xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เขมรถก RBC ชื่นมื่น เน้นแก้ปัญหาชายแดนแบบสันติวิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (แฟ้มภาพ)
แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อม ผบ.ภูมิภาคทหารที่ 5 เขมร ถก RBC ชื่นมื่น เน้นแก้ปัญหาชายแดนร่วมกันอย่างสันติ เตรียมเปิดจุดผ่านแดนเพิ่ม “พล.อ.บุน เซง” ของกัมพูชา ระบุสองฝ่ายต้องอดทน ใช้การเจรจา ไม่แก้ปัญหาด้วยการรบ รับมีเจ้าหน้าที่ช่วยลักลอบสินค้าผิดกฎหมายข้ามแดน


ที่หอประชุมกองทัพภาคที่ 1 วันนี้ (15 ก.พ.) พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.อ.บุน เซง ผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 5 เป็นประธานร่วมในพิธีปิดการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ครั้งที่ 21 โดยในการประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าจากการประชุมครั้งก่อน และหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงประสานความร่วมมือด้านความมั่นคง ใน 3 เรื่อง คือ มาตรการในการป้องกันการเกิดข้อพิพาท มาตรการในการแก้ไขข้อพิพาท และการส่งเสริมสันติภาพอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ พล.ท.ไพบูลย์ แถลงผลการประชุมว่า เป็นการนำผลจากการประชุมอาร์บีซีครั้งที่ 20 มาสรุปว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง และสิ่งใดที่เป็นปัญหา เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขต่อเหตุการณ์ หรือการพัฒนากฎ ระเบียบของแต่ละประเทศที่ปรับขึ้นมา โดยการประชุมได้มีการนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไข อาทิ ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าไปทำนาในพื้นที่หลักเขตแดนที่ 43 ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จะ.สระแก้ว ปัญหาลักลอบนำข้าวจากกัมพูชา หลังจากรัฐบาลไทยประกาศโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และสินค้าการเกษตร ส่วนประเด็นใหม่ที่มีการหารือ คือ การเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพื่อให้ภูมิภาคเกิดความสันติสุข ซึ่งวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการด้วยวิธีสันติ

แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ความเป็นเขตแดนจะลดน้อยลงไป เพราะต้องเป็นพรมแดนเปิด ซึ่งการไหลผ่านของเศรษฐกิจ การลงทุน และแรงงานต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความผกผันต่องานด้านความมั่นคง จึงต้องเตรียมการเรื่องคน และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ถ้าเข้มงวดมากไปจะเกิดความไม่สะดวกจึงต้องกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อขจัดปัญหาภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นการประชุมตามกรอบของ อาร์บีซี เท่านั้น ต้องรอกฎ ข้อบังคับ ระเบียบจากรัฐบาลอีกครั้ง แต่การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรอปี 2558

ส่วนการป้องกันการหลบหนีเข้าเขตแดนไทยของแรงงานชาวกัมพูชานั้น ปัจจุบันเราได้ตั้งจุดตรวจ และ ลาดตระเวนร่วมกัน แต่ปัญหา คือ การกำหนดเขตการเข้ามา ซึ่งแรงงานที่ลักลอบเข้ามาโดยไม่ผ่านจุดผ่านแดนไม่ได้มีจำนวนมากถึง 100% แต่ที่จับกุมได้มาก คือ ส่วนที่ผ่านจุดตรวจผ่านแดนอย่างถูกกฎหมาย และ แจ้งว่าจะเข้ามาที่ตัวจังหวัดสระแก้ว แต่คนเหล่านี้จะหลุดเข้ามาในประเทศ และไม่ข้ามผ่านแดนกลับไป ทั้งนี้พรมแดนของกองทัพภาคที่ 1 เป็นพื้นที่ราบมีความยาว 160 กิโลเมตรจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสกัดกั้นได้ดี”แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว

สำหรับปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดที่ จ.สระแก้ว มีจำนวนไม่มากนัก โดยเราได้มีการตรวจจับ และพยายามทำให้เกิดความเข้มแข็งโดยการสร้างหมู่บ้านคู่ขนาน เมื่อประชาชนเข้มแข็งจะไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด โดยผู้บัญชาการทหารทั้ง 2 ประเทศ ได้เพิ่มเครื่องมือในการตรวจจับ โดยมีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีครอบคลุมตามจุดต่างๆ เพื่อทดแทนระบบเจ้าหน้าที่ ส่วนการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติมนั้น ปัจจุบันรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ดำเนินการสำรวจ และมีช่องทางเปิดเป็นด่านถาวร เพื่อขจัดปัญหาของด่านผ่านแดนที่มีเพียงแห่งเดียว แต่ทั้งหมดอยู่ที่ข้อตกลงว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลในการดำเนินการ

ด้าน พล.อ.บุน เซง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความพอใจ เกี่ยวกับผลการปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้มีการยกปัญหามาหารือ โดยเฉพาะปัญหาความร่วมมือทางพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ระดับ อำเภอ จังหวัดและกองทัพเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างให้ประชาชนตามแนวชายแดนมีความอยู่ดีกินดี มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ส่วนปัญหาอื่นๆ นั้น ปัญหาต่างๆ ระหว่างกองทัพภาคที่1 กับ ภูมิภาคทหารที่ 5 ของกัมพูชาได้แก้ไขปัญหาร่วมกันมาตลอด แต่ยังมีปัญหาบางอย่างที่จะต้องเสนอไปยังภาครัฐบาล จึงสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ โดยปฏิบัติตามเอ็มโอยู 43 ซึ่งผลการประชุมวันนี้จะนำไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ

“เราจะมีการดำเนินการร่วมกันทั้งสองฝ่าย ประเด็นที่ 1 คือ สองฝ่ายมีความอดทน เข้าใจซึ่งกันและกัน ห้ามใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะไม่ใช้อาวุธอย่างเด็ดขาด และจะต้องมีการเจรจาอย่างสันติวิธี โดยเฉพาะกองกำลังที่อยู่ตามแนวชายแดน หากมีปัญหาต้องพูดคุยกันตามลำดับชั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป สำหรับการแก้ไขในระดับคณะกรรมการอาร์บีซี มีกองเลขานุการทั้งสองฝ่ายที่พร้อมหารือกันประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน และพบกันในพื้นที่ ปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามแนวชายแดน และ เกิดความผาสุกของประชาชนตามแนวชายแดนทั้งสองประเทศ และปฏิบัติตามกลไกของผลการประชุมอาร์บีซีทุกครั้ง หากอาร์บีซีไม่สามารถแก้ไขได้ก็ให้รัฐบาลสองฝ่ายดำเนินการเพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ”

พล.อ.บุน เซง กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่มีการลับลอบนำข้าวกัมพูชาเข้ามาสวมสิทธิ์ในไทยนั้น ทางจ.สระแก้ว และ จ.บันเตียเมียนเจย ได้มีการหารือร่วมกันหลายครั้งว่า สินค้าใดที่สามารถนำเข้ามาได้ และสินค้าลักษณะใดบ้างที่ไม่สามารถนำเข้ามาได้เพราะผิดกฎหมาย ที่ผ่านมายังมีปัญหาหลายอย่าง โดยคนไทยกับกัมพูชามีการคบคิดกันเพื่อนำสินค้าเหล่านั้นออกมา รวมทั้งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามแนวชายแดนอาจจะมีส่วนรู้เห็นจนทำให้สินค้าบางอย่างลักลอบเข้ามาได้ แต่จากสถิติพบว่า จำนวนข้าวที่ลักลอบเข้ามาไทยในปีนี้น้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ถ้าสองฝ่ายมีมาตรการแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกันเพื่อสกัดกั้นขบวนการดังกล่าวให้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวัน ที่ 19 ก.พ.นี้ คณะนายทหารระดับสูงกองทัพบก (ทบ.) จะเดินทางไปตรวจความพร้อมรบที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะหน่วยรบที่ได้มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเสริมศักยภาพของหน่วยรบต่อการป้องกันประเทศ เช่น กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน.1 รอ.) กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน.2 รอ.) ได้แก่ รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จากประเทศยูเครน จำนวน 101 คัน

กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 102 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ (ป.2 พัน.102 รอ.) , กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 2 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ (ป.2 พัน.2 รอ.) ได้แก่ ปืนใหญ่กลาง กระสุนวิถีโค้ง M198 จากสหรัฐอเมริกา จำนวน 54 กระบอก รวมถึงการตรวจสภาพรถถัง M48 A5 อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดได้ถูกเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่ด้านหน้าหน่วยต่างๆ เพื่อรอการตรวจสภาพความพร้อมรบ ซึ่งการเดินทางไปตรวจความพร้อมรบครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้มีการตรวจความพร้อมรบในทุกเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น