ผบ.ทบ.ยันลงนามสันติภาพ “บีอาร์เอ็น” ไม่ยกระดับโจรใต้ ชี้คนลงนามแค่คนส่งสารไปบอกผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่คุยแล้วจบทันที เชื่อใช้เวลาอีกหลายปี ถ้าไม่สำเร็จก็เลิก วอนอย่าตระหนก ลั่นไม่ยอมให้ต่างชาติแทรกแซง พูดอ้อมๆ ทักษิณเอี่ยวล็อบบี้ บอกประเทศชาติต้องมาก่อน ยันถ้าโจรใต้ไม่เลิก ทหารก็ไม่เลิก ชี้รบกันมาเป็นร้อยปี ในพื้นที่มีหลายกลุ่ม ไม่ตอบเห็นด้วยหรือไม่ อ้างมีหลายส่วนตัดสินใจ แต่คนพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเขตปกครองพิเศษ
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 15.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะลงนามร่วมกับแกนนำบีอาร์เอ็น เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวิธีสันติว่า อย่าเพิ่งไปตกใจว่า เราไปพูดคุยกับใคร คนที่ออกมาพูดคุยยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตามรายชื่อที่มาพูดคุยอยู่ในเครือข่าย แต่ตราบใดที่ยังไม่ถูกกล่าวหา หรือมีหมายจับยังถือว่า ไม่มีความผิด แต่เขาเป็นคนรุ่นเก่าที่มีบทบาทในการพูดคุย และหาทางออกร่วมกันในการก่อความรุ่นแรง ขณะนี้เรารู้เพียงงานด้านการข่าวที่ต้องนำคนพวกนี้มาพูดคุย เราไปพูดคุยเองไม่ได้ต้องผ่านกลไกต่างๆ คือ สมช.และประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียจะเป็นตัวกลางประสานงานและคนเหล่านั้นจะทำหน้าที่ส่งข่าวไปยังคนอื่นๆ เพราะคนพวกนั้นไม่ออกมาอยู่แล้ว ถ้าออกมาเขาก็โดนจับ คนที่มาลงนามถือเป็นคนมาอำนวยความสะดวกในการส่งสารไปถึงผู้ก่อเหตุ เขาอายุขนาดนั้นจะมารบกับเราหรือ และเขาไม่ได้มีชื่อในหมายจับ เจ้าหน้าที่ สมช.และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) และหลายหน่วยงานได้ตรวจสอบแล้วตามที่รัฐบาลได้มอบหมายงานนี้ไป โดยมีคณะทำงาน 7-8 คณะทำงาน ซึ่งฝ่ายนโยบายมองว่า ทำแล้วไม่ผิดฎหมาย ไม่ยกระดับ เพราะคนที่ตัดสินใจต้องรับผิดชอบอยู่แล้วย ถ้าดีก็จะยุติในเร็ววันนี้ แต่หลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ไม่สามารถแก้ได้ภายในปีเดียว อาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ทุกคนอยากให้จบภายใน ทางมาเลเซียอยากให้จบเหมิอนกัน ขึ้นอยู่กับผู้ก่อเหตุว่า เขาคาดหวังอะไรอย่างไร สิ่งไหนที่เรารับไม่ได้ เราก็ไม่รับอยู่แล้ว ทุกอย่างค้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำเรื่องนี้ตลอด อะไรที่ฝืนรัฐธรรมนูญคงทำไม่ได้
“ไม่อยากให้ตระหนกตกใจมาก ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังอยู่แล้ว การจะตัดสินใดๆ ต้องผ่านกระบวนการ การเข้าไปสู่กระบวนการพูดคุยเป็นการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ หรือตามยุทธศาสตร์ที่ สมช.กำหนดและเสนอต่อสภาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอยู่ 9 ยุทธศาสตร์ การพูดคุยเป็นยุทธศาสตร์ที่ 8 คือการแสวงหาทางออก คือ หาหนทางพูดคุย เพื่อนำพาออกจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทุกอย่างผ่านขั้นตอนของกฎหมาย รวมถึงกฤษฏีกาตีความแล้วว่า ไม่มีอะไรผิด ขอเรียนว่า ไม่ได้เป็นการล๊อกหรือจำกัดตัวเองทั้งสิ้น การเซ็นสัญญาเหมือนสัญญาทั่วไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี จากนั้นจะนำไปสู่ โร้ดแมป และการพูดคุยต่อไปว่า กรอบอยู่แค่ไหน ข้อตกลงรับได้หรือไม่ ไม่ใช่การต่อรอง เรายืนยันกับมาเลเซีย 3 ประการ คือ ไม่แยกดินแดน ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ให้ใช้พื้นที่มาเลเซียกับผู้ก่อเหตุในการหลบซ่อนตัว โดยทางมาเลเซียอยากช่วยเรา แต่ที่ผ่านมาดำเนินการสู่จุดนี้ไม่ได้ ความจริงเรื่องนี้ทำกันมานานแล้ว แต่ในส่วนความมั่นคงไม่สามารถพูดอะไรได้เพราะเป็นฝ่ายปฏิบัติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่ว่าไปพูดคุยแล้วจะลดระดับการปฏิบัติงานลง หรือลดการใช้กำลังทหาร เรายังคงบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพื่อให้ออกมาพูดคุย ไม่อย่างนั้นคนจะหลบซ่อนอยู่ข้างหลังเรื่อยๆ เราต้องระวังไม่ให้มีการยกระดับไปสู่สากล ซึ่งการลงนามเป็นการแก้ปัญหาระหว่างรัฐบาลเรากับมาเลเซีย ไม่มีประเทศอื่นมาเกี่วข้อง ส่วนของกองทัพภาคที่ 4 ก็ทำอยู่ เช่น การนำคนกลับบ้าน โครงการสันติสุขยั่งยืน ด้วยการใช้กฎหมายมาตรา 21 แต่วันนี้มีการดำเนินการคู่ขนานกันไปในการแสวงหาทางออกร่วมกัน โดยผ่านกลไกที่เป็นบุคคลภายนอก และเป็นกลไกระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้เราจะไม่ยอมให้ผู้ก่อความไม่สงบยกระดับด้วยการดึงองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) หรือองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาเกี่ยวข้อง อะไรที่รับไม่ได้ เราไม่รับ ถ้าไม่อยากคุยก็เลิกคุย เราเป็นเจ้าของการตกลง เราเป็นคนตัดสินใจ เป็นพื้นที่ของเรา ท้ายสุดถ้าไม่สำเร็จก็ยกเลิก อย่ามายื่นโน้นยื่นนี่ อะไรที่เรารับได้ก็แก้ไขให้เขา อะไรที่ไม่ได้ต้องบอกว่า จะหาทางออกอย่างไร แต่ถ้ามีอะไรออกนอกลู่ทาง เราไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ตนไม่ได้อึดอัดอะไรกับการลงนามดังกล่าว เพราะไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ตรงนั้น รัฐบาลก็แจ้งให้ทราบมาตลอดว่าจะมีการพูดคุย
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมีส่วนช่วยในการนำแกนนำบีอาร์เอ็นมาพูดคุยกับทางไทย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ช่วยๆ กันหมด งานแบบนี้ประเทศชาติต้องมาก่อน ไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงถึงใคร ตนทำงานทุกวันนี้ ประเทศชาติต้องมาก่อน ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า แลบะประชาชนคือ ผู้ที่ลำบากเสี่ยงอันตราย อะไรก็ตามที่ทำให้ประชาชนปลอดภัย สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นต้องช่วยกัน ส่วนเรื่องอื่นค่อยไปว่ากัน อย่าเอามาพันกัน เพราะจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้
“สถานการณ์นี้เกี่ยวข้องในหลายมิติ ไทยอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ส่วนมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบรองลงมา สถานการณ์การเมืองตอนนี้ก็สองด้าน เขาก็พยายามลดระดับ อาจเป็นประโยชน์กับฝ่ายมาเลเซียบ้าง ต้องเห็นใจ ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ทำ หรือไม่ช่วยเรา สิ่งสำคัญอีกประการที่ต้องมีการพูดคุยกันตรงนี้เพราะต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เช่นเรื่องกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2400 กว่าๆ ต้องปรับปรุง ต่อไปถ้ารู้ว่า มีคนทำผิดอยู่ฝั่งโน้นก็ต้องส่งตัวกลับมา ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็ยกเลิก ไม่ได้เป็น commitment อะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการยอมรับว่าให้มาคุยกันเถอะ ให้เครดิตเขาหน่อยเท่านั้น ขณะนี้บ้านเมืองวุ่นพอสมควรต้องลดระดับลง อะไรที่เป็นเรื่องความมั่นคงรัฐบาลที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักเป็นคนตัดสินใจ ในส่วนของผู้ปฏิบัติก็เสนอข้อพิจารณาข้อสังเกตไป ท้ายสุดการตัดสินใจเป็นเรื่องของรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุด เมื่อเขาตัดสินใจต้องมีกระบวนการไตร่ตรอง เหมือนเรื่องชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อทำไปแล้วอะไรเกิดขึ้นมาก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เริ่มอะไรเลย และไม่รู้ว่าจะรบกันไปถึงเมื่อไหร่ แต่ไม่ต้องกลัว กองทัพมีความพร้อมอยู่เสมอ แต่ถ้าไม่รบกันดีกว่า
เมื่อถามว่า แม้ไม่ใช่โจรแต่มีการประทับตราขบวนการบีอาร์เอ็นในเอกสารลงนาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น และ พูโล เกิดขึ้นมาเป็น 100 ปี เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะนี้เป็นรุ่นหลาน เป็นสายเลือดกันมา ถ้ารบกันประเทศต่อประเทศจะรู้ว่าใครเป็นหัวหน้า เราได้แต่สอบสวนตามรายชื่อที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ยังหนีอยู่ แต่คนพวกนี้ที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะรู้จัก เพราะเป็นญาติพี่น้อง สืบสายเลือดกันมาสามารถบอกต่อกันได้ให้เลิกก่อเหตุ ส่วนเหตุการณ์จะสงบลงหรือไม่นั้น คิดว่า อย่าไปพูดว่าสงบหรือไม่ เพราะไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จ ไม่ใช่เริ่มพูดแล้วมันจะเลิก ถ้าเขาไม่เลิกเราก็ไม่เลิก ตนสู้อยู่เหมือนเดิม เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาได้สั่งให้กองทัพภาคที่ 4 เพิ่มการเตรียมความพร้อมระวังป้องกันในระดับที่สูงขึ้นทุกพื้นที่ ใครพลาดก็มีเจ็บและตาย เป็นเรื่องปกติเพราะยังไม่ได้เลิก
เมื่อถามว่าหมายความว่าข้างบนก็พูดคุยกัน แต่ข้างล่างก็สู้กันต่อไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คงไม่ได้หมายความเช่นนั้น เมื่อข้างบนพูดคุยกันไม่ได้ในข้อตกลง ข้างล่างก็ต้องทำต่อไป ถือเป็นหลักการแต่ถ้ามีช่องทางการพูดคุยและทางออกก็ต้องมีการต่อรองพูดคุยกันมา ไม่ใช่ว่าพูดคุยกันแล้วเหมือนการถอดปลั๊กแล้วเลิกรบกันเลย เพราะรบกันมาเป็น 100 ปี พรุ่งนี้อาจจะรบกันอีกก็ได้ อย่าไปกังวล ขอให้ความมั่นใจกับกองทัพ อย่าไปให้ความมั่นใจกับคนอื่น ส่วนที่มองว่าบีอาร์เอ็นยังมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่นั้น ตนคิดว่าในพื้นที่มีหลายกลุ่ม แต่ยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องความนิยมและอุดมการณ์ของกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อถามว่า สรุปแล้วเห็นด้วยหรือไม่กับการลงนาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ใช้คำว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยคงไม่ได้ เพราะตนเป็นเจ้าหน้าที่ ถ้าใช้คำว่าไม่เห็นด้วยเท่ากับว่า ตนต้องต่อสู้กับผู้บังคับบัญชาและรัฐบาล ซึ่งทำไม่ได้ เมื่อมีการเสนอขึ้นไปต้องเป็นมติของที่ประชุมหลายฝ่าย ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือ สมช.เป็นผู้ตัดสินใจ แต่มีหลายส่วนที่อยู่ข้างบนตัดสินใจมากมาย ต้องเป็นทั้งรัฐบาลที่เห็นชอบ การทำงานตรงนี้ไม่ใช่การเอาชนะกัน แต่เป็นการทำงานที่ใช้เสียงส่วนใหญ่ วันนี้ต้องทำหลายอย่าง ไม่ใช่ถือปืนรบกันแล้วจะเลิก ถ้าใช้อาวุธอย่างเดียวไม่มีทางเลิกได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้จุดมุ่งหมายของเขา เขาก็ไม่เลิก ซึ่งเราไม่รู้จุดหมายว่าเขาต้องการอะไรเหมือนกัน มีแต่พูดกันว่าต้องการแยกดินแดน ซึ่งมีมาตั้งนานแล้ว ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษต้องไปถามคนในพื้นที่ทั้งหมดว่า ต้องการหรือไม่ ซึ่งเกิน 70% ของผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นที่เป็นคนมุสลิมในพื้นที่ แค่ต้องการให้กระจายอำนาจเดิมที่มีอยู่แล้วให้เหมาะสม ให้ข้าราชการมีความสุจริตดูแลพื้นที่ยกระดับความเป็นอยู่ในชีวิตให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องอื่น เช่นประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ค่อยมาพูดกัน ไม่ใช้รบกันแล้วชนะจะยุติ วันข้างหน้าก็ต้องสู้กันอีก