เสวนาถอดบทเรียนเจรจาสันติภาพ “ไทย-บีอาร์เอ็น” ผอ.สำนักสันติวิธี กังขามีการเมืองมาเลย์เอี่ยวหรือไม่ เหตุ “นาจิบ” ชิงยุบสภา “ปณิธาน” ชมรัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจน แต่ทุกฝ่ายต้องเป็นเอกภาพ “ถวิล” อดีตเลขา สมช.เผยเห็นด้วยพูดคุย แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุมีเยอะ ระวังกลุ่มอื่นไม่พอใจ เตือนระวังอย่ายกระดับไปสู่ประเด็นสากล และรัฐบาลอย่าเน้นพีอาร์-การตลาดมากเกินไป
วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา “ถอดบทเรียนการพูดคุยสันติภาพ รัฐไทย กับ บีอาร์เอ็น BRN” โดยมีผู้เกี่ยวข้องและเคยร่วมทำงานในพื้นที่ภาคใต้ สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมวงเสวนา
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า การเข้าร่วมลงนามสันติภาพ มี 4 คน มี 2 คนที่ตนได้เคยพูดคุยด้วยแล้วถึง 3 ปี และตนก็ทราบมาว่าถูกบังคับมาและจะไม่ร่วมด้วย และการพูดคุยครั้งที่ 2 ก็ไม่พบตัวแทนคนนั้นแล้ว ซึ่งใครที่ไม่ทำตามที่ประเทศมาเลเซียกำหนดให้ทำก็ไม่สามารถอยู่ในประเทศมาเลเซียได้ และก็ต้องไปอยู่ที่อื่น เพราะอยากเคลื่อนไหวแต่ไม่ทำตามกรอบของมาเลเซีย ซึ่งตนก็มีข้อสังเกตว่ามีเรื่องการเมืองของมาเลเซียเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ และเมื่อเร็วๆ นี้ มาเลเซียมีการประกาศยุบสภา หากอยากให้มีการเจรจาก็จะได้เลือกชุดเดิมเข้ามาทำงานต่อ และหากมีการเปลี่ยนทางการเมืองการเจรจาอาจจะยุติลง
“ผู้ที่ต้องการขับเคลื่อนจะต้องมีการเตรียมชุดความรู้เรื่องเหล่านั้น ไม่มีไม่ได้ เพราะเขาไม่มีอะไร มันกลวงจริงๆ อย่างคนที่เข้าไปเจรจาครั้งที่ 2 ยังทราบไม่ถึง 12 ชั่วโมง สิ่งที่เห็นคือขาดการมีส่วนร่วม และเมื่อคุยแล้วจะต้องเอากลับมาใส่ถังแล้ววิเคราะห์กันว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมได้ถามกับทหารมาตลอดว่าได้คุยกับทหารหรือยัง ก็ยังไม่ได้มีการคุยกัน ซึ่งไม่คุยไม่ได้ ซึ่งเราได้เตือนแล้ว” พล.อ.เอกชัยกล่าว
พล.อ.เอกชัย กล่าวอีกว่า การพูดคุยจะต้องมีกระบวนการทำงานว่าขั้นตอนจะดำเนินไปอย่างไร โดยการสร้างความไว้วางใจอย่างเพิ่งไปเจรจาตกลงอะไร ที่ผ่านมามีการบอกทันทีว่าจะไปคุยเรื่องความรุนแรง ซึ่งยังไม่มีการไว้วางใจกัน และไม่มีข้อมูลพื้นฐานเลยด้วย ซึ่งการทำงานพูดคุยนั้นเป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ จึงต้องทำงานเป็นทีมและอย่าทำเฉพาะข้อที่ 8 จากนโยบาย 9 ข้อที่ผ่านสภามาแล้ว และต้องเปิดพื้นที่ในภาคใต้คุยกันด้วย ซึ่งจากการที่ตนลงพื้นที่พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สร้างความไม่พอใจกับประชาชนคือความไม่เป็นธรรม มีหลายคดีที่ชาวบ้านยังเคลือบแคลงใจ ยิ่งเอาตัวบทกฎหมายมาใช้มากเท่าไหร่กลับไม่มีความเป็นธรรม นอกจากนี้ในสายตาของคนนอกพื้นที่ยังไม่มีความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารต่อสังคมด้วย
นอกจากนี้ พล.อ.เอกชัย ยังได้ฝากคำถามจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ได้พูดคุยกับตนถึงรัฐไทยก่อนที่จะมีการลงนามว่า รัฐจะให้เสรีภาพต่อคนในพื้นที่อย่างไร รัฐจะให้ความเป็นธรรมหรือเสรีภาพแก่ผู้ถูกดำเนินคดี และการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ทำผิด รัฐไทยมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง และรัฐคิดอย่างไรกับการปกครองตนเองโดยไม่แบ่งแยกดินแดน และการใช้กฎหมายเฉพาะรัฐมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ซึ่งทางรัฐไทยยังไม่มีชุดคำตอบให้ จึงทำให้มีการต่อสู้เพื่อหาคำตอบเหล่านั้น
