xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ติดใจถอดสูทหนุนรณรงค์ประหยัดพลังงาน รับ 5 เม.ย.กทม.มีไฟตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายกฯ จ้อรายสัปดาห์ รับพม่าซ่อมท่อก๊าซทำไทยมีปัญหาแค่ช่วงบ่ายวันที่ 5 เมษาฯ ยันมีพลังงานสำรองไว้แล้ว แต่อาจมีไฟตกบ้างใน กทม. หนุนรณรงค์อนุรักษ์พลังงาน ถอดสูททำงานหน้าร้อน เผยหน่วยงานรัฐลดใช้ต่อเนื่อง จ่อหันใช้เอ็นจีวีในรถหลวง พร้อมช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ เล็งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเน้นสถานที่ท่องเที่ยว กระตุ้นนักเที่ยวเข้าไทย ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เด็ก สตรี ถูกทารุณกรรม


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” กล่าวหนุนรณรงค์ประหยัดพลังงาน รับ 5 เม.ย.นี้  


วันนี้ (23 ก.พ.) เมื่อเวลา 08.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีที่บริษัท โทเทิล ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานาของประเทศพม่าจะมีการซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ประมาณวันที่ 4-15 เมษายน จะกระทบต่อการส่งก๊าซมาที่ประเทศไทยอย่างไรว่า ในกำลังการผลิตที่เราได้รับก๊าซธรรมชาติจากพม่า ประมาณ 6,400 เมกะวัตต์/วัน ซึ่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานในประเทศประมาณ 1 ส่วน 4 เดิมทีเขาจะหยุดส่งก๊าซช่วงวันที่ 4-12 เมษายน เราไปมองว่าช่วงวันที่ 4-5 เป็นช่วงที่ใช้พลังงานสูงสุดจากสถิติที่ผ่านมาก็ไปขอขยับวันออกไปเป็นวันที่ 5-14 เมษายน โดยจะมีปัญหาช่วงบ่ายของวันที่ 5 ซึ่งบางส่วนเรามีพลังงานสำรองไว้แล้ว

นายกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 5 เมษายนที่เรามองว่าอาจจะมีผลกระทบสูงสุด เพราะว่าเป็นช่วงที่มีการใช้พลังงานสูงสุด และในบางส่วนเรานำแหล่งพลังงานอี่นๆ เช่น น้ำมันเตามาช่วย แต่ถ้าเรามีการประหยัดพลังงานตั้งแต่ช่วงนี้ก็อาจจะทำให้พลังงานสำรองน่าจะมีเพียงพอในส่วนของวันที่ 5 เมษายน ช่วงวันที่ 5 เมษายนที่เราเป็นห่วงอาจจะมีกระแสไฟฟ้าตกบ้างในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรามองว่าถ้าวันนี้เราช่วยกันรณรงค์ประหยัดพลังงานให้เร็วขึ้น อย่างน้อยเราน่าจะมีพลังงานสำรอง ซึ่งเรามองว่าใน 3 ส่วนใหญ่ๆ ที่เราน่าจะมีการรณรงค์ในการประหยัดพลังงานช่วงนี้เพื่อลดผลกระทบ ในช่วงวันที่ 5 เมษายน ตั้งแต่ส่วนของภาครัฐ ได้มีมติของคณะรัฐมนตรี ว่าขอความร่วมมือไปยังกระทรวงทุกกระทรวง และรัฐวิสาหกิจในการช่วยกันประหยัดพลังงานตั้งแต่เรื่องของการดับไฟ ปิดไฟ หยุดการใช้พลังงาน ประมาณวันละ 1 ชม. หรือร่นเวลาให้สั้นลงและปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ระดับประมาณ 25-26 องศา และมีการรณรงค์ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ขอความร่วมมือทางอุตสาหกรรมว่า ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมไหนจะหยุดการผลิตในช่วงนั้นได้ก็จะทำให้เรามีการลดการใช้พลังงานมากขึ้น และต้องถือโอกาสนี้ในการขอความร่วมมือในการรณรงค์จากพี่น้องประชาชน ในการงดใช้หรือประหยัดในส่วนของไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่บางช่วงไม่มีการใช้งานก็ขอความกรุณาให้ช่วยกันปิดมากๆ เราก็จะมีพลังงานสำรองที่จะทำให้วันที่ 5 เมษายน นั้นไม่มีปัญหาติดขัด เพราะช่วงหลังจากนั้นจะเป็นช่วงวันหยุดอยู่แล้ว จากสถิติในการใช้พลังงานก็จะน้อยลงก็เชื่อว่าถ้าเราช่วยกันดูแลผลกระทบอาจจะมีไม่มากนัก

“ความจริงอยากเห็นการรณรงค์แบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าประเทศไทยเราก็อุณหภูมิร้อน ถ้าเรามีการปรับแบบนี้และเราหาเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายบ้าง ในช่วงฤดูร้อนก็จะทำให้เราสามารถประหยัดพลังงานได้ จริงๆ แล้วกระทรวงพลังงานได้มีการวางแผนอยู่แล้ว ในเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องพึ่งในการซื้อก๊าซธรรมชาติจากหลายๆ ประเทศ เราต้องมองว่าต้องทำอย่างไรในการสำรองก๊าซธรรมชาตินั้นให้เพียงพอกับการใช้ เพราะวันนี้อัตราการใช้ก็สูงขึ้นทุกปี เรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน การหาพลังงานทดแทนต่างๆ ก็เป็นนโยบายที่จริงจังและถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศที่เราต้องร่วมมือกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่ก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ ในการผลิตในแง่ของการหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาเป็นพลังงานสำรองได้มีการพูดคุยกับทางกระทรวงพลังงานด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีแผนอยู่แล้วว่าในแต่ละปี เรามีความต้องการพลังงานอย่างไร ซึ่งวันนี้ทางกระทรวงมีทีมงานที่จะหาแหล่งก๊าซเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วงที่จะมีการงดส่งก๊าซจากพม่าจะมีการนำน้ำมันดีเซล โรงไฟฟ้าเดิมที่จะมีการหยุดซ่อมมาผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าขาดเป็นวงกว้าง เพื่ออย่างน้อยก็กันการใช้พลังงานของพี่น้องประชาชนที่บางส่วนอาจจะต้องใช้ไฟฟ้า อาจจะเป็นอุปสรรคบ้าง ต้องขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ส่วนเรื่องของการทำให้หน่วยงานของภาครัฐเป็นต้นแบบของการประหยัดพลังงานนั้น นายกฯ ระบุว่า มีการผลักดันตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีว่าให้มีการลดการใช้พลังงานลงอย่างน้อย 10% ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำแล้ว หลายหน่วยงานทำได้เกินด้วย ดังนั้นปีนี้เราก็ทำอยู่เชื่อว่าเป็น KPI ภายในของทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องลดลงอย่างน้อย 10% ก็เป็นสิ่งที่เราได้ขอความร่วมมือไป และ 2 คือการปรับอุณหภูมิอยู่ในระดับประมาณ 25-26 องศา และปิดการใช้พลังงานหรือไฟต่างๆ ให้หน่วยงานดูว่าช่วงไหนที่มีการใช้งานน้อยก็ขอให้ปิด หรือบางหน่วยงานอาจจะเปิดแอร์ตอนเช้าไว้ก่อนที่จะมา ขอให้เปิดตอน 08.30 น.ได้หรือไม่ และหลังจากเลิกงานก็อาจจะปิดก่อนเลิกงานสัก 1 ชม. เพราะว่าความเย็นก็ยังอยู่

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ขณะที่ในเรื่องของการใช้รถของหน่วยงานราชการ จะมีการส่งเสริมให้มีการใช้รถที่ประหยัดพลังงานหรือรถ NGV มากขึ้น และเรื่องของการล้างเครื่องปรับอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งเครื่องปรับอากาศที่ไม่ได้ล้างอาจจะใช้พลังงานสูงในการทำงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีหน่วยงานต่างๆ ไปสำรวจในส่วนของราชการด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทางบ้านด้วย อาจจะต้องล้างแอร์เพราะมีฝุ่นเกาะตามท่อแอร์ และในอนาคตคงต้องดูในเรื่องของการใช้โหมดอื่นๆ ระยะยาวรัฐบาลก็พยายามจะรณรงค์ส่งเสริมเรื่องของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หรือการใช้พลังงานทั้งหมดให้อยู่ในลักษณะของการส่งเสริมการใช้พลังงานที่เรียกว่าประหยัด และมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้คงจะเป็นนโยบายที่เราคงต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจังในปีนี้ ทั้งนี้จะมีการซ้อมใหญ่ของกระทรวงพลังงานในเดือนมีนาคมนี้เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ให้รอบคอบ

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเข้าไปดูแลคนพิการ ในสังคมไทยว่าเป็นอีกหนึ่งในนโยบาย ในด้านของยุทธศาสตร์ประเทศที่เราต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งมีหลายส่วนที่เรายังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เช่น เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งแนวทางทั้งหมด เราอยากเห็นการรณรงค์ในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างแรกคือ ผู้พิการ ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงพลังงานได้มีกฎกระทรวงในการที่จะให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้พิการ เราไม่ได้มองแค่ผู้พิการ ประเทศไทยเราเผชิญกับปัญหาเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเราก็ต้องเตรียมตัวและอยากให้ทุกหน่วยงานนั้นมีการดำเนินการตามกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด และนำกฎกระทรวงต่างๆ แนวทางต่างๆ นั้นไปปฏิบัติใช้ ส่วนแรกที่เราได้มีการประชุมหารือนั้นคือสิ่งอำนวยความสะดวก การที่ผู้พิการเอง หรือผู้สูงอายุเวลาเดินทางไปไหนมาไหน ถ้าไม่มีเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกก็จะทำให้มาทำงานยาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ที่เราฟังข้อมูลจากผู้พิการหลายๆ ท่านบอกว่าการมาทำงานจากบ้านมีความลำบากอยู่แล้ว และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถเมล์ไม่สามารถที่จะขึ้นรถเมล์ได้ ต้องขึ้นรถแท็กซี่ค่าใช้จ่ายก็จะสูง ไม่สามารถที่จะเดินทาง ฟุตปาธที่ไม่สามารถให้รถเข็นขึ้นลงได้ ไม่มีทางตรงนี้ สิ่งที่เรามองว่าเราคงจะร่วมกันทำและหลายครั้ง เราไม่อยากให้สังคมมองว่าผู้พิการหรือผู้สูงอายุเป็นภาระ เราอยากจะเห็นแนวทางที่เราจะพูดร่วมกันว่า เราควรจะเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง และเพื่อสังคมของเราทุกคน สังคมของเราทุกคนนั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วย

นายกรัฐมนตรีระบุอีกว่า สตรีมีครรภ์อาจจะต้องการความสะดวกตรงนี้เช่นกัน ผู้สูงอายุก็เดินลำบากเวลาขึ้นลงบันได อาจจะมีทางลาดให้ แล้วก็รถเข็น อย่างนี้เป็นต้น เราก็มองว่านี่เป็นสังคมของทุกคนในการอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นเราอยากเห็นความร่วมมือของทุกกระทรวง ก็ได้มีการประชุมรณรงค์ร่วมกับภาคเอกชน จริงๆ แล้ววันนี้หลายบริษัทก็ได้ดูแล มีการให้อาชีพหรือสิ่งอำนวยความสะดวกกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุอยู่แล้ว ก็ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ แต่เราก็อยากเห็นการรณรงค์มากขึ้น ก็จะมีการประชุมของทั้ง 17 หน่วย ที่จะมาร่วมกันในการที่จะเปลี่ยนจากกฎระเบียบต่างๆ ให้มีการปฏิบัติโดยเร็ว ที่แรกทำเนียบรัฐบาลก็คงมีการปรับสำหรับของทางขึ้น ลง เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถที่จะขึ้น ลง สะดวก เพราะบางครั้งเราก็มีแขกมาเยี่ยมเยียนด้วย

