xs
xsm
sm
md
lg

วงเสนาวุฒิฯ ค้านนิรโทษกรรมคดีอาญา ติงฉบับ คอ.นธ.ไร้ประโยชน์ “สุดา” จี้ปล่อยแดงติดคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสวนานิรโทษกรรมทำไมเพื่อใคร “นิชา” ค้านปล่อยผีพวกเผา-ทำร้ายทหาร ชี้ทำลายอำนาจตุลาการชัด “ปานเทพ” ย้ำไม่รวมพวกติดคดีอาญา บอกถ้าจะขออภัยต้องสำนึกก่อน หวั่นทำผิดไม่รับผิดทำสังคมมีอภิสิทธิชน “คำนูณ” หนุนทำ พ.ร.บ. 2 ฉบับ “สุดา” โวย คอป.ไม่ชัดเหมือนฉบับแดง อ้างก๊วนถูกซ้อม ยันสาวกไม่มีอาวุธ สับ “มาร์ค” ใช้ พ.ร.ก.ทั้งที่ไม่วิกฤต จี้คืนความเป็นธรรมคนคุก “บรรเจิด” ติงฉบับ คอ.นธ.ไม่เกิดประโยชน์ “ชำนิ” จวกเหมาเข่งทำไม่ได้ แนะรัฐมาคุมเอง


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "เสวนานิรโทษกรรมทำไมเพื่อใคร"  

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง วุฒิสภา จัดการเสวนาในหัวข้อ “นิรโทษกรรม ทำไม เพื่อใคร” โดยมีผู้แทนจากฝ่ายการเมืองต่างๆ เข้าร่วมเสวนา เช่น นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ฐานะนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, น.ส.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง เพื่อเป็นการเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ปัญหาและแนวทางคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง

โดยนางนิชาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่มีการเสนอ เพราะนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมด้วยความเต็มใจ ทั้งที่มีความผิดทางอาญาอื่น เช่น มีการพกพาอาวุธ มีการเผาสถานที่ราชการ ทำร้ายทหาร ซึ่งดูเหมือนจะนิรโทษกรรมเพื่อคนกลุ่มหนึ่งและดูจะใจแคบกับทหารที่ไปทำตามหน้าที่ ดังนั้นเห็นว่าหากออกกฎหมายลักษณะนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไป แต่ในทางกลับกันจะยิ่งเป็นการทำลายอำนาจตุลาการ เท่ากับว่าคดีต่างๆ ที่มีการดำเนินการจะต้องยุติลงทันที และต่อไปจะมีการทำผิดแล้วอ้างว่ามาด้วยการเมืองเพื่อจะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดการจลาจล และเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าออกมาปฏิบัติหน้าที่ เพราะกลัวความผิด แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ดังนั้น อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าไม่ควรเร่งทำ เพราะผลการสำรวจของโพลที่ออกมาก็บอกว่าอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาของแพง ค่าครองชีพประชาชนสูง ไม่มีโพลไหนที่บอกว่าอยากให้รัฐบาลเร่งนิรโทษกรรม ฉะนั้นควรรอไปอีกระยะ แล้วหาคนกลางที่ประชาชนยอมรับได้และรวบรวมแนวทางของแต่ละฝ่าย หาทางเลือกที่ประชาชนยอมรับมาคุยกัน และย้ำว่าควรนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้ฝ่าฝืนคดีอาญาร้ายแรง บนพื้นฐานของการยอมรับผิด และมีเป้าหมายว่าจะไม่กลับมาทำผิดอีก

นางนิชายังกล่าวว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งทำตอนนี้ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวบอกว่ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องหรือไม่

ด้านนายปานเทพกล่าวว่า จุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯ คือ ไม่เห็นด้วยต่อการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดในคดีอาญา คดีจากการทุจริตคอร์รัปชัน และหากพันธมิตรฯ กระทำความผิดเองก็ต้องน้อมรับคำตัดสิน ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ เห็นด้วยและจะเดินตามแนวทางของ คอป. ที่ระบุว่าผู้ที่กระทำความผิดจำต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย หากคิดว่ากระบวนการยุติธรรมผิดพลาดก็ต้องต่อสู้ในกรอบ แต่หากคิดว่าทำความผิดจริงแต่ต้องการขออภัย ต้องสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำเสียก่อน และต้องให้ผู้ที่ถูกกระทำเป็นคนที่อภัยให้ เพราะตนเห็นว่าคนที่กระทำผิดเพื่ออุดมการณ์ของตัวเองก็ต้องยอมเสียสละบ้างเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ

นายปานเทพกล่าวต่อว่า หากผู้ที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับความผิดนั้น สถานการณ์ทางการเมืองจะน่าเป็นห่วง เหตุการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากสังคมมีอภิสิทธิชน สถานการณ์ที่ผ่านมากลับวนการยุติธรรมของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของฝ่ายรัฐ และถ้าเราไม่สามารถไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมได้ เราจะเดินหน้ากันแบบใด

“เราต้องขจัดเผด็จการให้หมดไปจากประเทศ การจะมาต่อสู้เพื่อไม่ให้มีเผด็จการทางทหาร แต่เรายังต้องอยู่กับเผด็จการการเลือกตั้ง ประเทศก็จะไม่มีทางสงบได้ ถ้าเราสามารถทำได้ความปรองดองจะเกิดขึ้น และการปฏิรูปประเทศก็จะมีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายปานเทพกล่าว

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การตั้งคำถามว่านิรโทษกรรมเพื่ออะไร เราก็มักจะได้คำตอบว่าเพื่อทำให้ประเทศเกิดความปรองดอง ลดความขัดแย้ง แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่า เมื่อเราจะเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อใด ความสงบสุขในประเทศที่มีอยู่น้อยนิดก็จะหายไปทันที นั่นเพราะว่าแต่ละฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าเป็นการนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้เดินหน้าไปถึงรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง การนิรโทษกรรมจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

นายคำนูณกล่าวต่อว่า การนิรโทษกรรมในความเห็นของตนจะต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ฉบับ โดยที่รัฐบาลจะต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่พระราชกำหนด เพราะการออกเป็นพระราชกำหนดจะมีผลทางกฎหมายทันทีโดยที่ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้เลยหากเมื่อรัฐสภาพิจารณาให้พระราชกำหนดดังกล่าวตกไป ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมต้องทำให้กลุ่มมวลชนผู้บริสุทธิ์ในการเข้าชุมนุมก่อนเท่านั้น โดยไม่เอากลุ่มมวลชนเข้ารวมกับทางกลุ่มแกนนำ เพราะเหมือนเป็นการใช้มวลชนเป็นตัวประกันให้แกนนำหรือคนที่อยู่สูงกว่าแกนนำไร้ความผิด

ขณะที่นางสุดากล่าวว่า ที่จริงสังคมไทยไม่จำเป็นต้องพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเลยหากไม่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 โดยขณะนี้เรากำลังต้องการเดินหน้าออกจากวิกฤตทางการเมือง และหากพบช่องทางไหนที่จะทำให้มีสิทธิ เสรีภาพ และสันติภาพ ก็จะทำ ซึ่งกระบวนการแรกคือต้องหาข้อเท็จจริงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น บางท่านอาจยึดถือข้อมูลจากรายงานจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ถามว่าความจริงจากรายงานฉบับดังกล่าวนั้นครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่ายังต่างจากรายงานศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) อันเกิดจากการรวมกลุ่มกันของนักวิชาการ รวบรวมข้อมูลหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ด้วยเงินส่วนตัว และการรับบริจาค ซึ่งเป็นข้อมูลที่หลายคนยังไม่ได้รับทราบ โดยเฉพาะในบทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องการจับกุมดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ที่กล่าวถึงการจับกุมนักโทษการเมืองทั้งสิ้น 1,857 คน ต่อมาถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,763 คน คิดเป็นจำนวนคดี 1,381 คน ในศาล 59 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

นางสุดากล่าวต่อว่า ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดถูกกระทำในลักษณะซ้ำๆ กัน นั่นคือการถูกเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจ และทหาร บุกจับกุมอย่างอุกอาจ อย่างไม่ต้องมีหมายจับ มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาอย่างชัดเจน ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งที่ประชาชนเสื้อแดงที่ออกไปร่วมชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธนั้น ดำเนินไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ทั้งนี้ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่สถานการณ์ยังไม่ได้ไปสู่ขั้นวิกฤต แต่เมื่อมีการประกาศใช้แล้วทำให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับการคุ้มครอง ทำหน้าที่โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ นำไปสู่การปราบปราม และจับกุมอย่างทารุณ อีกทั้งยังไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการใช้หลักทรัพย์สูงถึง 2 ล้านบาท ทั้งที่หากเป็นคนทั่วไปใช้หลักทรัพย์เพียง 1 หมื่น 1 แสนบาท แต่ที่ไม่ได้สิทธิประกันตัวเพราะว่าผู้ต้องหาเป็นคนเสื้อแดงใช่หรือไม่

