xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์ 5 สำนักโพลดัง “จูดี้” แซง “ชายหมู” นิดหน่อย ลุ้นพลังเงียบชี้ขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีสานโพลเคาะตัวเลข 5 สำนักโพล ชี้หาก “สุขุมพันธุ์” โชคดีสุดๆ มีโอกาสได้คะแนนสูงสุดที่ 34.7% มีโอกาสชนะ 36.5% ส่วน “พงศพัศ” หากโชคร้ายสุดๆ มีโอกาสได้คะแนนต่ำสุดที่ 29.3% มีโอกาสชนะคือ 63.5% แต่ยังไม่ถึง 90% ทางสถิติถือว่าคะแนนทิ้งกันไม่ขาด ตัวแปรยังอยู่ที่กลุ่มที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

วันนี้ (22 ก.พ.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยบทวิเคราะห์เรื่อง “ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แพ้ชนะขาดลอยกันหรือยัง : สืบจากโพล” ซึ่งบทวิเคราะห์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ และวิเคราะห์หาโอกาสหรือความน่าจะเป็นของผู้ที่จะชนะเลือกตั้ง โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนปัจจัยเดี่ยว (Single Factor Analysis of Variance) โดยใช้ผลสำรวจ 17 ครั้งจาก 5 สำนักโพลที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 มกราคม ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อทำการเปรียบจะเห็นได้ว่าคะแนนระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะแตกต่างกันไปตามวันที่สำรวจ และสำนักโพล ซึ่งทำให้ผู้รับสื่อเกิดความสับสนว่าจะเชื่อโพลไหนดี ถึงแม้โพลจะไม่สามารถทำนายผลได้ถูก 100% เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นโดยปกติ แต่ก็ฉายให้เห็นภาพได้อย่างคร่าวๆ ว่า พล.ต.อ.พงศพัศมีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยเฉลี่ยที่ 33.8% ต่อ 29.2%

สำหรับความคลาดเคลื่อนในการทำนายผลมักจะเกิดจาก 4 สาเหตุหลัก คือ 1) ความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดจำนวนตัวอย่าง 2) ความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่างที่ไม่สะท้อนหรือไม่กระจายตามสัดส่วนตามลักษณะโครงสร้างของประชากร 3) การตั้งคำถามของผู้สำรวจที่ไม่สามารถดึงคำตอบที่แท้จริงออกมาได้และการตอบคำถามของผู้ถูกสำรวจที่คลาดเคลื่อน และ 4) การบันทึกข้อมูลและการประมวลผลที่ไม่ถูกต้อง

หากทุกสำนักโพลสามารถกำจัดความคลาดเคลื่อนจากสาเหตุต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการกำหนดขนาดตัวอย่าง โดยเฉพาะเมื่อนำผลสำรวจของแต่ละสำนักมาเฉลี่ยก็เปรียบเหมือนได้มีการสุ่มตัวอย่างได้กระจายและครอบคลุมมากขึ้นจากการเก็บตัวอย่างตั้งแต่ 1,157-4,393 ชุด จำนวน 17 ครั้ง ซึ่งจะพบว่า ในการทำนาย ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 99.99% จะมีการเกิดความคลาดเคลื่อนได้ตั้งแต่ 2.9%-5.7% หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 4.5% ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โชคดีสุดๆ ก็มีโอกาสได้คะแนนสูงสุดที่ 34.7% (29.2%+4.5%) และหาก พล.ต.อ.พงศพัศโชคร้ายสุดๆ ก็มีโอกาสได้คะแนนต่ำสุดที่ 29.3% (33.8% ลบ 4.5%) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า พล.ต.อ.พงศพัศยังนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่ขาด

ดังนั้น เราจะทำการหาโอกาสแพ้ชนะของทั้งคู่ จากการประมวลผลคะแนนเฉลี่ยของแต่ละสำนัก โดย Single Factor Analysis of Variance พบว่า โอกาสหรือความเชื่อมั่นที่ พล.ต.อ.พงศพัศจะชนะ คือ 63.5% หรือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีโอกาสชนะเพียง 36.5% ซึ่งในทางสถิติหากโอกาสชนะยังไม่ถึง 90% ยังถือว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังแพ้ชนะกันไม่ขาดลอย ยังประมาทไม่ได้ ดังนั้นผู้สมัครคู่แข่งยังสามารถงัดกลยุทธ์ทีเด็ดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเพื่อแซงในโค้งสุดท้ายได้อีก และตัวแปรที่สำคัญในการชี้ชะตาศึกเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือกลุ่มที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือกลุ่มที่ยังเลอยู่

หมายเหตุ : นอกเหนือจากการนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตาราง แสดงผลสำรวจของแต่ละสำนัก ค่าคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่าง ณ ระดับความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99.99% และโอกาสชนะของผู้สมัคร


กำลังโหลดความคิดเห็น