xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ สมช.อ้าง “รัฐปัตตานี” แค่คาดการณ์ พบโจรใต้ 9 กลุ่มเล็งร่วมเจรจาหวั่นตกขบวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) (ภาพจากแฟ้ม)
สมช.ปัดแนวคิด “รัฐปัตตานี” ย้ำแค่คาดการณ์ว่า “บีอาร์เอ็น” จะหยิบมาพูดคุย ยันยึดหลักสันติวิธีใต้รัฐธรรมนูญ “สุกำพล” วอนอย่าคิดล่วงหน้า อุบไต๋ไม่บอกรับได้-ไม่ได้ ด้าน 9 กลุ่มโจรใต้เล็งร่วมวงเจรจาดับไฟใต้ หวั่นตกขบวน เตรียมถกลับ “ดุลเลาะห์ แวมานอ” หัวหน้าคุมทหาร-อาร์เคเค แกนนำ “บีอาร์เอ็น” คุยไฟใต้เบาลง เพราะสั่งการหยุดบึ้มได้

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.20 น. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุม สมช. เพื่อหารือกรอบการเจราจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 มี.ค.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อคณะอนุกรรมการที่จะไปร่วมประชุมกันฝ่ายละ 15 คน แต่ในขณะนี้รายชื่อที่มียังเกินอยู่ และตนจะคัดเลือกให้เหลือ 15 คน ว่าจะเป็นใครบ้าง สำหรับประเด็นแรกที่จะคุยกันคือเรื่องของการหาทางออกเรื่องลดความรุนแรง ซึ่งหมายความว่าทางฝ่ายกองกำลังของเรายังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามา เนื่องจากเป็นเรื่องของการปูทาง โดยจะใช้ในส่วนของภาคพลเรือน ฝ่ายประชาสังคม รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศก็จะส่งตัวแทนของร่วมพูดคุยด้วย

เมื่อถามว่า ใน 15 คนของฝ่ายกลุ่มบีอาร์เอ็นจะมีการส่งแกนนำระดับใดมาหารือกับทางฝ่ายไทย เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า คงสัปดาห์หน้าตามที่ตกลงกันไว้ที่จะเห็นรายชื่อทั้งสองฝ่าย โดยคณะทำงานฝ่ายไทยจะมีตนเป็นหัวหน้าคณะถาวร แต่ในส่วนของลูกทีมจะมีการสับเปลี่ยนกันไปตามประเด็นที่จะพูดคุย แต่ยังคงมีตัวยืนหลักประมาณ 2-3 คน ซึ่งกรอบเจรจายังคงยืนอยู่ในหลักสันติวิธี ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเป็นหลัก ตามนโยบายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมาย ส่วนรายละเอียดนั้นเมื่อมีการพูดคุยกันข้อเสนอของแต่ละฝ่ายจะเริ่มปรากฏชัด และจะกำหนดเป็นข้อยุติได้

เมื่อถามว่า มีกระแสว่าในที่สุดการเจรจาจะนำไปสู่รัฐปัตตานี พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ในข้อเท็จจริงนั้นรัฐปัตตานี เป็นการประเมินสถานการณ์ว่าเขาจะต้องหยิบยกมาพูดคุยกับเรา ที่ตรงนี้ยังไม่รู้ว่าข้อยุติในการปกครองที่เหมาะสมที่จะเขาจะหยิบยกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับการพูดคุยเป็นระยะ

ถามต่อว่า เมื่อพูดถึงรัฐปัตตานีจะได้รับแรงเสียดทานจะหลายฝายที่ไม่สนับสนุน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ยังไม่มีแรงเสียดทาน ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสนอของฝ่ายขบวนการจริง แต่ฝ่ายเราจะต้องกลับมาตกผลึกกันก่อน ทั้งภาคประชาสังคม ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกระบวนการนั้นต้องพูดคุยกันอีกนาน ซึ่งเมื่อตกผลึกร่วมกันแล้วยังต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา แต่ในขั้นต้นเป็นเพียงการคาดการณ์ที่ว่าเขาจะต้องนำมาพูดคุยกับเราแน่นอน

เมื่อถามว่า คณะทำงานชุดนี้มีกฎระเบียบอะไรมารองรับอำนาจหน้าที่ในการเจรจา พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เรื่องการพูดคุยตามกติกาข้อบังคับมีอยู่แล้ว ซึ่งเราได้ทำโรดแมปในการพูดคุยออกมาแล้ว ที่อีกระยะก็จะนำมาเปิดเผย แต่การพูดคุยไม่มีสภาพบังคับเป็นข้อตกลงตามสัญญา เป็นการพุดคุยตามปกติ ดังนั้นการประชุมในวันนี้ข้อสรุปคือได้ประเด็นที่จะพูดคุย และคณะทำงานที่จะไปพูดคุย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของเหตุการณ์ความรุนแรงมีกรอบหรือหลายเงื่อนไขเพราะถ้าพูดถึงการรวบรวมภาพก็จะใหญ่เกินไป อาจต้องลึกลงไปในรายละเอียดบางประการ เช่น เป้าหมายที่ถูกกระทำนั้นความรุนแรงประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือเป้าหมายที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเขาก็ไม่สมควรดำเนินการก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราต้องหยิบมาพูดคุยกัน

เมื่อถามว่าอะไรจะเป็นสิ่งยืนยันว่าจะมีการลดความรุนแรงหลังการพูดคุยวันที่ 28 มี.ค. พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เมื่อไปพูดคุยกับเขาแล้วมีกรอบระยะเวลาระยะหนึ่งที่ฝ่ายตัวแทนของเขามาพูดคุย และจะส่งสัญญาณไปยังกองกำลังของเขา ตรงนั้นข้อเท็จจริงถึงจะปรากฏ และจะพิสูจน์ได้ว่าการพูดคุยกันนั้นมีพัฒนาการ

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหา นำไปสู่ประเด็นการเมือง พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ต้องมีการพูดคุยในฝ่ายเดียวกันก่อนใน 4 ระดับ คือ หน่วยงานกับเจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าตรงกันอย่างมีเอกภาพ ภาคประชาสังคมกับประชาชนเข้าใจตรงกัน ที่สำคัญคือ ภาคการเมืองและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกัน และสุดท้ายกลุ่มที่จะไปพูดคุยกับขบวนการ ซึ่งตอนนี้เราทำทั้ง 4 ระดับ จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารให้เกิดเอกภาพและเข้าใจตรงกัน

เมื่อถามว่า วันนี้ครบรอบ 53 ปี กลุ่มบีอาร์เอ็น ได้รับรายงานเหตุการณ์หรือประเมินสถานการณ์อย่างไร พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ตั้งแต่เช้ายังไม่มีรายงานสถานการณ์อะไร ยังไม่น่ากังวล แต่เราต้องดูต่อไปให้ครบ 24 ชั่วโมงยังไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น มี่เพียงแต่เหตุการณ์ประทัดยักษ์เท่านั้น ซึ่งในพื้นที่ผู้ควบคุมพื้นที่ก็ทำงานเต็มที่อยู่แล้ว

“วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา เราได้มีการสืบตรงนี้ว่าไม่ควรจะรอจนถึงวันที่ 28 มี.ค.ที่มีการนัดพูดคุย อะไรที่พอทำกันได้เราก็น่าจะทำกันไปก่อน” พล.ท.ภราดรกล่าว

เมื่อถามว่า จากพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วไม่ค่อยมี่เหตุความรุนแรง ถือเป็นสัญญาณความสำเร็จที่สัมพันธ์กันหรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า มีความสำพันธ์กันอยู่ เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์เขาก็สื่อสารมายังเราในเบื้องต้น ว่าหลังจากเราไปลงนามเจตนารมณ์ จริงๆ แล้วน่าจะมี่เหตุการณ์ที่ใหญ่กว่านี้ แต่กลับไม่ปรากฏ ซึ่งทำให้เหตุการณ์ลดลง อย่างไรก็ตามหลังวันที่ 28 มี.ค.นี้ ก็จะมี่การพูดคุยกันไปตลอดหลายระดับที่เป็นลักษณะกลุ่มใหญ่ แต่กลุ่มย่อยก็น่าจะมีการสื่อสารกันตลอดเวลา

อีกด้านหนึ่ง ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เมื่อเวลา 15.30 น. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะของ พล.ท.ภราดรจะเดินทางไปหารือกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่มาเลเซียในวันที่ 28 มี.ค.นี้ว่า ไม่ทราบในรายละเอียด แต่คิดว่าคงเป็นเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายต้องมาคุยกัน การพูดคุยเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วจะได้ออกมาเจอกัน จะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร ถือเป็นสิ่งที่ดี ทุกสมรภูมิ ทุกการรบ ต้องมีการพูดคุยกัน ส่วนกรณีที่ พล.ท.ภราดรระบุว่าผลสุดท้ายของการเจรจาอาจนำไปสู่การตั้งมหานครปัตตานีนั้น เราชอบพูดล่วงหน้ากันไป เพราะยังไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกันเลย ทั้งนี้การพูดคุยจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย นี่คือประเด็นหลัก อย่าไปคิดกันล่วงหน้า ตอนนี้เราไปพูดแทนกันหมด เรื่องนี้มันอยู่ในใจ

เมื่อถามว่า ถ้ากลุ่มบีอาร์เอ็นมีจุดมุ่งหมายในการตั้งมหานครรัฐปัตตานี ทางกองทัพจะรับได้หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า อย่าไปคิด เพราะเขายังไม่ได้ถามมา ขอให้ถามมาก่อนค่อยว่ากันอีกที เมื่อถามย้ำว่ามีคำตอบอยู่ในใจหรือไม่ว่ารับได้หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ก็อยู่ในใจ จะบอกได้อย่างไร ตนไม่รีบร้อนตอบ อย่าไปรีบ เก่งไปหมด พูดกันไปเรื่อย

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ทาง พล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ไทย พร้อมคณะจะเดินทางไปยังมาเลเซีย เพื่อพูดคุยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ พล.ท.ภราดร ได้ลงนามร่วมแสดงเจตจำนงในการริเริ่ มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติ ภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนายฮัดซัน ตอยิบ รองเลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ศูนย์ฝึกตำรวจเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทางมาเลเซียแจ้งทางฝ่ายไทยว่า มีกลุ่มที่ต้องการเข้าร่วมการเจรจา 9 กลุ่ม ประกอบด้วย พูโลเก่า, พูโลใหม่, พูโล 88 (รวม), บีอาร์เอ็น-คองเกรส, บีอาร์เอ็น-โคออดิเนท, บีไอพีพี, จีเอ็มไอพี (ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี), จีเอ็มพี, จียูพี (กลุ่มอูลามาปัตตานี) เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ไม่อยากตกขบวน จึงพยายามติดต่อเข้ามาพูดคุยหลายกลุ่ม เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้ามาเจรจากับไทยถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในพื้นที่ ซึ่งยอมออกมาตามการบีบของมาเลเซียให้พูดคุยกับไทย

แหล่งข่าวระดับด้านความมั่นคงระดับสูงเปิดเผยว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับทางการไทยแล้ว ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นบอกเราว่า สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีการก่อเหตุที่เบาบางลงแล้ว ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า แกนนำที่มาพูดคุยกับเราสามารถควบคุมการปฏิบัติการของกำลังทหารของขบวนการได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำโรดแมปเพื่อนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าต้องใช้เวลา และต้องพูดคุยกับแกนนำซึ่งคุมกำลังทหารของขบวนการ และอาร์เคเค เพื่อหยุดการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ให้เกิดภาพชัดเจน โดยการพูดคุยไม่สามารถทำอย่างเปิดเผยได้ เพราะคนเหล่านั้นมีหมายจับ เช่น ดุลเลาะห์ แวมานอ แกนนำบีอาร์เอ็นคุมฝ่ายทหาร อดีตอุสตาซ ร.ร.ญิฮาดวิทยา ที่หนีหมายจับของประเทศไทยไปตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คณะการพูดคุยของไทยจะไปเจรจาในทางลับ รวมถึงบุคคลสำคัญที่คุมระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย

ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสันติวิธีและธรรมาภิบาล แห่งสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยถึงข่าวที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ใช้งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อจัดทำโรดแมปในการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ทาง สมช.ได้นำผลการศึกษาจากหลายๆ ที่มาศึกษา รวมถึงผลการศึกษาของสถาบันฯ ที่ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับองค์กรนานาชาติที่ชื่อว่า peace building platform เพื่อสรุปบทเรียนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคของโลก ว่าขั้นตอนและรายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นโมเดลหนึ่งในการนำไปสู่ การจัดทำโรดแมปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น