รองนายกฯ บอกกลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นตีความแก้ ม.68 เป็นสิทธิ ยันที่ขอแก้เพราะอัยการเป็นองค์กรสูงสุดตาม รธน. ยันรัฐบาลสั่งไม่ได้ ปัด “ขวัญชัย” พา “ทักษิณ” กลับบ้าน แค่กิจกรรมเสื้อแดง อีกด้านเชื่อนายกฯ มาเลย์ลาออกไม่กระทบเจรจาบีอาร์เอ็น ยันแก้ไฟใต้มาถูกทางแล้ว
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.00 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิของ ส.ว.ที่มองต่างมุมได้ แต่ข้อยุติขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องวินิจฉัย แต่ในมุมมองของตนนั้น ขอแค่มีการแก้ไขมาตรา 68 เพื่อให้ผ่านอัยการเพียงช่องทางเดียว จากเดิมตนคาดว่าจะไม่มีการอภิปรายแต่หลังจากที่มีการอภิปรายมาแล้ว 2 วัน มีบางคนที่นำเสนอมีเหตุผลแต่เป็นความคิดเห็นเฉพาะตัวไม่ใช่หลักการ
ทั้งนี้ กรณีที่มีบางคนระบุว่ารัฐบาลจะสามารถไปสั่งการศาลได้นั้น ตนมองว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องอัยการเป็นองค์กรสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอัยการจะทำหน้าที่ก็ต้องมีการถวายคำสัตย์ปฏิญาณ และต้องคัดเลือกผ่านวุฒิสภา นำความกราบบังคมทูลตามบทบาทหน้าที่ โดยอัยการสูงสุดจะเป็นหน่วยงานเดียวที่มาจากการพิจารณายากที่สุด ซึ่งการที่มีคนไประบุเรื่องดังกล่าวเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่า แต่ก่อนไม่มีใครที่จะร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญเพราะไปร้องเรียนอัยการ ซึ่งอัยการก็จะเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป อัยการสูงสุดไม่จำเป็นต้องอิงกับฝ่ายการเมือง เนื่องจากใครจะไปทำอะไรท่านไม่ได้ หากมีการให้ยุบพรรคก็แค่ตั้งใหม่ อย่าคิดว่าศาลจะไปประท้วง เพราะศาลมีความรอบครอบ ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะวุ่นวาย
“ถ้าคุณไม่เชื่ออัยการแล้วประเทศนี้จะอยู่กันอย่างไร คดีความต่างๆ อัยการก็เป็นผู้ดูความเห็นสอดคล้องและไม่คล้อง พอถึงศาลชั้นต้นหากมีการยกฟ้องอัยการอุทธรณ์ได้ หรือสองศาลไม่ตรงกัน อัยการฎีกาได้” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรนั้นจะไม่มีผลต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่สามารถพูดออกไปก่อนได้เพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของศาล แต่หากเกิดการยุบพรรคก็แค่ตั้งพรรคใหม่
ส่วนกรณีที่นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงภาคอีสาน ออกมาเร่งให้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาประเทศนั้น ตนเห็นว่านายขวัญชัยคงไม่ได้หมายความว่าจะเร่งออก พ.ร.บ.เพื่อจะให้อดีตนายกฯ กลับมา แต่เป็นเพียงกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น
นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึงการที่นายนาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีมาเลเชีย ประกาศยุบสภา ว่า จะไม่มีผลเกี่ยวกับการเจรจากลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งตนได้ให้แนวทางว่า หากใครจะไปประชุมที่ใดก็ตาม ต้องมาเข้าคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (ศปก.กปต.) เพื่อหารือบทสรุป เมื่อได้แนวทางอย่างไรก็ต้องมีการแถลงข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินสถานการณ์หลังการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ยังเร็วไปหลังจากมีการเจรจาในการประเมิน ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่มีการเจรจา ยืนยันว่ามาถูกทางแล้ว