xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” แจงรับไม่ได้ถกนิรโทษฯ เอื้อพวกพ้องล้างผิด ลั่นพันธมิตรฯ ขอใช้สิทธิ์ “ต้านนอกสภา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรฯ โพสต์เฟซบุ๊กแจงไม่ไปร่วมถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กังขาจุดประสงค์หวังล้างผิดคดีอาญา-ทุจริตหรือไม่ หนำซ้ำ ส.ส.เพื่อไทยชิงยื่นร่างกฎหมายฟอกผิด “แกนนำแดง” อ้างไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งการบังหน้า ย้ำชัดต้องการเอื้อพวกพ้องตัวเองล้างผิด สร้างความปรองดองไม่ได้ ลั่นถ้าใช้ “เสียงข้างมาก” ในสภาล้างผิด พันธมิตรฯ ขอใช้สิทธิ์ต่อต้านนอกสภาตามที่เคยประกาศจุดยืน

วันนี้ (11 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ระบุว่า ผมตัดสินใจไม่ไปร่วมการปรึกษาหารือการบรรเทาความขัดแย้ง ตามคำเชิญของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเช้าวันนี้ (11 มีนาคม 2556) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

“ถึงแม้ว่า รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะรีบตอบสนองข้อเสนอในการเชิญคนทุกกลุ่ม และเชิญมากกว่าที่พันธมิตรฯ เสนอไปอีก 3 กลุ่ม คือ ทหาร, พรรคภูมิใจไทย, กลุ่มเสื้อหลากสี แต่ในที่สุดก็เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มที่พันธมิตรฯ เสนอให้เชิญประกาศแล้วว่าจะไม่มาถึง 4 กลุ่ม คือ ประชาธิปัตย์, คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม, องค์การพิทักษ์สยาม และ คอป.

อย่างไรก็ดี กรณีการหารือตามที่พันธมิตรฯ เสนอนั้น ได้ปรากฏเป็นคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ว่าเห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรมแต่ไม่เข้าร่วมด้วยเพราะสนใจแต่ที่จะล้มรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะที่คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ได้ส่งหนังสือถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าให้ดำเนินการตามข้อเสนอของบทความที่คุณนิชาได้เคยเสนอ และทำตามข้อเสนอของ คอป. โดยที่คุณนิชาจะไม่ขอเข้าร่วมประชุมอันเนื่องมาจากบรรยากาศในขณะนี้ยังไม่เหมาะสม ในขณะที่ อ.คณิต ณ นคร ก็จะไม่ขอเข้าร่วมในนาม คอป. เพราะได้จบรายงานทุกอย่างแล้ว หากต้องการทราบจุดยืนให้อ่านจากรายงาน ดังนั้น รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงสามารถทราบจุดยืนของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเข้าร่วมประชุมให้ครบจำนวน และถือว่าได้ข้อเสนอของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว

เช่นเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นจดหมายและแสดงจุดยืนของตัวเองไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2556 ว่า “ไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุดหากมีการตรากฎหมายผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาและคดีทุจริตในทุกกรณี” ยกเว้นความผิดลหุโทษเช่น การฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร (ซึ่งเป็นเฉพาะหัวข้อที่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์) หากจะมีการนิรโทษกรรมดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตาม “เงื่อนไข” ให้ครบจาก “ทุกกลุ่ม” อย่างเป็นเอกฉันท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือถูกกระทำเกิดความเสียหายหรือสูญเสียจากการชุมนุม

แต่เมื่อหัวข้อการประชุมในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดหัวข้ออยู่เฉพาะ “การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” แต่ก้าวไปไกลกว่านั้น โดยใช้คำว่า “การแสวงหาแนวทางบรรเทาความขัดแย้ง” ย่อมแสดงว่ารองประธานสภาผู้แทนราษฎรยังไม่จำกัดขอบเขตตามที่ได้พูดกับผมและตามที่ปรากฏเป็นคำสัมภาษณ์ของนายเจริญ จรรย์โกมลเอง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ว่าจะพิจารณาเฉพาะประเด็น “การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” ยังทำให้ทุกฝ่ายและสังคมมีความหวาดระแวงต่อไปว่าจะมีการออกฎหมายนิรโทษกรรมคดีอาญาร้ายแรงกลุ่มอื่นๆหรือคดีทุจริตต่อไปหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จดหมายที่ผมเสนอต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ได้เขียนข้อเสนอเอาไว้ในข้อ 5 ว่า :

“๕) หากท่านมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองและไม่อยากเห็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนนอกสภา กระผมเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ โดยในระหว่างนี้ก็ควรจะต้องหยุดการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทุกฉบับ ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศการปรึกษาหารือที่ดีโดยปราศจากความหวาดระแวง จึงขอให้ท่านได้แจ้งให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคเพื่อไทยได้ทราบในเรื่องดังกล่าวด้วย”

แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายลงไปในทางตรงกันข้ามยิ่งกว่านั้น เพราะนอกจากจะไม่เห็นแม้กระทั่ง “ท่าที” ว่าจะพิจารณาถอน พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลยังเข้าชื่อ 42 คนเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 อีกด้วย โดยให้นิรโทษกรรมรวมถึงผู้กระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงซึ่งรวมถึงหลายคนที่ขึ้นเวทีปราศรัยหรือสั่งการที่อาจได้รับประโยชน์โดยอ้างว่าตนไม่ใช่ผู้มีอำนาจในการสั่งการ

ย่อมแสดงว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านั้นยังไม่ได้มีความคิดยึดแนวทางการให้อภัยจากผู้ที่ถูกกระทำ แต่ยังมีความต้องการให้กลุ่มและพวกพ้องของตนเองได้รับ “อภิสิทธิ์” ในการที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาร้ายแรงเหนือกว่าประชาชนกลุ่มคนอื่นๆ โดยไม่ฟังเสียงและไม่สนใจว่าจะมีการให้อภัยจากผู้ที่ถูกกระทำหรือไม่และโดยเงื่อนไขใด

การกระทำเช่นนี้ย่อมไม่สามารถสร้างความปรองดองได้อย่างแน่นอน และจะเป็นบาดแผลร้าวลึกให้กับผู้ที่ถูกกระทำทั้งหมด โดยที่ผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงไม่ต้องสำนึกในความผิดไม่ต้องได้รับบทเรียน ย่อมทำให้เกิดความย่ามใจกระทำซ้ำอีกหรือทำยิ่งกว่าเดิมเพราะมีบรรทัดฐานว่า ถ้าเห็นว่าพวกตัวเองจะมีอำนาจในอนาคตก็จะกระทำความผิดทางอาญาร้ายแรงได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อาวุธสงคราม ปล้นลักทรัพย์ เผาสถานที่ราชการและของเอกชน ฯลฯ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้กลุ่มอื่นๆ กระทำในมาตรฐานเดียวกันนี้หรือยิ่งกว่านี้อีกในอนาคตอย่างแน่นอน

การเสนอกฎหมายดังกล่าวย่อมแสดงว่า หนึ่งในกลุ่มผู้เจรจา คือ นปช. ที่มีอำนาจทางการเมืองในฐานะ ส.ส. ยังคงต้องการมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนกลุ่มอื่นที่ได้รับการยกเว้นโทษโดยไม่ต้องพิสูจน์ความจริง และยังต้องการศักดิ์และสิทธิ์เหนือกว่าประชาชนและกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุมด้วย ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ ในการปรึกษาหารือ เพราะการปรึกษาหารือลักษณะแบบนี้ก็เสมือนเป็นการเจรจาโดยเอากระบอกปืนมาจ่อศีรษะคู่เจรจา ซึ่งไม่สามารถจะมีกลุ่มไหนที่จะมาเข้าร่วมปรึกษาหารือในบรรยากาศเช่นนี้ได้ และแสดงให้เห็นว่า กลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทยมิได้มีความจริงใจในการหาทางออกในเรื่องนี้บนการเจรจาจากคนที่มีส่วนได้เสียและผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม และไม่เคารพต่อคู่เจรจาและกระบวนการเจรจาแต่ประการใด

ดังนั้นย่อมแสดงว่า พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.42 คนในฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้เดินตามแนวทางของ นายเจริญ จรรย์โกมล การเจรจาเช่นนี้จึงย่อมไม่สามารถหาทางออกได้ จนกว่ากลุ่ม นปช. และพรรคเพื่อไทยจะเห็นอย่างเป็นเอกภาพในการเลือกเดินตามแนวทางของ คอป.อย่างเคร่งครัดเท่านั้น และการแสดงความบริสุทธิ์ใจที่จะ “เริ่ม” นำไปสู่แนวทางของ คอป. โดยการมีส่วนร่วมและร่วมตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์จากทุกกลุ่มที่มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบและปราศจากความหวาดระแวง และวิธีการที่ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือการแสดงความจริงใจ ด้วยการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองฯ ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผมจึงขอไม่เข้าร่วมปรึกษาหารือในวันนี้ (11 มีนาคม 2556) และหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยังคงเลือกหนทางนี้โดยใข้อำนาจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรต่อไปโดยไม่ฟังเสียงคนกลุ่มอื่น พันธมิตรฯ ก็ขอใช้สิทธิ์ในการคัดค้านและต่อต้าน “นอกสภา” อย่างถึงที่สุดตามที่ได้เคยประกาศจุดยืนมาแล้วต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น