รองนายกฯ แก้เกี้ยวหลัง “มหาเธร์” เมินช่วยแก้ไฟใต้ อ้างขอคุยแค่เรื่องพัฒนาพื้นที่ โบ้ย “ราจิบ” นายกฯ มาเลย์แนะให้ไปจับเข่าคุย ส่วนตัวไม่รู้จัก ย้ำไม่เคยคิดลดระดับประกาศใช้กฎหมาย แค่ใช้ช่องมาตรา 21 ให้กลับใจมอบตัว ป้อง “วาดะห์” เหมาะช่วยแก้ปัญหา การันตี “นัจมุดดิน” ไม่เกี่ยวสุมไฟในพื้นที่ ถกกันนัดแรก 1 มี.ค.นี้ ขณะที่ “แกนนำวาดะห์” ระบุไม่หวังคืนอำนาจ
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ปฏิเสธการเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยว่า ในความเป็นจริงนั้นตนไม่ได้เป็นผู้ขอเข้าพบ ดร.มหาเธร์ แต่ทางนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นผู้แนะนำว่าควรไปพูดคุยการพัฒนาพื้นที่ชายแดนมาเลเซียกับภาคใต้ของไทยให้ตนไปพบ ดร.มหาเธร์ และที่ประสานขอเข้าพบไว้นั้นก็ไม่ได้จะเชิญให้มาเป็นตัวกลาง แต่ต้องการหารือในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เท่านั้น ดังนั้นการออกมาปฏิเสธของ ดร.มหาเธร์ ก็ไม่ได้ทำให้ตนเสียหน้าแต่อย่างใด
“ผมไม่มีแนวคิดไปพบ ดร.มหาเธร์ เพราะไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ท่านนายกฯ ราจิบแนะนำ ก็ติดต่อผ่านผู้ว่าฯ สตูล และก็ไม่เคยไปบอกว่าให้มาเป็นผู้เจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ พรรคประชาธิปัตย์นำไปพูดเอง” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมอธิบายต่อด้วยว่า มีความเข้าใจผิดในเรื่องการบังคับใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.มั่นคงฯ) ว่าตนมีความพยายามเปลี่ยนพื้นที่การประกาศใช้กฎหมายจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งที่ตนหมายความเพียงว่า จะให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดได้มาพบกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 เพื่อประสานกับนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเข้ากระบวนการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ปลดหมายจับเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อมาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง ตรงนั้นเป็นแนวคิดของ สมช.ที่มองว่ามีพื้นที่ไหนที่สถานการณ์เบาลงบ้าง แต่ตนมองว่าเสียเวลาและเสียของ เพราะเอามาสู่กระบวนการถอนหมายจับจะง่ายกว่า ส่วนพื้นที่ที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้จะไม่มีมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ก็สามารถทำต่อเนื่องได้ด้วยการให้ผู้ต้องหามามอบตัวในพื้นที่ที่มี พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย เรามีนโยบายปรับทุกข์ผูกมิตร ภาคใต้หากใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดจะแก้ไขไม่ได้ ต้องใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์จึงจะจบ
“ผมไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนพื้นที่จาก พ.ร.ก.มาเป็น พ.ร.บ. เพราะเห็นว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อน แต่ต้องการใช้มาตรา 21 ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหามามอบตัวต่อ กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อเข้าสู่กระบวนการยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ผมจะเป็นผู้ประสานกับอัยการเพื่อให้ปลดหมายจับ ส่วนการเปลี่ยนพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.มาเป็นการใช้ พ.ร.บ.นั้นเป็นเรื่องของทหาร ไม่ใช่หน้าที่ผม” ร.ต.อ.เฉลิมระบุ
รองนายกฯ กล่าวย้ำว่า การพูดคุยกับผู้ที่ถูกกล่าวหานั้น ไม่ใช่การเจรจา แต่ต้องใช้ช่องทางกฎหมาย พูดคุยหารือ เพราะการเจรจากับโจรผู้ร้ายนั้นทำไม่ได้จะไปหาข้อสรุปกันอย่างไร เพราะญาติของผู้เสียชีวิตก็ต้องไม่ยอม ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าการประกาศใช้มาตรม 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นแนวทางที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางไว้ ตนก็ไม่ปฏิเสธ แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ดำเนินการ
เมื่อถามว่าจะต้องปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้ผู้ต้องหามามอบตัวมากขึ้น รองนายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้เขาเริ่มมั่นใจแล้ว หลังจากตนตั้งกลุ่มวาดะห์ 9 คนขึ้นมา
ถามต่อว่า มั่นใจได้อย่างไรว่ากลุ่มวาดะห์จะให้คำปรึกษากับรัฐบาลเต็มร้อย รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนตัวคนกลุ่มนสี้รักกับตน สิ่งที่เขาเสนอมาต้องพิจารณาร่วมกัน เขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ต้องเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ เป็นคนมีความรู้ความสามารถ อย่ารังเกียจกัน งานนี้รังเกียจกันแก้ไขไม่ได้ ต้องเปิดใจกว้าง ทั้ง 9 คนนี้ตรงเป๊ะ ทั้งนี้หากมีข้อเสนอใดในการประชุมที่ตนเห็นด้วย จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สมช. และวันหนึ่งอาจให้กลุ่มวาดะห์เข้าร่วมประชุมกับทางฝ่ายความมั่นคงด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่นายนัจมุดดิน อูมา แกนนำกลุ่มวาดะห์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา ร.ต.อ.เฉลิมเคยถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบ จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า คนที่คิดเช่นนั้นใจคับแคบ เพราะศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว แสดงว่านายนัจมุดดินไม่มีความผิด จึงไม่ควรไปตีตราบาปเช่นนั้น ซึ่งใครจะมาตั้งข้อสังเกตก็เป็นสิทธิ์ แต่การตัดสินใจอยู่ที่ตนว่าอะไรจะนำไปสู่ทางที่ดี รวมไปถึงการที่มากล่าวหาว่าตั้งกลุ่มวาดะห์ก็เป็นการพูดของพวกไม่มีงานทำ พวกฝ่ายค้านถาวร มองอย่างไรเป็นเกมการเมือง ทั้งนี้ตนได้นัดประชุมร่วมกับกลุ่มวาดะห์ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เวลา 13.00 น.
“ผมเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่เพราะนายกฯ มอบหมาย ก็ต้องตัดสินใจ มองอย่างไรเป็นเกมการเมือง อิจฉาเพราะคิดไม่เป็น พอผมคิดเป็นก็แอบรองไห้ใต้โต๊ะ ถามว่าใครจะรู้ดีกว่าคนพื้นที่ แล้วที่มาหาว่าเฉลิมไม่ลงพื้นที่ อยากบอกว่าอยู่ปักษ์ใต้ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่ที่ลอนดอน” รองนายกฯ กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมยังได้กล่าวถึงการไปเป็นประธานเปิดการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่ จ.ชลบุรี เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาด้วยว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยตนได้เน้นย้ำถึงความเป็นห่วงในเรื่องยาเสพติดและอาชญากรรม
ด้านนายนัดมุดิน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ในฐานะที่ปรึกษา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการงานด้านการข่าวและการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ร.ต.อ.เฉลิมเรียกประชุมในวันที่ 1 มี.ค.เวลา 13.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยทางกลุ่มจะให้ข้อมูลทางด้านการเมืองเป็นหลัก เพราะทุกคนที่เป็นที่ปรึกษาเติบโตมาในพื้นที่น่าจะข้อมูลได้ดีแก่ทางรัฐบาล และเพื่อเป็นการเปิดทางให้มีการพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่างในทุกระดับ ซึ่งจะมีการพูดกันทั้งในทางลับและเปิดเผย และเสริมข้อมูลที่จะมีการพูดคุยในส่วนของงานความมั่นคงรัฐบาล ส่วนที่มีการมองว่ามีนักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่นในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาว่าไม่สงบนั้น ต้องตีประเด็นนี้ให้แตก นักการเมืองระดับชาติที่อยู่ในพื้นที่ยอมต้องไปรู้จักคนในพื้นที่ หรือเป็นญาติ ถือเป็นเรื่องธรรมดา
“อย่างเรื่องในอดีตของผมก็เป็นเรื่องของการใส่ร้าย เป็นแค่ข้อกล่าวหา และกลุ่มวาดะห์ไม่ได้ต้องการกลับมามีอำนาจอะไร เพียงแต่เห็นว่าน่าจะให้ข้อมูลช่วยเหลือทางรัฐได้ แต่ความไม่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองจึงทำให้ช่วยงานรัฐบาลได้ลำบาก” นายนัจมุดดินระบุ