ที่ประชุม กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ “สุขุมพันธุ์” นั่งผู้ว่าฯ กทม.ไปก่อน หลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนไม่ทัน คาดพรุ่งนี้รับตำแหน่ง รายงานชี้ “สดศรี” หนึ่งเดียวค้าน อ้างขอเลื่อนตัดสิน ส่วน กกต.ฝ่ายสืบสวนฯ เผยมี 30 เรื่องร้อง วันนี้ถกเคส ปชป.ใส่ร้าย ยันทำให้แล้วเสร็จใน 1 ปี-กำหนด 21 เม.ย.เลือกตั้งซ่อม ส.ว.ระนอง
วันนี้ (27 มี.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 ประกาศให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปก่อน หลังจากที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนเสนอว่าไม่สามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันตามที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 กำหนดไว้ โดย 1 เสียงข้างน้อยเห็นควรให้ไปพิจารณาเรื่องประกาศรับรองผลในวันที่ 1 เม.ย. เพราะช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนครบ 30 วันในวันที่ 2 เม.ย. ยังเหลืออีก 6 วันน่าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนจะพิจารณาสำนวนร้องเรียนให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ในการประชุม กกต. ฝ่ายสืบสวนฯ ยังรายงานด้วยว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 30 คำร้อง โดยมีการร้องทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ได้รับเลือกตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ผู้จัดรายการทีวี ข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลเรื่องการปราศรัย และร้องผู้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ซึ่งที่ประชุม กกต.ในวันนี้ได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ กกต.กทม.มีมติเสนอมา 1 เรื่อง จากทั้งหมด 4 เรื่อง โดยเป็นเรื่องร้องเรียนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. และนางสิชา แสนสมบูรณ์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ร้องให้ตรวจสอบการปราศรัยหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปราศรัยว่า “อภิสิทธิ์เบอร์อะไร...เบอร์ 16” การโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมือง ในเฟซบุ๊กของนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และการโพสต์ข้อความในลักษณะ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ของนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการ ว่าเข้าข่ายเป็นการใส่ร้าย หลอกลวงผิดมาตรา 57 (5) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่
ทั้งนี้ ฝ่ายสืบสวนสอบสวนได้รายงานว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องคัดค้านของ กกต.กลางยังไม่แล้วเสร็จ กกต.จึงต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน และหลังจากนี้คณะอนุกรรมการฯก็จะมีพิจารณาสืบสวนต่อ และหากเห็นว่าจะต้องรับฟังถ้อยคำจากผู้ถูกกล่าวก็จะมีการเชิญผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำ แต่ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นสามารถที่อนุกรรมการจะสอบสวนให้ยุติได้ก็จะมีความเห็นเสนอต่อ กกต.ภายใน 3 เดือนนับจากนี้ เพื่อให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เหลืออยู่ของ กกต.แล้วเสร็จได้ทันภายใน 1 ปีนับแต่ประกาศรับรองผล
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทาง กกต.กทม.ได้รับการประสานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะเดินทางมารับหนังสือรับรองจากสำนักงานกกต.กทม.ในวันที่ 28 มี.ค.เวลา 10.30 น. ซึ่งหลังจากได้หนังสือรับรองแล้วม.ร.ว.สุขุมพันธุ์สามารถเดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้ทันที ส่วน 1 เสียงข้างน้อยที่เห็นควรให้มีการพิจารณาเรื่องการประกาศรับรองผลในวันที่ 1 เม.ย. ก็คือนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง
นอกจากนี้ นายภุชงค์ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทูลเกล้าเพื่อให้ตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ่อมสมาชิกวุฒิสภา จ.ระนอง แทนนายพรพจน์ กังวาล ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ผ่านมา โดยให้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย. เป็นวันเลือกตั้ง วันที่ 12-14 เม.ย.เป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง และลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนวันที่ 18 เม.ย.เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งนี้ เหตุที่ กกต.ต้องเสนอให้วันที่ 21 เม.ย.เป็นวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ เนื่องจากตามมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่มีตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลง โดยวันที่ 21 เม.ย.ที่ กกต.เสนอให้เป็นวันเลือกตั้งนั้น นับเป็นวันที่ 26 ที่ตำแหน่งว่างลงแล้ว