ปธ.วุฒิฯ ชี้เสียเวลากำหนดวันแปรญัตติร่าง รธน.ใหม่ ยัน 15 วันสมบูรณ์ เสียงไม่ครบสภาไม่นับว่าล่ม ไม่แคร์ร้องศาล รธน. อ้างเป็นสิทธิร่วมแก้ รธน. ไร้กังวล 40 ส.ว.ยื่นแก้ ม.68 ล้มล้างการปกครอง วาง 9 เม.ย.คัดรอง ปธ.วุฒิฯ คนใหม่ หลัง “พรทิพย์” ลาออกตามสัญญา ส.ว.ชมหนุนนั่งต่อ
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านขอให้รัฐสภานัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อกำหนดวันแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เพราะการปิดประชุมไปในช่วงท้ายอาจทำให้การพิจารณาไม่สมบูรณ์ว่า หากมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งจะเป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะได้มีการลงมติในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นไปแล้ว และการแปรญัตติก็เป็นไปตามข้อบังคับคือ 15 วัน ถือว่าชัดเจนและสมบูรณ์แล้ว หากใครเห็นเป็นอื่นก็เสนอมา แต่เมื่อมีเสียงไม่ครบก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ ยืนยันว่าไม่ถือว่าสภาล่ม เพราะผ่านการลงมติไปแล้ว จึงไม่กังวลหากฝ่ายค้านจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถร้องได้เนื่องจากเป็นเรื่องของปัญหาข้อบังคับการประชุม ก็ต้องอาศัยที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา
นายนิคมยังยืนยันด้วยว่า สามารถทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะการร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขอวงตนถือเป็นเอกสิทธิ์ ทั้งนี้ไม่กังวลกรณีที่ศาลรับคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ส่งตีความการแก้ไขมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแต่ไม่ได้คุ้มครองชั่วคราวก็ถือว่ายังเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
นายนิคมยังแจ้งต่อที่ประชุมทราบกรณีนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทรรัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ได้แจ้งว่าจะขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากทำหน้าที่ครบ 2 ปีตามที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ซึ่งครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา โดยการประกาศลาออกจะมีผลทันทีในวันที่ 6 เม.ย.นี้ ต่อมา ส.ว.จำนวนมากลุกขึ้นกล่าวชื่นชมนางพรทิพย์ที่ได้ทำตามแถลงของตนเอง และต้องการให้นางพรทิพย์ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัย
ทั้งนี้ ส.ว.ได้หารือถึงวันคัดเลือกรองประธานวุฒิสภา ซึ่งนายนิคมแจ้งว่าจะมีการคัดเลือกในวันที่ 9 เม.ย. ภายหลังจากที่คัดเลือกบุคคลให้เป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกดับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ซูเปอร์บอร์ด กสทช.) เป็นที่เรียบร้อย โดยตามระเบียบข้อบังคับคือ ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาจะต้องมีคะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก หรือ 74 คะแนน แต่หากมีคะแนนไม่ถึง 74 คะแนนนั้น จะนำผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในลำดับที่ 1 และ 2 มาคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง