มหกรรมม็อบบุกทำเนียบ กลุ่มแพทย์ชนบทชุมนุมไล่ “นพ.ประดิษฐ” พ้น รมว.สาธารณสุข เหตุบริหารงานสร้างปัญหาให้แพทย์ ส่วนกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขจี้รัฐบาลเร่งบรรจุเข้ารับราชการ ด้านสมาชิก กบข.ร้องให้แก้ไขกฎหมาย ม.63 ที่หมกเม็ดเอาเปรียบข้าราชการ
ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (26 มี.ค.) กลุ่มแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร และเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ แต่งกายชุดสีดำรวมตัวชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมนำพวงหรีดป้ายประท้วงและป้ายขับไล่น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกจากตำแหน่ง รวมถึงได้มีการนำโลงศพ หุ่นฟางที่มีภาพและเขียนชื่อตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข พร้อมทั้งวางดอกไม้จันจุดธูปเทียนเพื่อเผาขับไล่ด้วย
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ว่า การเคลื่อนไหวขับไล่ นพ.ประดิษฐครั้งนี้เพราะที่ผ่านมาบริหารงานมีปัญหา และมีการรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง รวมถึงพยายามผลักดันให้แพทย์ออกจากการสังกัดของรัฐโดยให้ไปอยู่กับภาคเอกชนที่ต้องการจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคัลฮับ
อีกทั้งมีอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย คือ การเปลี่ยนการจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายเบี้ยทุรกันดาร ให้จ่ายเป็นเบี้ยขยันตามภาระงาน ทำให้แพทย์ขาดขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้แพทย์ต้องเร่งตรวจผู้ป่วยจำนวนมากๆ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบคุณภาพการรักษา
นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า การชุมนุมวันนี้จะไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ เพราะได้ยื่นหนังสือหลายครั้งแล้ว และจะชุมนุมจนกว่าจะปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่ง โดยจะคอยประเมินสถานการณ์เพื่อรอดูท่าทีความเคลื่อนไหวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากชมรมแพทย์ชนบทแล้ว ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สถาบันนอกสมทบ) นำโดยนายยุทธนา โคตะระ ประธานเครือข่ายฯ ได้มาชุมนุมติดกับกลุ่มแพทย์ชนบท ทำให้มีผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ถนนพิษณุโลกที่อยู่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมปิดการจราจรทำให้รถไม่สามารถวิ่งผ่านไปมา
ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขฯ ได้ออกแถลงการณ์ร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลชี้แจงการบรรจุข้าราชการ พร้อมกับขอให้ น.ส.ยิ่งลักษ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งให้การบรรจุนักวิชาการสาธารสุขปฏิบัติการที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวใน 21 สายงานเป็นข้าราชการ
ด้าน พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 ได้เจรจากับ นพ.เกรียงศักดิ์ ที่เป็นแกนนำเพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดการจราจรและส่งตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลในทำเนียบ แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมยังไม่ยินยอมโดยยืนยันว่าจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง
ขณะเดียวกันยังมีองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย ก็มารวมตัวบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย กบข.มาตรา 63 ใน 4 ประเด็นหลักคือ เมื่อเกษียณอายุราชการขอให้ได้บำนาญสูงขึ้น, ให้สามารถลาออกได้, เมื่อเสียชีวิตให้ทายาทได้รับประโยชน์ที่เป็นธรรม และให้มีผลย้อนหลังไปถึงสมาชิกที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นผล ให้ยกเลิก กบข.แล้วไปรับบำนาญตามสูตรเดิม ปี 2494 โดยไม่มีเงื่อนไข
ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว พร้อมเร่งรัดให้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่สภา เพื่อให้มีการพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้ โดยหากไม่นำเข้าสภาจะไปชุมนุมเรียกร้องหน้ารัฐสภาต่อไป
นอกจากนี้ บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีสหภาพแรงงาน ขสมก.ที่ปักหลักชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งฟื้นฟูแผนฟื้นฟู ขสมก. พร้อมให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการฟื้นฟู และขอให้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเพิ่ม เพราะเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท