สภาฯ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้ 2ล้านล้าน 284 เสียง ต่อ 152 เสียง งดออกเสียง 21 ไม่ลงคะแนน 7 เสียง ตั้ง คก.วิสามัญ 36 คน แปรญัตติภายใน 30 วัน นัดถกวันแรก 2 เม.ย. นี้
วันนี้ (29 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้เเทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .. จำนวน 2 ล้านล้านบาท นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ รมว.คลัง กล่าวสรุปก่อนลงมติว่า ผมสังเกตอภิปรายของ ส.ส.แทบทุกคนเห็นข้อดีของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง ส.ส.บางคนยังเห็นว่ายังครอบคลุมไม่เพียงพอ ซึ่งตนยืนยันว่าการลงทุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด แต่ผลประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นทั่วประเทศ เมื่อมีการเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ได้ตามแผน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลในการดูแลประชาชนให้ถ้วนทั่ว ยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติกับคนจังหวัดใดโดยเฉพาะ
1. ที่ ส.ส.ห่วงใยเรื่องการลงทุน 2 ล้านล้านบาท แต่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้ ที่เรียกว่าจีดีพี มีมูลค่าเป็นเงินบาท คือ 12 ล้านล้านบาทต่อปี การลงทุน 2 ล้านล้านบาทยังไม่ได้เกิดขึ้นในปีเดียว แต่ใช้เวลาถึง 7 ปี นอกจากนี้
ประเทศไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่ง ธปท.กำลังดูแลไม่ให้เกินภาวะล้นเกิน ด้วยการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจึงมีการจ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น การลงทุน 2 ล้านล้านบาท สภาพคล่องที่มีอยู่ในประเทศไทยจึงมาเกินความจำเป็น หากเกินดอกเบี้ย ประโยชน์จะเกิดกับผู้ออมในประเทศ
หากเทียบกับบุคคล ประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนที่มีร่างกายและจิตใจแข็งแรง การตัดสินใจลงทุนซื้อบ้านแล้วค่อยๆ จ่ายดอกเบี้ย พร้อมผ่อนเงินต้นให้หมดลง แต่อีกคนไม่ตัดสินใจลงทุนซื้อเงิน ค่อยๆ เก็บหอมรอบริด หลายปีผ่านไป คนหลังอาจจะซื้อบ้านของตัวเองไม่ได้ เพราะราคาบ้านจะมีแนวโน้มสูงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้านไปเรื่อยๆ คล้ายกับประเทศไทย สิ่งที่ไม่ได้จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ย ก็จ่ายเป็นค่าสูญเสียประสิทธิภาพแทน ดังนั้นหากมีการลงทุน ประเทศไทยจะมีจีดีพีสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ การประหยัดพลังงานจะทำได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี
2. เรื่องความโปร่งใส ยืนยันว่ามีการดำเนินการมาตรการของ ป.ป.ช รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และที่ห่วงว่าจะกู้มากอง ยืนยันว่าจะไม่เกิด เพราะร่าง พ.ร.บ.ไม่เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้น ที่สำคัญการจะอนุมัติให้กู้เงิน พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะกำหนดไว้ว่า จะต้องให้ ครม.เห็นชอบ ซึ่งจะต้องให้ 3 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นเสียก่อน
ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 27 ชั่วโมง ในที่สุดมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินด้วยคะแนนเสียง 284 เสียง ต่อ 152 เสียง งดออกเสียง 21 ไม่ลงคะแนน 7 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รวม 36 คน แบ่งเป็นของรัฐบาล 9 คน พรรคเพื่อไทย 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และพรรคชาติพัฒนาหรือพลังชล อีก 1 คน มีระยะเวลาแปรญัตติ 30 วัน โดยจะมีการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นครั้งแรก ในวันที่ 2 เม.ย. 2556