โฆษก ปชป.เรียกร้องนายกฯ แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับหนังสือเดินทางอดีตนายกฯ ทักษิณ หลังผู้ตรวจฯ ทำหนังสือให้ชี้แจงใน 30 วัน แต่กลับโยนเรื่องให้ กต.ชี้แจงแทน เตือน “อ้ายปึ้ง” อย่าตีมึน ส่วนเรื่องไฟใต้ร้องขอแนวทางชัดเจน หลังที่ประชุมย้อนกลับรองนายกฯ เฉลิมไม่ประกาศเคอร์ฟิว ส่อไร้เอกภาพ
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ให้แสดงความชัดเจน จากกรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีการคืนพาสปอร์ตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกลับโยนเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงแทน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ใช่โยนกลับไปให้กระทรวงการต่างประเทศ แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการก็ควรพูดให้ชัดเจน และควรปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการบริหารราชการ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน
ส่วนกรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ พยายามจะไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจ ว่าตนเคยได้อธิบายชัดเจนแล้วว่าการเพิกถอนหนังสือเดินทางใช้ข้อ 23 (7) แต่การออกหนังสือเดินทางต้องใช้ระเบียบข้อ 21 (1) ถึง (4) โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่ายที่จะไม่ได้รับการออกหนังสือเดินทาง เพราะเป็นผู้ที่ศาลไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งนายกฯ ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ภาระของตนเอง ควรตัดสินใจในฐานะนายกฯ หากจะไม่ทำก็ควรบอกว่าจะไม่ทำ เราจะได้ตัดสินใจดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยนำประเด็นความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้มาเป็นเรื่องการเมือง ที่พรรคทักท้วงรัฐบาล เพราะต้องการเห็นการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้ อีกทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เคยออกมาพูดชัดเจนว่าไม่อยากรับผิดชอบงานพื้นที่ภาคใต้ แต่เลี่ยงไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้รองนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดว่าจะประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมมีมติไม่ประกาศใช้เคอร์ฟิว ซึ่งแสดงถึงความไม่มีเอกภาพในการบริหารงาน ดังนั้นนายกรัฐมนตรี ควรชัดเจนในแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้
ทั้งนี้ จากกรณีผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิตทั้ง 16 ศพนั้น สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ 3 ประเด็น คือ 1. ผู้เสียชีวิต 4 ศพ เคยอยู่ในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ด้านลบกับเจ้าหน้าที่มาก่อน จึงควรศึกษาถึงรากฐานของปัญหาและเหตุจูงใจในการก่อเหตุ เพื่อหาแนวทางแก้ไข 2. จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ได้รับทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบ จึงควรหาแนวทางสร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เท่าเทียบกับคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งรัฐบาลควรเข้าไปดูแลโดยตรง และ 3. รัฐบาลควรเปิดเวทีเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางออกของปัญหา