xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.หวั่น ส.ว.เลือกตั้งถูกครอบงำ ลามถึงองค์กรอิสระ อัดมีรับเงิน รบ. “นฤมล” จี้ถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิชาต” ตอก แก้ ส.ว.มีแต่เลือกตั้งหวังไร้ก้างขวางคอ รบ. ชี้มีข่าวบางคนรับเงินรัฐฯ ส.ว.อุตรดิตถ์โวยถอนคำพูดจนยอมถอน “วรงค์” หลอกด่า 7 อรหันต์ตั้ง ส.ว.ดีกว่า 1 ทรราช หวั่น ส.ว.เลือกตั้งอีกสมัยวิ่งเต้นไม่สน ปชช.เข้าทางพรรคการเมือง มี ส.ว.ทาสตาม ส.ส.ขี้ข้า องค์กรอิสระเสี่ยงถูกล้วง ยกอังกฤษยังไม่เลือกตั้งทั้งหมด แนะปรับเหลือ 4 ปีเท่า ส.ส.หากเลือกจริง ชี้แก้ ม.68 บันไดสู่รื้อ รธน.ทั้งฉบับ

วันนี้ (3 เม.ย.) การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ในการแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเพราะต้องการขจัด ส.ว.สรรหาไม่ให้มาทำหน้าที่ก้างขวางคอ แต่ต้องการมาครอบงำ ส.ว. ที่ผ่านมาหลายปีไม่สบายใจที่มีข่าว ส.ว.บางกลุ่มรับเงินเดือนรัฐบาล มีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับรัฐบาล ยืนอยู่ข้างรัฐบาลอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งนี้ ถ้า ส.ว.ต้องการมาจากการเลือกตั้งและอยู่ในวาระ 6 ปี ก็ควรแก้เหลือ 3 ปี เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่ามีความเป็นกลางหรือไม่ และมีหน้าที่เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายเพียงอย่างเดียว ท่านจะเอาหรือไม่

ทำให้นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ประท้วงขอให้ผู้อภิปรายถอนคำว่า ส.ว.ไปรับเงินเดือนรัฐบาล ซึ่งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา บอกว่าไม่ต้องถอน แต่นางนฤมลไม่ยินยอม เพราะการพูดเช่นนี้เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของวุฒิสภา ทำให้นายสมศักดิ์ต้องกลับคำวินิจฉัยให้นายอภิชาตถอนคำพูด ซึ่งในที่สุดนายอภิชาตก็ยอมถอน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ที่มาของ ส.ว.ต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อมากลั่นกรองกฎหมายและไม่ถูกการเมืองแทรกแซง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ส.ว.เลือกตั้งจะดีกว่า ส.ว.สรรหา แต่ขึ้นอยู่ที่การทำหน้าที่ว่าใครทำประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศชาติได้มากกว่ากัน

“ส่วนที่อภิปรายว่า ส.ว.สรรหามามีที่มาจากการสรรหาของแค่ 7 อรหันต์เท่านั้น เมื่อวานผมได้รับข้อความในมือถือจากชาวบ้าน บอกว่า 7 อรหันต์ดีกว่า 1 ทรราช ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นใคร” นพ.วรงค์กล่าว

นพ.วรงค์กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การเปิดให้ดำรงตำแหน่งในวาระต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นในช่วงสมัยที่ 2 ก็จะมีการหาเสียง วิ่งเต้นกับหน่วยราชการ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน จะเป็นช่องทางให้พรรคการเมืองเข้ามาครอบงำ ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.ขี้ข้า หากผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมี ส.ว.ทาสแน่นอน อีกทั้ง ส.ว.ต้องทำหน้าที่คัดเลือกองค์กรอิสระ หากการเมืองเข้าไปควบคุม ส.ว.ได้เท่ากับว่าก็เข้าไปควบคุมองค์กรอิสระได้ด้วย

นพ.วรงค์กล่าวว่า ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย สภาขุนนางที่เทียบเท่ากับวุฒิสภามีการสืบทอดตำแหน่งจากพ่อไปยังลูก และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการเลือกตั้งหรือสรรหา และหากจะเลือกตั้งก็จะมีการเลือกตั้งจากส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่เลือกจากฐานเดียวเหมือนกับ ส.ส.และหากมาจากการเลือกตั้งก็ไม่ควรมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี ควรเหลือเพียง 4 ปี หาก ส.ว.มาจากฐานเดียวกับ ส.ส.ก็ไม่จำเป็นต้องมีสองสภา มีเพียงสภาเดียวก็พอ

นพ.วรงค์กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรา 68 ที่มีการถกเถียงกันในประเด็นจะตัดอำนาจประชาชน ไม่ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยตรง แต่ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด พบว่านอกจากนี้ยังมีการหมกเม็ด ตัดวรรค 1 เพื่อให้ประชาชนสับสน เมื่อผ่านเท่ากับว่าเป็นการตัด มาตรา 68 ออกไปโดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญไม่อยากเห็นบันได 3 ขึ้นเกิดขึ้น เมื่อขั้นแรกแก้ มาตรา 68 ผ่านแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงมติ และบันได้ขั้นสุดท้าย คือ การรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งกังวลว่าจะเกิดการยุบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยุบศาลปกครอง ยุบศาลรัฐธรรมนูญให้เล็กลง ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมาจากรัฐสภา ที่สำคัญกังวลว่าประธานศาลฎีกาต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภา ถือเป็นการปฏิวัติ ยึดอำนาจในรูปแบบใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น