ในส่วนของกฎระเบียบต่างๆ นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ล่าสุดมีการปรับกฎระเบียบเรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ วันนี้ขั้นตอนต่อไปก็คือว่า จากการปรับระเบียบนี้ก็ต้องเอาระเบียบนี้ไปในแนวทางสู่การขับเคลื่อนไปสู่ในทางปฏิบัติ ก็เลยมองว่าหน่วยราชการเช่นกันที่จะต้องเป็นจุดเริ่มต้น โดยเฉพาะสถานที่ราชการที่ประชาชนเข้ามาติดต่อราชการ ไม่ว่าจะเป็นศาลากลางจังหวัดต่างๆ เราก็อยากจะขอความร่วมมือตรงนี้ และก็ต้องทำความเข้าใจกันเพิ่มเติมว่าการที่เราปรับสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น บางครั้งไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะว่าเมื่อวานก็การประชุมกับทางด้านของสมาคมคนพิการ ท่านก็เห็นว่ามันมีอุปกรณ์บางชิ้นที่มีเทคโนโลยีที่ไม่สูงเลย สามารถที่จะช่วยเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกได้ ก็คงไม่ได้มองว่าต้องไปปรับอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยมีทิศทางให้ อย่างเช่นที่จอดรถใกล้กับทางขึ้นลงบ้าง ตรงนี้ก็จะทำให้ทุกท่านเหล่านี้มีความสะดวกขึ้น

ส่วนกรณีที่ข่าวสารยังไม่เอื้อต่อคนพิการในรับรู้ข้อมูล นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ข่าวสารบางอย่าง อย่างเช่น อักษรเบรลของคนหูนวก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราก็ต้องหาวิธีการในการที่จะสร้างเทคโนโลยีหรือสื่อที่จะสามารถติดต่อสื่อสารรับรู้ข่าวสารได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่เรายังไม่ได้เข้าไปบูรณาการอีกครั้ง ซึ่งในอนาคตแผนการดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุนี้ต้องร่วมมือกับทุกกระทรวงในการดำเนินการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เราได้คุยกับสมาคมคนพิการ แล้วก็มีสถาปนิกในการปรับดีไซน์ เขาเรียกว่าเป็น ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ (Universal Design) หรืออารยะสถาปัตย์ ในการที่ออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับคนใช้ แต่สุดท้ายแล้วแบบนี้ก็จะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน เราก็มองว่าเราอยากเห็นประเทศเรานั้นเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาตรงนี้ วันนี้เรามีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก ซึ่งเราต้องคิดต้องวางแผน เราก็อยากเห็นว่าแบบต่างๆ เวลาที่เราจะสร้างของใหม่ เราน่าจะมีการปรับให้รองรับผู้พิการ ผู้สูงอายุนี้ด้วยในอนาคต ส่วนแบบเก่าๆ เราก็ต้องไปดูว่าที่ไหนบ้าง เป็นอย่างไร ซึ่งในอนาคตเราก็คงต้องการสำรวจ แล้วก็หาทางในการ ค่อยๆ ปรับปรุงกันไป แม้กระทั่งการทำงาน เพราะว่าบางที่ผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ก็สามารถที่จะทำงานได้ แต่เขาอาจจะไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ เราจะปรับวิถีชีวิตนี้ได้ไหม เป็นงานในลักษณะของการสอนหนังสือ หรือจ้างงานที่บ้านเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราก็อยากบูรณาการเพื่อที่จะเสริมต่อยอดตรงนี้ออกไป