“เวลาผ่านมาแล้ว 3 ปี ถามว่ามันเป็นการเร่งรัดที่จะช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองหรือไม่ และก็เชื่อว่านักโทษการเมืองที่ติดคุกโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวก็มีความทุกข์ทรมานไม่น้อยไปกว่าญาติของผู้เสียชีวิตจาการสลายการชุมนุม เราไม่ได้มาเรียกร้องการนิรโทษกรรม แต่มาเรียกร้องความเป็นธรรม ให้เริ่มต้นคืนความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนอย่างน้อย 1,857 คนก่อน เพื่อเป็นก้าวแรกของการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมไทย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม ให้กับประชาชน ดิฉันเชื่อว่าความเป็นธรรมผ่านกฎหมายที่เรียกว่านิรโทษกรรม และล้างมลทิน เป็นเพียงคำทางกฎหมาย จะทำให้สังคมไทยได้ประโยชน์ หาก ส.ว. ส.ส.และสังคมหันหน้าเดินไปสู่ทิศทางเดียวกันคือการคืนความยุติธรมให้ประชาชน โดยที่ไม่ต้องให้กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้านั้น ซึ่งไม่เพียงเป็นแค่ความอยุติธรรม แต่ยังกลายเป็นความตายที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาในเรือนจำที่เกิดขึ้นทุกวัน เราจึงต้องมาหพึ่งสภาแห่งนี้เพื่อขอช่วยคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน แม้ว่า ส.ว.บางท่านอาจจะมาจากการแต่งตั้ง ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน แต่เราก็ต้องร่วมมือกันเพื่อฝ่าวิกฤต และวังวนอันเกิดจากรัฐประหารที่ผ่านมาแล้ว 6 ปีนี้ไป” นางสุดากล่าว

ด้านนายบรรเจิดกล่าวว่า การนิรโทษกรรมต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนจะมีประโยชน์ของปัจเจกด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ในเนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่นำเสนอ โดยเฉพาะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ คอ.นธ. ตนมีข้อสังเกตโดยเปรียบเทียบกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ชุมนุมทางการเมืองครั้งที่ประชาชนเป็นคู่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาได้แก่ วันที่ 14 ตุลาคม 2516, วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พบว่าสิ่งที่สำคัญ คือ ช่วงเวลา ดังนั้นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ คอ.นธ.ที่ให้ห้วงเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ 19 ก.ย. 49 - 10 พ.ค. 54 ถือว่ายาวนาน และเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นมีความซับซ้อน ยุ่งยาก อีกทั้งเป็นการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองที่เสียประโยชน์และเสียอำนาจในรัฐบาล และมีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

นายบรรเจิดกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ระบุว่าใครบ้างจะได้รับการนิรโทษกรรมฉบับของ คอ.นธ. เชื่อว่าจะนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้เกิดการตีความ เพราะช่วงเวลา 5 ปี ใครเป็นผู้ใช้ เป็นผู้กระทำ แล้วการกระทำดที่จะไดรับรับการนิรโทษกรรม สำหรับรูปแบบการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรม ในรูปแบบพระราชกำหนด เชื่อว่าไม่เข้าเงื่อนไขของการออก พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184

“รูปแบบการออกกฎหมายนิรโทษกรรมขณะนี้ ผมมองว่าออกเป็นพระราชบัญญัติมีความเหมาะสม เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณะ รวม ส.ส. ส.ว.พิจารณาถกเถียงกันอย่างรอบคอบ สอดคล้อง ในชั้นของการอภิปรายได้ ทั้งนี้ในแนวทางการนำไปสู่การนิรโทษกรรม ผมสนับสนุนแนวทางที่ คอป. ทำไมและระบุเป็น 4 ขึ้นตอน คือ ทราบรากเหง้าของปัญหา เพื่อทราบถึงความสูญเสียทางสังคมที่เกิดขึ้น และเอาความสูญเสียมาสรุปเป็นบทสรุป 2. ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน สอดคล้องกับสภาพการณ์ กฎหมายอาญาที่เอาผิดต่ออาชญากรรมทั่วไป แต่เหตุการณ์ไม่ใช่ทั่วไป แต่มีมูลเหตุขัดแย้งทางการเมืองเป็นพื้นฐานแต่ต้องนำไปสู่การจำแนก จะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ วิธีความอาญาแข็งทื่อไม่ตอบสนองความซับซ้อน 3.ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถ้าเราเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่มีหน่วยงานได้ศึกษา เช่น คอป. ดีเอสไอ กระบวนการทางศาล มาสรุปเชื่อว่าจะได้ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่กระบวนการแยกแยะ จำแนก กลุ่มบุคคลใด้ เช่น เราเห็นตรงกันว่าการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นระดับที่สังคมยอมรับว่านิรโทษกรรมได้ แต่การนิรโทษกรรมสำหรับกลุ่มอื่น ต้องใช้ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้จากการค้นหาความจริงของ คอป. ดีเอสไอ อัยการ และศาลต้องมาพิจารณา

นายบรรเจิดกล่าวต่อว่า การที่นิรโทษกรรมส่วนอื่น ต้องจำแนก แค่ไหน เพียงใด เพราะร่าง คอ.นธ. เกิดการตีความนิรโทษกรรมทั้งหมด ไม่ตอบสนองประโยชน์สาธารณะ แบบนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ เพราะผู้อยู่ในกระบวนกาว่าสิ่งที่ไปดำเนินการเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นำไปสู่ข้อสรุปของสังคมแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคมไทยไม่ก่อการเรียนรู้การสูญเสียที่ผ่านมา ถ้าสังคมไทยกลับมาตั้งต้น ยอมรับว่า คอป.ตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่วันนี้ คอป.จบแล้ว คอป.ยุติบทบาทหากสังคมไทยกลับมา จำแนก สรุปได้ว่า ผู้ได้รับผลกระทบ ฝ่าฝืนพรก. ที่ตรวจสอบระดับหนึ่งออกไป 1 ฉบับเป็นแนวทางสังคมยอมรับได้ ส่วนที่มากกว่านั้น คอป. เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากที่สุด สุดท้ายปลายทางอยู่ที่ปรองดอง นิรโทษ ต้องรับใช้ประโยชน์สาธารณะ และจำแนกตัวผู้กระทำ นำไปสู่ประโยชน์สาธารณะโดยสมบูรณ์ นำมาสู่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้

ด้านนายชำนิกล่าวว่า มีความพยายามเสนอเงื่อนไขใหม่เพื่อสร้างปรองดอง ตนยอมรับข้อเสนอของ คอป.ที่ต้องค้นหาความจริง ต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยา และการนิรโทษกรรม ตนในฐานะอดีต กมธ.ปรองดอง สภาฯ มองว่าเหตุที่นิรโทษกรรมขณะนี้ทำไม่ได้ เพราะเป็นการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ทั้งนี้ จากประวัติศาสตร์การออกกฎหมายนิรโทษกรรม 20 ฉบับที่ผ่านมา เป็นการทำเพื่อยุติขัดแย้งโดยใช้หลักนิติธรรม

“ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เสนอคาไว้ในสภา พวกผมก็บอกให้ถอนออกไป แล้วแก้ไขใหม่ โดยไม่ให้มีเงื่อนไข และสร้างประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่ก็ไม่ทำ อย่างร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ คอ.นธ.ที่เตรียมเสนอเข้าสภา เมื่อนำเข้ามาพิจารณา เชื่อว่าจะเกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านแน่ๆ และกลายเป็นความขัดแย้งในสภาอีกรอบ เพราะฉบับของ คอ.นธ.นั้น เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ที่สำคัญการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ควรยุติการที่ให้ผู้รับงานเป็นผู้เสนอ ที่ผ่านมา เกิดการขัดแย้งเผชิญหน้า เพราะรัฐบาลแกล้งทำวางเฉยไม่เกี่ยวข้องให้ผู้รับงานเสนอกฎหมาย ทั้งที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่อง ดังนั้นขณะนี้รัฐบาลควรมาเป็นเจ้าของเรื่อง” นายชำนิกล่าว

นายชำนิกล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ คอ.นธ. ถือเป็นการจับมวลชนเป็นตัวประกัน คนที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการนิรโทษกรรม เอาความผิดอย่างอื่นพ่วงไว้ คนที่ทำผิดหากประเภทนี้ไม่ได้ ทุกคนไม่ได้ ส่วนแกนนำขอให้เลิกอวด เลิกแอกต์ว่าฉันไม่เอาก็ได้ ให้มวลชนไปเถอะ เพราะนั่นจะกลายเป็นปัญหา ดังนั้นร่างนิรโทษกรรมฉบับนี้ควรกลับไปปรับปรุง













กำลังโหลดความคิดเห็น