โฆษกผู้ตรวจฯ แจงหลังถกร่วมฝ่ายเกี่ยวข้องปัญหาที่ดิน ปชช.ปากช่อง ที่ สตช.จะสร้างสถาบันดีเอสไอ รับเข้าใจทั้งสองฝ่ายพร้อมไกล่เกลี่ยหาจุดลงตัว เผยจัดสัมมนาครบรอบ 13 ปีผู้ตรวจฯ มี ปธ.องคมนตรีเป็น ปธ. แบ่งสัมมนาทั้งวิชาการ ปฏิบัติ และศึกษาดูงาน แจงที่ผ่านมาเคลียร์เรื่องร้องเรียนถึงร้อยละ 93.95 ชี้ปีงบ 56 สตช.ถูกร้องแยะสุด มท.รองลงมา
วันนี้ (18 มี.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 15 มี.ค.เพื่อแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านหมู่ 14 บ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มาร้องขอความเป็นธรรมให้ผู้ตรวจการแผ่นดินประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้หยุดการรื้อถอนในเขตพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่ชาวบ้านเข้าทำกินอยู่ 1,900 ไร่เศษนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะนำไปก่อสร้างสถาบันการอบรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษจำนวนเท่าใด
นายรักษเกชาระบุว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ นครราชสีมา มีหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย รวมถึงผู้แทนของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมช.คมนาคม และกลุ่มชาวบ้าน โดยที่ประชุมเข้าใจเหตุผลความจำเป็นของ สตช. ที่อ้างว่าได้เสนอแผนการดำเนินโครงการนี้โดยจัดสรรงบประมาณไว้แล้วเบื้องต้น 300 ล้านบาท และจะเสร็จสิ้นเต็มรูปแบบในปี 59 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สตช.จะต้องมีบทบาทสำคัญ แต่ก็กังวลว่าชาวบ้านจะอพยพไปอยูที่ใด และจะทำมาหากินอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วราชการจะต้องหาพื้นที่เหมาะสมสามารถดำรงชีพทดแทนให้กับชาวบ้าน ต้องตั้งงบประมาณเพื่อการอพยพ จึงได้มีการขอให้ สตช.เป็นผู้ขอตั้งงบประมาณเพื่อในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะดำเนินการเป็นระยะ ซึ่งหากพื้นที่บางแห่งยังไม่มีแผนการใช้ หรือการก่อสร้างก็ให้ สตช.อนุญาตให้ชาวบ้านได้ใช้ทำมาหากินเพื่อดำรงชีพไปพลางก่อน ซึ่งผู้ตรวจฯพร้อมที่จะเป็นผู้คอยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ นายรักษเกชายังกล่าวถึงการจัดงานครบรอบ 13 ปีของการก่อตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระหว่างที่จะมีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการและสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ และสมาคมผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 3-6 เม.ย. ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพ โดยในวันที่ 3 เม.ย.ได้รับเกียรติจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรษ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ จากนั้นก็จะมีการแบ่งประเด็นสัมมนาเป็น 3 ภาค ภาคแรกเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการนะดับนานาชาติ หัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน : ความเป็นธรรมที่จับต้องได้” ภาคที่ 2 เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านหลักวิธีการสอบสวน สำหรับเจ้าหน้าที่สอบสวนสำหรับเจ้าหน้าที่สอบสวนจากหน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดินนานาชาติ ในหัวข้อ “การไต่สวนความจริงทางปกครอง : บทเรียนจากนานาชาติ” และภาคที่ 3 เป็นการศึกษาดูงานเชิงวัฒนธรรมภายหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีเกี่ยวกับประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในสายตานานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการดำเนินการด้านการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนมีทั้งสิ้น 28,929 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 27,178 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.95 อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 1,751 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 6.05% สำหรับในปีงบประมาณ 2556 คือ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 - มี.ค. 56 ได้รับเรื่องร้องเรียน จำนวน 1,746 เรื่อง หน่วยงานที่ถูกประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ ดำเนินคดีล่าช้า กลั่นแกล้ง รวมทั้งปัญหาความประพฤติของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรองลงมา คือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้อง รวมทั้งปัญหาความประพฤติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มิใช่ว่าร้องเรียนแล้วก็จะเป็นจริงตามคำร้องเรียนทุกเรื่องโดยทันที