“จะดีตรงที่ถ้าเราไปยึดในสถานที่นักท่องเที่ยว ให้ความสะดวกกับนักท่องเที่ยว เพราะบางครั้งจะเห็นว่านักท่องเที่ยวก็มีผู้สูงอายุมาเที่ยวเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าเราทำให้สถานที่ท่องเที่ยวนี้มีความสะดวกสบาย ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้สูงอายุด้วย มีทางสำหรับรถเข็น สามารถขึ้นลงสะดวก ซึ่งตรงนี้จะให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีความสะดวกสบาย เราเองคิดว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วก็เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย เพราะว่าหลายๆ ประเทศ นักท่องเที่ยวจะเป็นสูงอายุเป็นจำนวนมาก จริงๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อาจจะอยู่นานด้วย เพราะว่าบางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาค่อยๆ เดินทางไป จึงต้องใช้เวลานาน ส่วนใหญ่ก็จะมีเวลาในการท่องเที่ยว อันนี้ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ด้วยในระยะยาว” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีระบุว่า ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สรีระอาจจะไม่เท่าเทียมกับสุภาพบุรุษ อย่างเช่น เด็ก สตรี คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ทหารผ่านศึก ท่านเหล่านี้ในสังคมมีปัญหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งอาจจะถูกกดขี่ข่มเหง รังแก ทารุณ หรือการใช้แรงงานเด็กที่เรามีการพูดถึง ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายๆ หน่วยงานในการช่วยเหลือดูแล เราก็อยากจะเห็นการบูรณาการ เพราะว่าจะเห็นว่าเรามีเครือข่าย มีมูลนิธิต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือ หรือกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์พึ่งได้ แต่เรายังไม่มีระบบส่งต่อ เราก็เลยมองว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เราจึงอยากเห็นการบูรณการนี้เป็นศูนย์รวมเหมือนๆ กัน ไม่ว่ามีปัญหาที่ไหน เข้าระบบที่ไหน ก็จะมีระบบการส่งต่อ แล้วก็ดูแลผู้คนเหล่านี้ให้ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมาย อย่างเช่น กรณี เด็กที่เป็นข่าวในหลายๆ เคส อย่างเช่นถูกนายจ้างรังแก สามารถมาแจ้งความ เจ้าหน้าตำรวจก็รับแจ้งความ จากนั้น ไม่มีผู้ดูแลเด็กต่อ สิ่งที่เราอยากทำคือ จากการแจ้งความเสร็จแล้วก็ส่งไปรักษาที่กระทรวงสาธารณสุข เกิดรักษาแล้วเด็กไม่มีพ่อ แม่ ไม่มีใครดูก็ต้องกลับมาเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒสังและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะต้องดูแลเด็ก ให้การศึกษา หรือฝึกอาชีพ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นระบบการส่งต่อในการดูกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรียกว่าเป็นศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส One Stop service มากกว่า แล้วก็อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเหมือนหน้าด่านในการรับเรื่อง แล้วก็อาจจะมีเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์เดียว สำหรับที่จะให้ทุกเรื่องราวมาแจ้งความได้ อย่างน้อยถ้าเราเริ่มจัดทำสถิติ เก็บข้อมูลในรายพื้นที่ เราก็จะสามารถไปแก้ไขในรายพื้นที่ได้ดีขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าเป็นการปรับเป็นระบบบูรณการให้เกิดความเป็น One Stop service ทั้งนี้ตรงนี้เราก็จะขอความร่วมมือจากสมาคม ประชาชนและภาคเอกชนด้วย เห็นตรงนี้แล้วเราอยากเห็นสังคมไทยรักกัน เรามีความเมตตาช่วยเหลือกัน เราก็อยากเห็นมีการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตรงนี้ก็ถือว่าภาครัฐเป็นผู้ที่คอยบูรณการรับต่อจากจุดต่างๆ เพราะว่าหลายท่าน อาจจะมองว่ารับเรื่องแล้ว ส่งไป แล้วใครจะรับผิดชอบต่อ เราก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ให้ หรือว่าให้เด็กที่ไม่มีพ่อ แม่ เราก็จะดูแลเรื่องการเรียนการสอนต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น