสงกรานต์ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ดื่มแล้วขับ แต่คนที่ดื่มบนรถขณะเล่นน้ำสงกรานต์ หรือระหว่างเดินทาง ก็มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมากด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ใช้รถยนต์ เช่น รถปิกอัพ หากเทียบกับรถประเภทอื่นๆ พบว่า ปี 2554 คนตายจากปิกอัพ 47 ราย ปี 2555 เพิ่มเป็น 67 ราย ที่สำคัญคือ ผู้เสียชีวิตจากปิกอัพ เพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่า และเป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุหมู่ของรถปิกอัพที่ขนคนไปเล่นน้ำสงกรานต์มีการพลิกคว่ำ หรือเทกระจาด จนทำให้ยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์บนยานพาหนะ บนพื้นที่สาธารณะ บนถนน ถือเป็นการดื่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสูงกว่าการดื่มในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาเฉียบพลัน

“เชื่อว่าการประชาสัมพันธ์ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ซึ่งรวมถึง รถ บขส.ด้วย ตลอดจนการไม่ให้ขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนรับทราบและเห็นถึงความสำคัญ ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดเอาจริงเอาจัง ที่สำคัญคือต้องตัดไฟแต่ต้นลม มิใช่เพิกเฉยปล่อยให้พฤติกรรมการดื่มบนรถเกิดขึ้นจนเป็นคนกลุ่มใหญ่ซึ่งจะจัดการได้ยาก ต้องปรามตั้งแต่ต้น หากบังคับใช้กฎหมายจริงจังจะช่วยหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้รถใช้ถนนช่วงที่มีประชาชนเดินทางท่องเที่ยว เป็นจำนวนมากได้” นายธีระ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น