ไม่ผิดคาดใดๆ เลยกับ “ท่าทีความเคลื่อนไหว”ในเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองของ 42 ส.ส.เพื่อไทย
ไม่ ว่าจะเป็นกับตัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ท่องสูตรเดิมเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติจะไปพิจารณา ดำเนินการ คือชัดแล้วว่านายกรัฐมนตรีปัดเรื่องนี้ออกไปให้ไกลจากรัฐบาล ไม่ขอมีส่วนร่วมในการรับเป็นเจ้าภาพทั้งเจ้าภาพหลัก และเจ้าภาพร่วม
รวมทั้งการนัดหารือเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของเจริญ จรรย์โกมล
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่แม้จะมีความพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้ภาพการประชุมดังกล่าวเกิดความชอบธรรม ในการนำไปเป็นบันไดไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เมื่อตัวแทนหลายกลุ่มปฏิเสธการเข้าร่วมหารือ
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-พรรคประชาธิปัตย์-นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภริยาพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม -กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม
ทำให้แผนการที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ในการปูทางออกกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านเจริญ จรรย์โกมล ดูลู่ทางแล้ว เดินไปด้วยความยากลำบากเพราะกระแสสังคมไม่ตอบรับและรู้เท่าทันแผนการนี้
ไม่เว้นแม้แต่การประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ยื้อเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ตามคาด ยังไม่มีการนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมส.ส.วันดังกล่าวอย่างจริงจัง
แม้ตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสไกป์มายังที่ประชุมส.ส.พรรคในวันดังกล่าวว่า หากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วย เอายังไงก็เอากัน แต่สุดท้ายที่ประชุมส.ส.เพื่อไทย ก็ถ่วงเวลาเรื่องนี้ออกไปอีกตามคาด
ส่วนที่บอกว่าจะมีการนำเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาคุยกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้านี้คือวันที่ 19 มีนาคม เชื่อว่าก็คงเหมือนเดิม คือถึงต่อให้ตัวแทน 42 ส.ส.เพื่อไทยที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ… ไปอธิบายและโน้มน้าวให้ส.ส.พรรค ฟังถึงเหตุผลความจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้ ว่าจะมีผลดีต่อคนเสื้อแดงที่ เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างไร
ยังไงเสียก็เชื่อว่า ที่ประชุมส.ส.เพื่อไทย สุดท้ายก็คงได้แค่รับฟัง อาจมีการแสดงความเห็นกันพอหอมปากหอมคอ แต่ก็คงไม่ได้มีมติพรรคใดๆ ออกมา ยิ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯในสัปดาห์นี้ ก็คาดได้เลยว่า เพื่อไทย ก็ยังยื้อเรื่องนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ทางออกของเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยเสียฐานคะแนนนิยมจากคนเสื้อแดง ทั้งพรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาล ก็คงใช้วิธีประนีประนอมคือบอกให้เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.เพื่อไทย หากว่าสุดท้ายพวกกลุ่มแกนนำ 42 ส.ส.เพื่อไทยจะลุยหักดิบขอใช้เอกสิทธิ์โดยไม่ต้องมีมติพรรคเพื่อไทยและไม่ต้องมีมติวิปรัฐบาล ด้วยการที่ตัวแทนกลุ่ม 42 ส.ส.ที่ข่าวว่ามอบหมายกันแล้วให้ทำเรื่องนี้ในสภาฯ ก็คือ วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ จะหักดิบเสนอกลางที่ประชุมสภาฯ หลังมีการบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระของสภาฯ เพื่อขอให้สภาฯมีมติด้วยเสียงข้างมาก เลื่อนเอากฎหมายนิรโทษกรรมฯดังกล่าวลัดคิววาระอื่น ๆขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งการจะทำได้ต้องใช้เสียงส.ส.รับรองเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.คือ 250 คนขึ้นไป
หากว่าสุดท้ายเสนอกันแล้ว เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบให้สภาฯลัดคิวกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาตามที่พวก 42 ส.ส.เพื่อไทยต้องการ
ข่าวบอกว่า เรื่องนี้มีข้อตกลงกันภายในระหว่างพวก 42 ส.ส.เพื่อไทยกับพวกแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนเอาไว้แล้วว่า ถ้าเสนอกันแล้ว เสียงส่วนใหญ่สภาฯไม่เอาด้วย พวกกลุ่มส.ส.เพื่อไทยที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็จะยุติการเคลื่อนไหวทันที ไม่มีการออกมาโวยวายอะไรเพราะถือว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ต้องแช่ร่างกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ รอจนกว่ามติวิปรัฐบาลและเสียงพรรคร่วมรัฐบาลจะไฟเขียวค่อยมาว่ากันใหม่
