xs
xsm
sm
md
lg

ชาวราชปรารภประตูน้ำ ร้องผู้ตรวจฯ-พท. ถูกเวนคืนที่สร้าง MRT เอื้อห้าง “สันติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวแทนย่านราชปรารภ-ซ.รางน้ำ ยื่นผู้ตรวจฯ สอบ รฟม.เปลี่ยนแผนเวนคืนที่สร้างรถไฟใต้ดินสีส้มไม่โปร่งใส เชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์มะกะสันได้ไม่ทำ ไม่เคยรู้มีประชาพิจารณ์ เชื่อเอื้อห้างวอเตอร์เกทของ รมว.พม. จี้ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ พร้อมบุก พท. “ลีลาวดี” อ้างแค่จัดเวทีฟัง ปชช.ยังไม่ประชาพิจารณ์ รมว.คค.ยันไม่เอื้อให้ใคร รับยุ่งกู้ 2 ล้านล้าน ผ่านแล้วเคลียร์ให้ ตัวแทน ปชช.พร้อมถก กมธ.และรฟม.

วันนี้ (26 มี.ค.) นายเรืองยศ กรรณเทพ ตัวแทนชาวบ้านราชปรารภ และนายประเสริ์ฐ ชัยพรแก้ว ตัวแทนชาวบ้านย่านซอยรางน้ำ พร้อมคณะราว 20 คน ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท พีบี เอเชีย จำกัด บริษัท นอร์ซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของ รฟม. กรณี รฟม.จะเวนคืนที่ดินของชาวบ้านย่านราชปรารภเพื่อสร้างสถานีราชปรารภ และสถานีรางน้ำในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม อย่างไม่เป็นธรรม

โดยนายเรืองยศกล่าวว่า ตามแผนแม่บทเดิมของ รฟม.โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี จะมีเส้นทางวิ่งจากตลิ่งชันมาอนุสาวรีย์ฯ มาดินแดง ผ่านกรุงเทพมหานคร และไปศูนย์วัฒนธรรม ก่อนต่อไปยังมีนบุรี แต่ปรากฏว่าอยู่ดีๆ รฟม.ก็กลับเปลี่ยนเส้นทางวกเข้ามาในพื้นที่ชุมชนของชาวบ้านย่านราชปรารภ รางน้ำ โดยอ้างเรื่องเทคนิค และความเจริญของส่วนรวม ทำให้ชาวบ้านที่พักอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวโดยถือครองโฉนดอย่างถูกต้องได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเวนคืน

“ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนาประเทศ แต่คัดค้าน รฟม.ที่กำลังดำเนินโครงการไม่โปร่งใส เพราะนอกจากจะเปลี่ยนเส้นทางวกเข้ามาในพื้นที่ชุมชนโดยไม่จำเป็นแล้ว ที่ดินที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน 70 คูหาซึ่งอยู่บริเวณตรงข้ามกับโรงแรมอินทรา ที่ รฟม.อ้างว่าจะต้องเวนคืนรวม 8 ไร่ รฟม.บอกว่าจะเอาไปทำแค่ทางขึ้นลงสถานี ทั้งที่ความจริงแล้วการทำทางขึ้นลงสถานีไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินมากถึงขนาดนั้น การเวนคืนที่ดินจึงทำมากกว่าความจำเป็น อีกทั้งที่น่าสงสัย ทำไมเส้นทางที่ รฟม.จะทำจึงไม่กำหนดพื้นที่สร้างสถานีราชปรารภให้เชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ที่อยู่บริเวณแยกมะกะสัน และมีที่ดินของการรถไฟฯ ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อยู่ รวมทั้งมีการอ้างว่าก่อนหน้านี้ได้เข้ามาทำประชาพิจารณ์แล้ว แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่เคยรับรู้เลย ประเด็นเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และเชื่อว่าที่ รฟม.เปลี่ยนเส้นทาง รวมทั้งเวนคืนที่ดินชาวบ้านบริเวณดังกล่าวก็เพื่อเป็นเอื้อประโยชน์ให้แก่ห้างสรรพสินค้าวอเตอร์เกท พาวิลเลียน ที่น่าเชื่อว่านายสันติ รมว.พัฒนาสังคม เป็นเจ้าของอยู่ และกำลังใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จ” นายเรืองยศกล่าว และว่าขณะนี้ รฟม.กำลังเร่งสำรวจพื้นที่ และเตรียมที่จะเสนอรัฐบาลเพื่อขอให้ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าหากล่าช้าก็จะได้รับความไม่เป็นธรรม จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งดำเนินการตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านย่านราชปรารภและประตูน้ำกว่า 50 คนได้เดินทางมารวมตัวประท้วงหน้าอาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย เรียกร้องขอความชัดเจนกรณีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยนายธีรินทร์ เศรษฐสมภพ แกนนำกลุ่มประชาชนราชปรารภและประตูน้ำ เปิดเผยว่า ไม่ได้ต้องการคัดค้านการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 2 แห่ง แต่ขณะนี้ต้องการเรียกร้องว่าขนาดโครงการมีการเวนคืนพื้นที่เยอะเกินความจำเป็นส่งผลให้ต้องเวนคืนที่ดินของชาวบ้านกว่า 200 คูหา อีกทั้งระยะห่างระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินราชปรารภและประตูน้ำนั้นมีระยะห่างเพียง 600 กว่าเมตรเท่านั้น จึงตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องสร้างสถานีรถไฟฟ้าถึง 2 สถานีในจุดที่ตั้งที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนจาก รฟม.ได้มารับยื่นหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยทาง รฟม.ระบุว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านเป็นเพียงการประชุมหารือแบบมีส่วนร่วมตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการจัดทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ที่เดินทางมารับเรื่องภายหลังกล่าวยืนยันว่า การเวนคืนที่ดินในการก่อสร้าง 2 สถานีเป็นไปตามหลักเทคนิควิศวกรรมตามหลักความปลอดภัยและขนาดโครงการ ไม่ได้เอื้อธุรกิจพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งนี้ยืนยันว่ามีความจำเป็นในการก่อสร้างสถานีราชปรารภ เนื่องจากต้องการให้เป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้กำลังวุ่นกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา หลังร่าง พ.ร.บ.ผ่านแล้วจะกลับมาดูรายละเอียดของโครงการให้ชัดเจนขึ้น และจะหามาตรการเวนคืนที่ดินให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และหากเป็นไปได้อาจจัดทำโครงการเยียวยาโดยสร้างพื้นที่ห้องแถวกลับคืนให้ชาวบ้าน

นายธีรินทร์กล่าวภายหลังว่า หลังจากนี้วันที่ 4 เม.ย.จะมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการระบบราง ที่มีนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน ที่รัฐสภา ทางตัวแทนกลุ่มชาวบ้านย่านราชปรารภและประตูน้ำจะเข้าร่วมชี้แจงเพื่อไถ่ถามความคืบหน้าของการเวนคืนที่ดินของโครงการนี้ และในวันที่ 9 เม.ย.ทาง รฟม.จะนัดประชุมหารืออีกครั้ง โดยทางตัวแทนกลุ่มจะเข้าร่วมพูดคุยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวชาวบ้านราชปรารภรายหนึ่งเปิดเผยว่า นอกจากจะมีการสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินถึง 2 สถานีในบริเวณใกล้เคียงกันแล้ว โครงการนี้ยังมีการเวนคืนที่ดินเกินความจำเป็นกินพื้นที่กว้างถึง 30 เมตร ส่งผลให้เฉพาะย่านราชปรารภต้องมีอาคารถูกเวนคืนถึง 100 กว่าคูหา ทั้งนี้เนื้อที่การเวนคืนยังเชื่อมต่อไปยังห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านประตูน้ำของทายาทรัฐมนตรีฟากรัฐบาลรายหนึ่ง ซึ่งต้องการตั้งข้อสงสัยว่าสาเหตุที่ต้องเวนคืนเยอะเพื่อต้องการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องเดียวกันหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น