xs
xsm
sm
md
lg

“พันธมิตรฯ” เมินร่วมถกนิรโทษฯ พรุ่งนี้ ซัด “เจริญ-วรชัย” ไม่เคารพกระบวนการเจรจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำพันธมิตรฯ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมหารือพิจารณาแนวทางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมพรุ่งนี้ ชี้เคยแสดงจุดยืนหยุดเสนอกฎหมายนิรโทษฯ แต่ “วรชัย” ชิงนำ 42 ส.ส.เพื่อไทย เสนอกฎหมายประกบ เท่ากับไม่เคารพกระบวนการ ไม่ให้ความหมาย ราวเจรจาบนปากกระบอกปืนจ่อหัว แนะกลับไปคุยพรรคเพื่อไทยให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นความระแวงไม่จบสิ้น

วันนี้ (10 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 มี.ค.) ตนในฐานะตัวแทนพันธมิตรฯ ตัดสินใจจะไม่เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางในการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ตามที่ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญครั้งหลังสุด โดยให้เหตุผลว่า การหารือในครั้งนี้องค์ประชุมจะไม่ครบตามที่แกนนำพันธมิตรฯ ได้ยื่นเงื่อนไข และได้ให้ตนส่งหนังสือไปยังนายเจริญก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ก็จะไม่เข้าร่วมประชุม ดังนั้นก็ชัดเจนแล้วว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ ซึ่งในเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่เข้าร่วมประชุม

ประการต่อมา เหตุใดที่คนเหล่านั้นถึงไม่เข้าร่วมประชุม ก็พอจะเข้าใจได้ ซึ่งตนก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ก็คือกรณีที่เคยแสดงจุดยืนให้ประธานสภาฯ บอกกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าอย่าได้เสนอกฎหมายเกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมหรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภาเพิ่มเติม ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ต้องถอนออกจากที่ประชุมสภาฯ เสียด้วยซ้ำไป แต่ปรากฏว่านายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคนเจรจากับตนในครั้งแรก ก็กลับเข้าสู่กระบวนการยื่นกฎหมายอีกฉบับเข้าสู่สภาเพิ่มเติม การทำอย่างนี้ย่อมเท่ากับว่า นายวรชัย และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวม 42 คน ไม่เคารพศักดิ์และสิทธิของคนที่เจรจา นั่นคือ นายเจริญ ย่อมแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ให้ความหมายกับการเจรจาครั้งนี้ เท่ากับว่าเป็นการเจรจาบนปากกระบอกปืนจ่อหัว ไม่เคารพต่อกระบวนการในการเจรจาครั้งนี้

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความสะเปะสะปะของพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช.สะท้อนให้เห็นว่านายเจริญยังไม่ได้รับฉันทานุมัติจากพรรคเพื่อไทยในการดำเนินการ ทำให้ทิศทางของแต่ละคน ต่างคนต่างเดินหน้า ทำให้ความเชื่อมั่นในการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วมประชุม ทั้งกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม พรรคประชาธิปัตย์ และนางนิชา เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเราก็คงจะไม่เข้าร่วม ถ้าจะทำให้เข้าร่วมได้จริงๆ นายเจริญจะต้องไปคุยกับพรรคเพื่อไทยให้ชัดเจน มากกว่าจะคิดว่านายเจริญมาในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทยได้มากน้อยแค่ไหน อีกอย่างหนึ่งคือสามารถทำให้เกิดความไว้วางใจ ความเชื่อถือในการเคารพศักดิ์และสิทธิ์ของผู้เจรจาได้มากแค่ไหน กับการเจรจาคนในพรรคเพื่อไทยถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในสภา ถ้าทำไม่ได้เชื่อว่าโอกาสที่องค์ประชุมจะครบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะความหวาดระแวงจะดำรงต่อไปไม่จบสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น