xs
xsm
sm
md
lg

"ส.ว.ประสาร"ชี้สมควรตายไหม? แก้ ม.68 จำกัดสิทธิ ปชช. - จี้ ก.พลังงานแจงค่าน้ำมันดิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา(แฟ้มภาพ)
“ประสาร” ย้ำเจตนารมณ์ รธน.40-50 หนุน ปชช.พิทักษ์ รธน.ผ่านศาล รธน. ตอกแนวคิดแก้ ม.68 ยกเลิก ละเมิดสิทธิ ปชช. ชี้ใจร้ายสมควรตายไหม “รสนา” แจง กมธ.สอบค่าน้ำมันดิบและค่าภาคหลวง หลังมีพิรุธส่งออกน้ำมัน ส่อถึงกรมเชื้อเพลิงฯ มีปัญหา แถมข้อมูลเว็บไซต์ถูกลบ บี้ ก.พลังงานกู้ข้อมูลให้ กมธ.

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา หารือว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กำหนดให้ผู้ที่ยื่นพิทักษ์รัฐธรรมนูญต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น แต่เนื้อหาของมาตรา 68 คือการพิทักษ์สิทธิของประชาชน ตอกย้ำด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ชี้ว่าการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 69 เพื่อเป็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และจากรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 และ 2550 ก็มีเจตนารมณ์ร่วมกันให้ประชาชนสามารถพิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญ

นายประสารกล่าวต่อว่า การตีความผู้มีสิทธิเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรตีความไปในแนวของการยอมรับสิทธิมิใช่การจำกัดสิทธิ เพื่อให้ศาลสามารถเข้ามาตรวจสอบการกระทำที่อาจมีปัญหาตามมาตรา 68 วรรค 1 เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ควรจำกัดสิทธิประชาชน ทำไมถึงมาละเมิดสิทธิ ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิ ละเมิดสิทธิ ถือเป็นการใจร้ายต่อประชาชนหรือไม่ ในเมื่อสิทธิของประชาชนมีอยู่ เช่นนั้นแล้วการใจร้ายกับประชาชนสมควรตายไหม

ส่วน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. หารือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เสริมสร้างธรรมมาภิบาล ด้านพลังงาน คณะ กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กำลังตรวจสอบเกี่ยวกับค่าน้ำมันดิบและค่าภาคหลวงที่ประเทศได้รับ ทางอนุฯ ได้เปรียบเทียบระหว่างปี 2544 กับปี 2555 พบข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาเฉพาะแหล่งเดียวคือแหล่งทานตะวัน ปี 2544 มีการส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 31 ล้านลิตรต่อวัน ในราคา 4.95 บาท แต่ในปี 2555 ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านลิตรต่อวัน ในราคา 21.78 บาท แต่ปรากฏว่าค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับกลับลดลง 6.63% ซึ่งสะท้อนว่าการบริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อาจจะมีปัญหา ขณะที่อนุฯ กำลังตรวจสอบอยู่ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม เว็บไซต์หน้านั้นก็ถูกลบทิ้งไป จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสงสัยว่าธรรมมาภิบาลของกระทรวงพลังงานกำลังถูกตั้งคำถาม อยากทราบว่าเหตใดจึงมีการลบทิ้งข้อมูลหน้านั้นไป

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า ขอให้กระทรวงพลังงานสั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำข้อมูลนั้นกลับมาใหม่ เพราะเป็นข้อมูลย้อนหลัง 12 ปี ที่พูดถึงการส่งออกน้ำมันดิบ และค่าภาคหลวงที่ประเทศได้รับ ซึ่งการตรวจสอบของอนุฯก็เพื่อให้ทันเปิดสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ของกระทรวงพลังงาน โดยหากไม่มีปรับปรุงค่าภาคหลวงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงควรนำข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น