ด้าน นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเจรจามีมาตลอด และหลักของการเจรจาต้องชัด คือ 1.หลักการเจรจาต้องมาจากฝ่ายนโยบาย การเมือง ผู้นำศาสนา โดยประเด็นนี้ต้องขอชมเชยรัฐบาลที่ส่งสัญญาณชัดเจน อย่างไรก็ตามต้องทำงานอย่างเป็นเอกภาพ 2.ต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายปฏิบัติการที่ระหว่างการพูดคุยนี้เราควรจะเห็นการจัดระบบใหม่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ที่ต้องปรับในยามที่มีความเคลื่อนไหว ต้องทำงานในทิศทางเดียวกัน จะปล่อยรัฐบาลเดินหน้าอย่างเดียวไม่ได้ กอ.รมน.ต้องปรับระบบรักษาความปลอดใหม่ใหม่ เพราะเมื่อมีการพูดคุยก็เป็นไปได้ว่าจะมีการก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่ได้กลายเป็นเป้า
นายปณิธาน กล่าวว่า 3.จะต้องมีการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ภาคเอกชน สมาชิกพรรคฝ่ายค้านในพื้นที่เพราะในประเด็นนี้หมายถึงพลังของคนในพื้นที่ที่ต้องอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่รัฐบาลที่อาจมีการผลัดเปลี่ยนตามวาระ นอกจากนี้ในตัวผู้นำเองต้องแสดงวุฒิภาวะสั่งการทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติจะมัวแต่พะวงอยู่แค่ตารางเวลาว่าจะลงพื้นที่วันใดบ้างคงไม่ได้ ทั้งนี้ตัวกลางการพูดคุยคือมาเลเซีย แม้จะมีคำถามเรื่องความเป็นกลางแต่ต้องยอมรับว่ามาเลเซียมีปัจจัยสำคัญคือมีความคุ้นเคยที่จะทำให้การผลักดันให้กลุ่มต่างๆ เข้ามาพูดคุย และก้าวข้ามความกลัว
“เมื่อเดินหน้าแล้วจะถอยไม่ได้ ตอนนี้เราเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองแล้ว เปลี่ยนจากรับมาเป็นรุก ต้องถือว่าได้เปรียบ ดังนั้น ต้องตั้งหลักให้ดี และให้เป้าหมายของการเจรจานั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอน คือเริ่มจากขั้นตอนการวางอาวุธ ขั้นตอนการยุติอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และสุดท้ายคือการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในพื้นที่ในโครงสร้างใหม่ กฎหมายใหม่ และเมื่อมีการพูดคุยเจรจาแล้วไม่ควรจะถอย หากมีอุปสรรค เช่น พื้นที่เจรจาคือประเทศมาเลเซียกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนประเทศเจรจาใหม่ พร้อมไปกับทบทวนแนวทางว่าพอจะมีอะไรยืดหยุ่นเพื่อเกิดประโยชน์ได้บ้าง ให้สถานการณ์เดินไปข้างหน้าได้” นายปณิธานกล่าว
นายปณิธาน กล่าวอีกว่า ปัจจัยการเมืองภายในประเทศมาเลเซียนั้น คงต้องรอให้มาเลเซียเลือกตั้งจบแล้วดูท่าทีใหม่ เพราะขณะนี้กระบวนการพูดคุยได้เดินแล้ว และรัฐก็ควรจะดึงประเทศอื่นๆ มาพูดคุยมากขึ้น เริ่มที่ในกลุ่มอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่พร้อมจะช่วยเหลือในงานวิชาการ หรือยังอาจดึงนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่ยังมีบทบาทและประสานงานเข้ามาร่วมทำงานด้วย
นายมารค ตามไท ผู้อำนวยการสร้างสันติภาพต้นปันรัก จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การพูดคุยเกี่ยวกับสันติภาพคงไม่มีทฤษฎีตายตัว แต่เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติ ได้มาจากการปฏิบัติควบคู่ไป ตนเชื่อว่าขบวนการปัตตานีไม่ได้มาพูดคุยแค่การลดความรุนแรง แต่มองถึงโครงสร้างการปกครอง ดังนั้นแม้จะเอาความยุติธรรมมาพูดอ้างจริง แต่หัวข้อที่สำคัญคือต้องการปรับโครงสร้างการเมืองการปกครองโดยที่ไมได้หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนการพูดคุย เพราะเมื่อพูดคุยเรื่องที่อยู่ในใจก็ไม่เกิดประโยชน์
นายมารค กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องระยะยาว ทางกลุ่มกระบวนการจึงเกิดคำถามเสมอว่า จะสถาปนาการพูดคุยได้หรือไม่ โดยเดินข้ามรัฐบาล ข้าราชการระดับสูง ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนการพูดคุยก็เกิดการชะงั้น ซึ่งตนก็ยอมรับว่าการพูดคุยสันติภาพหลายครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ หากไม่มีการสานต่อก็ต้องยุติไป นอกจากนี้ตนขอเสนอว่าในกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่าใช้คำว่าล้มเหลวเมื่อพบกับอุปสรรค แต่ต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ในกรณีของประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้ประสานงานอาจเล่นบทบาทเต็มที่ไม่ได้ ไม่ได้สร้างความมั่นใจ ก็อาจมีรูปแบบใช้นวัตกรรม ให้ประเทศอื่นในอาเซียนมาร่วมด้วย มากกว่าจะมีมาเลเซียเป็นองค์กรเดียว
นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า อย่าไปมองเฉพาะกับดักความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ลึกไปกว่าความรุนแรง ซึ่งคือความขัดแย้ง และที่ลืมไม่ได้เลยคือประชาชน เพราะไม่ว่ารัฐบาลหรือกลุ่มบีอาร์เอ็น ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็จะอยู่ไม่ได้ ตนเชื่อมั่นว่ากระบวนการที่ทำอยู่สร้างความน่าพอใจระดับหนึ่ง อาทิ ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชน โดยสุ่มตัวอย่างผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนในระดับตำบลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จำนวน 1,870 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 67.17 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ในฐานะช่องทางหนึ่ง โดยเมื่อดูคะแนนเฉลี่ยการประเมินได้รับคะแนน 5.16 ซึ่งสะท้อนว่า “ผ่านเกณฑ์” ระดับปานกลาง อย่างไรก็ตามก็ยอมรับว่ามีปัจจัยความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนอยู่บางส่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น
นายปิยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการเจรจากับผู้นำในหลายระดับ ทั้งระดับใหญ่และในส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อที่จะรับฟัง จนนำไปสู่แผนการปฏิบัติขั้นตอนเป็นรูปธรรม เช่น การปลดล็อคแบล็คลิสต์กับประชาชนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง การสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้คิดว่าการเจรจาแก้ปัญหาได้จริง การยอมรับฟังฝ่ายตรงข้าม
ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพูดคุย การพูดคุยเป็นช่องทางที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่วิธีการที่เป็นอยู่ยังมีคำถามและอาจไม่ถูกต้อง เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบเท่าที่เคยถูกพูดถึงมีเยอะมาก ประมาณ 9-12 กลุ่ม ซึ่งเมื่อรัฐเลือกที่จะไปเจรจากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจจะสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มอื่น จนต้องแสดงตัวออกมา หรือหากกลุ่มที่เจรจาอยู่ในคือตัวจริงก็ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดถึง ไม่สามารถสั่งการไปที่แนวปฏิบัติได้ ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าการเจรจาพูดคุยกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน
นายถวิล กล่าวว่า ปัจจัยที่รัฐบาลต้องพึงระวัง คืออย่ายกระดับไปสู่ประเด็นสากล และต้องไม่ลืมว่านโยบายด้านความมั่นคงที่จะแก้ปัญหาประชาชนมีตั้งเยอะ อย่าไปให้ความสำคัญกับการคุยกับกลุ่มก่อเหตุอย่างเดียว เพราะไม่ได้หมายความว่ากลุ่มดังกล่าวคือตัวแทนของภาคประชาชนจริง อย่าให้ราคากับกลุ่มก่อเหตุมากกว่าภาคประชาชน นอกจากนี้อย่าไปชี้นำหรือบงการ กดดัน กระบวนการพูดคุย ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ การตลาดระหว่างการพูดคุยที่มากเกินไป