แม่ทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ประสานเสียงยืนยัน “กรงปินัง” ยะลา และ “ยะหริ่ง” ปัตตานี ไม่ใช่พื้นที่รุนแรงตามที่ “เฉลิม” เสนอประกาศเคอร์ฟิว นานๆ ถึงมีเหตุเกิดขึ้น และคดีฆ่าพ่อค้าผลไม้-ลูกจ้าง 4 ศพไม่แน่ชัดก่อความไม่สงบหรือเรื่องส่วนตัว เผยพร้อมทำตามหากรัฐบาลสั่งลงมา แต่หวั่นประชาชนกรีดยาง-ละหมาดกระทบแน่
วันนี้ (7 ก.พ.) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) สนับสนุนให้มีการประกาศเคอร์ฟิวในบางพื้นที่ที่มีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่สั่งลงมาเราก็พร้อมปฎิบัติตาม ทั้งนี้ เราคงไม่ต้องรวบรวมข้อมูลถึงผลดีผลเสียในการประกาศเคอร์ฟิวเสนอต่อที่ประชุม ศปก.กปต.ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เพราะทุกคนรู้ข้อมูลหมดแล้วขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยังไม่ได้สั่งการหรือให้นโยบายต่อกรณีดังกล่าว ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่ามีแนวโน้มจะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่เสี่ยง เช่น อ.กรงปินัง จ.ยะลา, อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานีนั้น ตนยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสถานการณ์อะไร เพราะสงบเรียบร้อยมาไม่รู้กี่ปีแล้ว นานๆ จึงจะมีเหตุ 1-2 ครั้ง และเหตุที่เกิดขึ้นกรณีที่คนร้ายจับพ่อค้ารับซื้อผลไม้และลูกจ้าง 4 คนมัดมือไพล่หลังและยิงนั้นก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเป็นการก่อความไม่สงบของผู้ก่อความไม่สงบ หรือเป็นความแค้นส่วนตัว
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4) กล่าวว่า การประกาศเคอร์ฟิวต้องดูให้รอบด้านและทาง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าไม่จำเป็นต้องประกาศ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการหารือกันในที่ประชุม ศปก.กปต.ก่อนที่จะมีการประกาศอยู่แล้ว เพื่อศึกษาข้อมูล ซึ่งถือเป็นข้อห่วงใยของผู้บังคับบัญชา และความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เราก็พร้อมทำตาม
“อ.กรงปินัง กับ อ.ยะหริ่ง ไม่ใช่พื้นที่ก่อเหตุที่มีความรุนแรงแต่อย่างใด หากไม่นับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา อีกทั้งจากสถิติในรอบเดือนและรอบปีพบว่า 2 อำเภอนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นความห่วงใยของรองนายกฯ แต่ทุกอย่างต้องรอดูผลการประชุม ศปก.กปต.ในวันที่ 15 ก.พ.ว่าจะมีข้อยุติอย่างไร รวมถึงมีผลดีผลเสีย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะประกาศขึ้นมา ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันทั้งหมด ต้องศึกษาและดูวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยว่า เมื่อประกาศแล้วจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร เช่น หากประกาศเคอร์ฟิวเฉพาะช่วงกลางคืน ชาวบ้านที่ทำอาชีพกรีดยาง ละหมาด ต้องได้รับผลกระทบแน่” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าว