วิธีการนี้ แหล่งข่าวแจ้งว่า ระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยและส.ส.สายเสื้อแดงบางคนได้มีการคุยกันเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะก็ไม่ทำให้พวก 42 ส.ส.เพื่อไทยเสียหน้า เพราะถือว่าได้ทำกันแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าหากมีการเห็นชอบให้เลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา พิจารณาแล้ว หลังจากนั้นจะเกิดปัญหาความวุ่นวายกันกลางที่ประชุมสภาฯ ที่คาดว่าส.ส.ประชาธิปัตย์ คงคัดค้านอย่างหนัก ถึงขั้นทำให้การประชุมสภาฯเดินต่อไปไม่ได้ หากที่ประชุมสภาฯเห็นชอบให้มีการเลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาลัดคิววาระ อื่นๆ ที่หากเพื่อไทยรับมือไม่ได้เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนพยายามผลัดดันร่างกฎหมายปรองดอง ก็คงไม่เป็นผลดีต่อเพื่อไทยมากนัก
ดังนี้ ก็อยู่ที่พวก 42 ส.ส.เพื่อไทยแล้วว่า จะเดินหน้าลุยจริงหรือไม่ หากว่าสุดท้ายมีการบรรจุระเบียบวาระร่างพรบ. นิรโทษกรรมฯที่ 42 ส.ส.เพื่อไทยเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯแล้ว พวกกลุ่ม 42 ส.ส.เพื่อไทยดังกล่าว จะกล้าหักดิบเสนอให้ที่ประชุมสภาฯเลื่อนเอากฎหมายนี้ลัดคิวขึ้นมาพิจารณา ก่อนกฎหมายฉบับอื่นๆที่ค้างอยู่จำนวนมาก
โดยอ้างว่าเป็นเรื่อง “เร่งด่วน”จำเป็นต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วน เพราะยังไงเสีย กว่าสภาฯจะปิดก็ประมาณ 19 เมษายน ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าวต้องถูกบรรจุดเข้าสู่ระเบียบวาระแน่นอนอยู่แล้ว
ทีมข่าวการเมือง วิเคราะห์ดักทางพวก 42 ส.ส.เพื่อไทยเอาไว้ว่าจะกล้าเอาจริงหรือไม่ในการเสนอโหวตกลางสภาฯหรือว่าจะกลืนน้ำลาย ไม่กล้าทำเมื่อถึงเวลาจริง โดยเฉพาะหัวหอกอย่างวรชัย เหมะที่นอกจากเป็นส.ส.สมุทรปราการแล้วยังเป็นแกนนำนปช.คนสำคัญซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์เรียกราคาหลายครั้ง ว่าไม่สนมติพรรคและมติวิปรัฐบาล จะลุยโหวตกลางสภาฯเดินหน้าออกกม.นิรโทษกรรมฯ สถานเดียว
เกรงว่า เมื่อถึงวันนั้น หากวรชัยและพวก 42 ส.ส.เพื่อไทยโดนพวกแกนนำพรรคเพื่อไทย สั่งเบรคหรือล็อบบี้สั่งให้หุบปากยุติการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะโดนขึ้นบัญชีดำ อาจไม่ส่งลงเลือกตั้ง
ถ้าเจอไม้นี้เข้าไป ที่ว่าเอาแน่ ลุยแน่ ไม่มีกลัว ต้องช่วยเหลือประชาชน ต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับมวลชน
ถึงเวลาจริงๆ กลัวจะฝ่อ จนชักแขนที่จะเสนอโหวตกลับไปซุกในกระเป๋ากางเกงแทบไม่ทัน !
เนื่องจากตอนนี้ พูดกันไปทั่วสภาฯ ว่ามีการสั่งการลงมาจากระดับบนสุดของเพื่อไทยแล้วว่า ภารกิจใหญ่สุดของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยในช่วงก่อนปิดสภาฯอีก 5 สัปดาห์ต่อจากนี้
คือต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทสำเร็จ ลุล่วงคลอดออกมาจากสภาฯแบบลื่นไหลคล่องตัว
จึงไม่อยากให้มีปัญหาการเมืองอะไรมาทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ติดขัด เนื่องจากผลของกฎหมายดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีเงินตุนในกระเป๋าจำนวนมากเพื่อเอาไปทำโครงการใหญ่ยักษ์ด้านการก่อ สร้างระบบคมนาคมขนส่งที่จะนำไปสู่การหาเสียงโฆษณากับประชาชนได้ว่าเป็นทั้ง หมดเป็นผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย
ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่จะตามมาก็คือ เม็ดเงินโครงการต่างๆ ที่อยู่ใน 2 ล้านล้านบาทดังกล่าว มันจะเป็น “เค้กก้อนใหญ่”ที่คนหลายกลุ่มจดจ้องอยู่โดยเฉพาะการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ รัฐบาลจึงต้องประคองเค้กก้อนนี้ให้ดีที่สุด
ยิ่งปรากฏว่ายังไม่ทันจะเอาเข้าครม.วันอังคารที่ 19 มี.ค.ฝ่ายค้านก็ขู่ฟอดแล้วว่าอาจมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกู้เงินดังกล่าวว่ามีปัญหาในข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ แม้จะเป็นการกู้เงินผ่านการออกเป็นพระราชบัญญัติไม่ใช่พระราชกำหนด แต่ก็น่าจะมีประเด็นส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัยได้ รวมถึงเริ่มมีเสียงวิจารณ์ตามมามากถึงการกู้เงินดังกล่าวจำนวนมากของรัฐบาลว่าจะมีผลดีผลเสียอย่างไร
ก็ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย จะต้องทุ่มสมาธิและการเตรียมการทุกอย่างไปที่การผลักดันเรื่องนี้ จึงไม่อยากให้เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมที่แกนนำพรรคเพื่อไทยมองว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและมีความเสี่ยงทางการเมืองสูงหากเอาเข้ามาในสภาฯ มาทำให้ “เค้กก้อนใหญ่”ที่รอกันอยู่มีปัญหา จนกลายเป็นการสร้างปัญหาการเมืองขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
การชะลอเรื่องและอาจถึงขั้นสั่งเบรคหัวทิ่มเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาฯ ในช่วงนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูง เพื่อรอให้เรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สำเร็จก่อนแล้วหากมีเวลาเหลือ ค่อยมาตั้งหลักคุยกันใหม่ว่าจะเอายังไง เรื่องนิรโทษกรรม
หากออกมาแนวนี้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องใช้วิธีซึ่งทำให้ออกมาแล้ว รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่เสียหายในสายตาคนเสื้อแดง ที่จับได้อีกครั้งว่า มันต้มกูอีกแล้ว