“เป็ดเหลิม” รับคุยเลขาฯ สมช.แก้ปัญหาครู จชต.ถูกฆ่า แต่เก็บความลับ พร้อมถก ศอ.บต.ต่อ รับหนักใจ ยังมีหน้าคุยไปมาเลย์ดีขึ้นแน่ เล็งถกส่ง ตชด.ช่วยครูสอน เผยข้อเสนอเพิ่มเบี้ยเลี้ยงครูมาไม่ถึง เตรียมส่ง ตร.6,000 อัตรา และประสานผู้ว่าฯ ส่ง จนท.ท้องถิ่นดูแล เล็งให้จับอาวุธหนักป้องกันตัว มั่นใจ ปชช.ยังไว้ใจ รบ.ไม่อ่อนแอ
วันนี้ (24 ม.ค.) ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างอุกอาจจากผู้ก่อความไม่สงบว่า ผู้ที่เสียชีวิตเป็นชาวไทยมุสลิมและบุคคลที่น่าเชื่อถือในพื้นที่ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะต้องปรับแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ใหม่ โดยตนได้พูดคุยกับเลขาธิการ สมช.แล้ว ซึ่งจะมีการปรับอย่างไรนั้นจะต้องมีการหารือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
เมื่อถามว่ามีช่องว่างอย่างไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากจนมีครูเสียชีวิตเป็นรายที่ 158 แล้ว ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนเพิ่งมารับหน้าที่ได้ 2 เดือน ยอมรับรู้สึกหนักใจที่มารับหน้าที่นี้ ขอยืนยันว่าการแก้ปัญหานี้แก้จากในประเทศไม่สำเร็จ ต้องแก้จากต่างประเทศเข้ามา จากการที่ตนไปเยือนมาเลเซียได้มีการลงลึกในรายละเอียดแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ คาดว่าน่าจะดีขึ้น แต่จะให้แก้ได้เร็วคงเป็นได้ยาก
เมื่อถามว่าการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา แล้วในสถานการณ์เฉพาะหน้าจะทำอย่างไรให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนมีแนวคิดที่จะย้อนกลับไปใช้วิธีการในอดีตที่ใช้ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นครูเพราะพกอาวุธได้ไปไหนมาไหนมีความพร้อมเพราะกรณีที่ใช้ครูในการสอนหนังสือก็ต้องมีคนดูแลแต่ก็ยังไม่ปลอดภัย แต่ทั้งหมดนี้จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมหารือกับ ศปก.กปต.เพื่อหามติที่ชัดเจนโดยเฉพาะความเห็นจากกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ของตนหรือไม่ ซึ่งหากยังปล่อยไว้จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ทั้งนี้ การปรับแผนนี้จะไม่กระทบกับครูที่ปฎิบัติหน้าที่เนื่องจากครู ตชด.เก่าๆ ปัจจุบันยังรับราชการอยู่และมีเงินเดือนอยู่แล้ว การเข้ามาเป็นเพียงการไปช่วยงานครูเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองทัพ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะเห็นด้วยหรือไม่
เมื่อถามถึงความสูญเสียที่ยังเกิดขึ้นรายวันจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ในเร็วๆนี้ ตนจะต้องขอหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเบื้องต้น สมช.เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่เสนอว่าให้ไปแบบลับๆ ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องนี้ต้องไปแบบเปิดเผย
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ในส่วนของครูได้มีข้อเสนอหลายอย่างมายังภาครัฐ ทั้งกรณีการเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย และการดูแลขวัญกำลังใจ รัฐบาลได้ทำตามคำเรียกร้องนี้อย่างไรบ้าง ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้เนื่องจากเพิ่งเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งตนเห็นว่าถ้าเกิดมีการฆ่ากันไม่จบ ไม่ว่าจะเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่ควรเพิ่ม แต่ควรเพิ่มความปลอดภัยจะดีกว่า
เมื่อถามว่าในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนจะดูแลให้ครูในพื้นที่มีความปลอดภัยอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนจะเน้นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม จากรายงานพบว่าแต่ละจังหวัดเป็นพื้นที่อันตราย 15-20% เท่านั้น ซึ่งจุดเสี่ยงก็ต้องเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันจะประสานผู้ว่าให้ใช้กำลังท้องถิ่นเข้าไปช่วยในพื้นที่มากขึ้น โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการชี้จุดเสี่ยง พร้อมทั้งจะมีการติดอาวุธให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจะให้นายอำเภอพิจารณาหลักเกณฑ์ให้ข้าราชการท้องถิ่นสามารถครอบครองอาวุธหนักได้ โดยดูความเหมาะสมแต่ละกรณี ทั้งนี้ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย ไม่ต้องเพิ่มงบประมาณและไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังจะมีการเพิ่มกำลังตำรวจอีก 6,000 อัตรา โดยเป็นกำลังในพื้นที่ที่รับเข้ามาใหม่ ซึ่งจะฝึกเสร็จและออกมาปฏิบัติหน้าที่ในเร็วๆ นี้ คาดว่าการเพิ่มกำลังในส่วนนี้จะช่วยอุดช่องว่าในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งไม่การลดอำนาจทหารแต่เป็นการช่วยเหลือกัน
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลักษณะนี้ไม่ได้แสดงว่าอำนาจรัฐอ่อนแอกว่าผู้ก่อความไม่สงบแต่อย่างใด โดยประชาชนยังสามารถยังวางใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้